19 ปี มหกรรมสุราไทย จุดฝันไกล “คราฟสุรา”

“คุณคิดว่าจะมีประชาชนที่ไหนยอมเข้าคิวเสียภาษีล่วงหน้า ง่ายนิดเดียว เอาเหล้าต้มใต้ดินมาต้มบนดิน แล้วประชาชนจะเข้าคิวเพื่อซื้อแสตมป์สรรพสามิตมาปิดปากขวดเหล้าเพื่อขาย คุณเข้าใจความยิ่งใหญ่นี้ไหม”
.
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ตำนานหูกระต่าย กล่าวในรายการ ‘เสือตัวที่ 5 สบายดีไหม’ ตอนแรก พอดแคสของพรรคเพื่อไทย
.
สุรา รัฐ และประชาชน 3 ปัจจัยที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและยาวนาน ในเมื่อประชาชนต้องการสุรา การควบคุมของรัฐจึงต้องเกิดขึ้น รัฐไทยมีนโยบายเกี่ยวกับภาษีเหล้ามานมนานกาเล เรียกได้ว่ารู้จักนำความรื่นรมย์ของมนุษย์มาหาประโยชน์ได้อย่างน่าสนใจ แต่ใช่ว่าจะราบรื่นไปเสียหมด
.
หลักฐานการเก็บภาษีเหล้าที่ชัดเจนปรากฏขึ้นตั้งแต่สมัยของพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199) โดยเก็บเป็นเตา เตาละ 2 บาทต่อปี หลังจากนั้นก็พัฒนาตามยุคตามสมัยหลายรูปแบบทั้งการห้ามผลิตห้ามขายสุราเพื่อให้เกิดการประมูลในรัชกาลที่ 2 การผลิตและขายสุราโดยรัฐในยุคถัดมา แต่สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของปัญหาอุตสาหกรรมสุราคือ พ.ร.บ. สุรา 2493 แม้จะถูกปรับเปลี่ยนหลายครั้ง แต่สาระสำคัญยังคงเดิม คือการส่งเสริมการผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุราแก่ผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น
.
แต่เมื่อปี 2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้มีการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และ สุรากลั่น ซึ่งล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยมีข้อกำหนดว่า สุรากลั่นชุมชนต้องมีแอลกอฮอล์อยู่ระหว่าง 15 ดีกรี ถึง 40 ดีกรี ส่วนสุราแช่ต้องไม่เกิน 15 ดีกรี
.
ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อย สามารถผลิตและจำหน่ายสุราพื้นเมือง ส่งผลให้มีโรงงานสุราเกิดขึ้นจำนวนมากในชุมชนต่างๆ ตามมาด้วย ผลิตภัณฑ์สุรา ทั้งสุราแช่ สุราหมัก ไวน์ และอื่นๆ ติดป้าย “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ผลิตออกมาวางขายกันอย่างครึกครื้น จนอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีนโยบาย ‘สุราเสรี’
.
#ณวันนั้น รัฐบาลไทยรักไทย ได้จัดงาน “มหกรรมสุราไทย” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 6-10 กันยายน 2545 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสุราไทย รวบรวมองค์ความรู้และพัฒนาการผลิตสุราแช่ให้มีมาตรฐาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้สุราไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยมีการออกร้านรวบรวมสุราไทยไว้หลายประเภททั้ง ไวน์ผลไม้ไทย เหล้าอุ เหล้ากลั่น และยังมีการประกวดบรรจุภัณฑ์สุราอีกด้วย
.
นโยบายการเปิดเสรีสุรานี้ เกิดจากการกดดันของเกษตรกรในภาคเหนือและอีสาน ให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อรองรับการผลิตสุราพื้นบ้าน หรือ ‘สุราเถื่อน’ ให้ถูกกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตรทั้ง ข้าว ผลไม้ท้องถิ่น มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ สัปปะรด ให้มีมูลค่าสูงขึ้น
.
พร้อมไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2540 โดยเน้นการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจากฐานราก รวมไปถึงลดการขาดดุลทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ลดสุรานำเข้า เพื่อสนับสนุนให้คนไทย นิยมของไทย ดื่มของไทย กันมากขึ้น
.
