30พ.ค.2550 ยุบพรรคไทยรักไทย ทำลายพรรคการเมืองประชาชน

วันนี้เมื่อ 14 ปีที่แล้ว คือวันประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ที่ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คมช. สั่งให้ #ยุบพรรคไทยรักไทย
.
พรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากกว่า 14 ล้านคน
และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า 18,993,073 เสียง
.
#ณวันนั้น ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าเป็นต้นไป รายการโทรทัศน์แทบทุกช่อง วิทยุภูมิภาคทั้งหมด 53 คลื่น พร้อมใจโละผังรายการปกติแล้วให้เวลากับการถ่ายทอดสดและรายการพิเศษ ‘จับตาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรคการเมือง’
.
โรงเรียนดัง 11 แห่งที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญและถนนราชดำเนิน ประกาศปิดโรงเรียนหยุดการเรียนการสอน , มีคำสั่งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมกับมีคำสั่งจากผู้มีอำนาจให้ตัดสัญญาณโทรศัพท์ในบริเวณนั้น ช่วงที่ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดี ถึงขั้นที่ฝ่ายรัฐบาล โดยโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ออกประกาศเตือนให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารอย่างมีสติพร้อมรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากคำตัดสิน
.
นี่คือวันประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
.
บริบทของสถานการณ์ในวันนั้น ตุลาการรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยตัดสินชะตา 5 พรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องมาจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ประกอบด้วย 3 พรรคเล็ก (ประชาธิปไตยก้าวหน้า, พัฒนาชาติไทย แผ่นดินไทย) และ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ ‘พรรคไทยรักไทย’ และ ‘พรรคประชาธิปัตย์’
.
โฟกัสหลักของสังคมในวันนั้นอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่ โดย “พรรคไทยรักไทย’ ถูกกล่าวหาจ้างวานให้พรรคการเมืองอื่นลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาคะแนนเสียงไม่ถึง 20% ขณะที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ถูกกล่าวหาจ้างวานไม่ให้ผู้อื่นลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหวังให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
.
ช่วง 3 เดือนก่อนหน้ากำหนดวันอ่านคำวินิจฉัย สื่อมวลชนและนักวิชาการต่างออกมาวิเคราะห์แนวโน้มของคำวินิจฉัย โดยหลายเสียงมองไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคไทยรักไทย ซึ่งเพิ่งถูก คมช.รัฐประหารล้มรัฐบาลที่นำโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร มาไม่นาน มีโอกาสสูงที่จะถูกสั่งให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค
.
นัยว่าเป็นการ ‘ล้างบางกระดานการเมืองไทยรักไทย’ และเป็นบทสุดท้าย ‘อวสานระบอบทักษิณ’
.
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายต้องจับตา เพราะเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่จะชี้ให้เห็นแนวโน้มการเมืองในอนาคต หลายมิติ อาทิ …
.
#หนึ่ง – นี่คือการตัดสินชะตา 2 พรรคเมืองใหญ่ โดยพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชนขณะนั้นมีสมาชิกพรรคมากกว่า 14 ล้านคน โดยในการเลือกตั้งปี 2548 ที่นำไปสู่การจัดตั้ง ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 18,993,073 เสียง ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในสภา 377 ที่นั่ง เกิน 70% ในสภา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่แม้จะได้รับความนิยมจากประชาชนลดลงในช่วงนั้น แต่ก็มีสมาชิกพรรคเกินสิบล้านคน
.
#สอง – คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยคดียุบพรรคดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 35 ที่มีที่มาจากคณะรัฐประหาร คมช. เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนในขณะนั้นจับตาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคดียุบพรรคไทยรักไทย ที่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่คณะรัฐประหาร คมช. จะต้องกำจัดให้สิ้นซาก
.
#สาม – การยุบพรรคการเมืองไม่ได้หมายความเพียงแค่การยุติกิจการทางการเมืองของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่จะมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกสั่งให้ยุบ เป็นเวลา 5 ปีด้วย ซึ่งพรรคไทยรักไทยมีคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ชื่นชอบชื่นชมของประชาชน อีกทั้งยังมีนักการเมืองอาวุโสและคนรุ่นใหม่ รวมกันอยู่มากถึง 111 คน ซึ่งจะเท่ากับว่าทั้งหมดนี้จะไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้อีกเป็นเวลา 5 ปี
.
13.30 น. ของวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยาว 89 หน้า สั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยด้วยข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ถอนสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีมติ 9 ต่อ 0 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
.
หลังคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การยุบพรรคไทยรักไทยพร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ น่าจะเป็น “อวสานระบอบทักษิณ” และการเมืองไทยหลังจากวันนั้นจะไร้ซึ่งชื่อของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร”
.
แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ระยะเวลาผ่านมา 14 ปีเต็มแล้ว แต่ประชาชนกลับไม่เคยลืมว่าพวกเขาเคยได้มีชีวิต มีสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ผ่านการนำของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาบริหารประเทศตามกติกาประชาธิปไตย ได้มีตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ในสภา และได้มีรัฐบาลของประชาชนที่คิดค้นและดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องของประชาชนอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือไม่มีอำนาจใด สามารถเพิกถอนความทรงจำของประชาชนในยุคทองของประชาธิปไตยไทยไปได้ …นี่คือสิ่งที่กำหนดชะตาประเทศ จากวันนั้นถึงวันนี้
.
ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน
ไทยโพสต์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2550
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 พฤษภาคม 2550
บ้านเมือง วันที่ 31 พฤษภาคม 2550
วารสารรายสัปดาห์ ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 31 พฤษภาคม 2550