นอกจากนโยบายด้านการประชาสัมพันธ์ ยังดำเนินการด้านกฎหมาย ทั้งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 4) และ ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการอนุญาตให้ทำสุรากลั่น ชุมชน พ.ศ. 2546
.
ทำให้มีการผ่อนปรนกฏระเบียบต่างๆ ในการขอใบอนุญาตการผลิตและการจำหน่ายสุรา โดยผู้ขออนุญาตต้องเป็นสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร นิติบุคคล และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งทำให้การเริ่มธุรกิจผลิตสุราไทยเป็นเรื่องง่าย เข้าถึงประชาชนทุกคน
.
มีการประเมินว่าหากนโยบายสุราหมักแช่เสรีนี้ไม่ถูกขัดขวาง อุตสาหกรรมการผลิตสุราอาจได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างผู้ประกอบการรายย่อยให้แข็งแรง ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมสุราเคียงข้างญี่ปุ่น เพราะมีพื้นฐานจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลาย ทั้งผลไม้นานาชนิด มีวัตถุดิบน้ำตาลหลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราที่ดีแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยในการผลิตสุรา หากอุตสาหกรรมสุราได้รับการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การขยายไปสู่อุตสาหกรรมสุราอื่นๆ เช่น เบียร์ แม้ไม่ใช่ภูมิปัญญาดั้งเดิมก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากถึงจุดนั้นประเทศไทยคงไม่ต้องประสบปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำเช่นทุกวันนี้
.
แต่หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 นโยบายสุราเสรีหนึ่งขาของนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนต้องสะดุดลง เมื่อรัฐบาลหลายสมัยหลังจากนั้นไม่ได้ให้การสนับสนุนสุราไทย เริ่มจากการออกกฎหมายกีดกันในเรื่องของมาตรฐานการผลิต ความปลอดภัยของผู้บริโภค ความปลอดภัยของชุมชนในกรณีน้ำเสีย รวมไปถึงเงื่อนไขที่ยากลำบากในการเริ่มธุรกิจสุรา อ้างเรื่องมาตรฐานแต่ไม่ช่วยเหลือและพัฒนา ราวกับต้องการทำลายสุราเสรีและทำให้เกิดการผูกขาดตลาด เพราะมีเพียงทุนใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถดำเนินกิจการได้ภายใต้กฎเกณฑ์ยุบยั่บ
.
ปัจจุบัน จึงเหลือผู้ผลิตสุราชุมชนน้อยมาก ข้อมูลปี 2558 พบว่า กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสุราทั้งหมด 112,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นสุราและสุราประเภทเบียร์ในปริมาณเท่าๆ กัน) แต่เป็นภาษีจากสุราจากชุมชนเพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็น 1.3% ของภาษีสุราที่เก็บได้ นั่นหมายความว่า ตลาดที่ใหญ่มหาศาลของการบริโภคสุราไทยในปัจจุบันนั้น อยู่ภายใต้อำนาจของนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม และรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาไม่ได้สนับสนุนความสามารถของธุรกิจสุราไทย ‘รายย่อย’ ให้เติบโตได้เลยแม้แต่น้อย
.
ท้ายที่สุดนโยบายสุราเสรีของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เริ่มไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถูกทำให้สลายหายไปแทบไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่ แต่ความฝันของประชาชนในการมีสุราเสรียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในสักวันหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะมันจะเกิดขึ้นจริง
.
อ้างอิง :
– “สุราชุมชน สถานการณ์ปัญหาในสังคมไทย” โดย สาวิตรี อัษณางค์กรชัย วรานิษฐ์ ลำไย https://bit.ly/3thnfZx
– กานดา นาคน้อย: ข้าว เหล้า ไวน์ https://bit.ly/3teXrxg
– การเปลี่ยนแปลงนโยบายสุรา : ศึกษากรณีการผลักดันนโยบายโดยกลุ่มเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประเทือง ม่วงอ่อน https://bit.ly/3njyosb
– นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน : ศึกษากรณีการประกอบการสุราพื้นบ้านในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ปนันทิญา อภิหกิจ https://bit.ly/38Kkuqu
– What Happened to the 5th Tiger? Ep01 เสือตัวที่ 5 สบายดีไหม https://www.facebook.com/pheuthaiparty/videos/714085832605621/
https://bbc.in/3DPeXgl
https://bit.ly/2WVeWXv