‘สร้างอนาคตไทย 2020’ ความฝันของประชาชนที่ถูกทำลาย

“ความกลัวไม่เคยทำให้เราก้าวหน้า ความกลัวเป็นแค่สมมติฐาน แค่จินตนาการ แต่รถไฟเราจับต้องได้ พาเราก้าวหน้าได้”

– ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในเวลานั้น)
หลายคนคงคิดเสมอว่า ทำไมไทยถึงไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดีๆ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วบ้าง การเดินทางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ความเจริญที่กระจายไปไม่ได้อยู่แค่ในเมืองหลวงอย่างที่เป็นอยู่ อย่างที่หลายคนรู้ รัฐบาลในอดีตได้พยายามสร้างโครงการขนาดยักษ์เพื่อพาประเทศไทยไปถึงจุดนั้น
เชื่อว่าหลายคนคงจำได้ถึงนโยบาย “สร้างอนาคตไทย 2020” หรือจดจำกันในชื่อ “พ.ร.บ. เงินกู้สองล้านล้าน”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หนึ่งในนโยบายที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด คือ ‘รถไฟฟ้าความเร็วสูง’ นโยบายการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานขนาดใหญ่ การขนส่งทางราง และระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองหัวเมือง

ผ่านไปหนึ่งปีเศษ หลังจากฝ่าฟันวิกฤตน้ำท่วมและฟื้นเศรษฐกิจ ต้นปี 2556 ครม. ยิ่งลักษณ์มีมติยกร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ. สองล้านล้านบาท”
.
#ณวันนั้น 26 กันยายน 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ‘สร้างอนาคตไทย 2020’ นิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทางด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่จะโรดโชว์ทั่วประเทศกว่า 12 จังหวัด ร่วมด้วย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

“ในอนาคตอีก 7 ปีเมื่อสร้างเสร็จ เราจะไม่ได้มีแค่รถไฟ หรือระบบรางเท่านั้น แต่เราจะมีมากกว่าคือ ความเชื่อมโยง ที่ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรเพิ่มรายได้ในท้องถิ่นมากขึ้น ความเชื่อมโยงจากเมืองท่องเที่ยวหนึ่งสู่อีกเมืองท่องเที่ยว จากเมืองสู่เมือง กระจายความเจริญด้วยการสร้างศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค และเชื่อมโยงให้คนในครอบครัวได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น” ยิ่งลักษณ์ กล่าวในวันนั้น

การคมนาคมที่แข็งแรงจะเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้ในทุกมิติ การเดินทางที่ยากลำบากจะถูกทำให้ง่ายขึ้น เกิดการเชื่อมแหล่งผลิตทางการเกษตรเข้ากับโรงงาน เชื่อมโยงสินค้ากับผู้บริโภคด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้น สดขึ้น เป็นปัจจัยในการดึงดูดนักลงทุนซึ่งเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่

เชื่อมโยงเมืองต่อเมือง พัฒนาการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น เชื่อมโยงการขนส่งทั้งอาเซียนโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง และนำมาสู่การกระจายความเจริญในภาพรวม หากระบบคมนาคมแข็งแรงทุกเมืองจะสามารถสร้างระบบผังเมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ และนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลให้กับประชาชน

แต่ด้วยตัวเลขใน พ.ร.บ. เงินกู้ สูงถึง 2 ล้านล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการสร้างหนี้ ให้กับคนรุ่นต่อไปหรือไม่ แม้รัฐบาลจะชี้แจงอย่างชัดเจนถึงแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม การบริหารจัดการเงินกู้ภายในระยะเวลา 7 ปี ในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่ก็ยังถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำไปอ้างและโจมตี
.
“เรื่องการสร้างหนี้ เราต้องพิจารณาเรื่องมิติของเวลาด้วย การที่เราไม่ทำมา 20 ปี แล้วมาทำตอนนี้ อันนี้คือการที่คนในอดีตมาสร้างหนี้มาให้เราหรือเปล่า ?
ในปี 2536 เราอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ เวลานั้นใช้งบประมาณ 80,000 ล้านบาท มาวันนี้เราต้องใช้เงิน 400,000 ล้านบาท และถ้าเราไม่ทำวันนี้ นักเรียนที่มานั่งฟังในสภาที่ต้องทำในอนาคต อาจจะต้องจ่าย 2 ล้านล้านแล้วทำได้แค่รถไฟทางคู่ก็ได้ เวลามีมูลค่า”
19 กันยายน 2556
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
.
โครงการภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการยกระดับการคมนาคมของประเทศ ในทุกด้านทั่วทุกภูมิภาค ตามความจำเป็นและยุทธศาสตร์ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าใน กทม. ถนนสี่เลน ด่านศุลกากร ศูนย์กระจายสินค้า มอเตอร์เวย์ บูรณะถนนสายหลัก ถนนเชื่อมประตูการค้า ท่าเรือ และ สะพานข้ามทางรถไฟ โดยแบ่งเป็นดังนี้
– รถไฟความเร็วสูง 783,553 ล้านบาท 39.2%
– รถไฟฟ้า 456,662 ล้านบาท 22.8%
– ถนนทางหลวง 241,080 ล้านบาท 12.1%
– ถนนทางหลวงชนบท 34,309 ล้านบาท 1.7%
– สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท 0.7%
– ท่าเรือ 29,581 ล้านบาท 1.5%
– ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท 0.6%
– ปรับปรุงระบบรถไฟ (เพิ่มเครื่องกั้น ซ่อมบำรุงรางที่เสียหาย) 23,236 ล้านบาท 1.2%
– รถไฟทางคู่ และทางคู่เส้นทางใหม่ 383,891 ล้านบาท 19.2%
– ค่าสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ความผันผวนราคาวัสดุ การติดตามและประเมินผล) 21,050 ล้านบาท 1.0%
.
แต่ทั้งนโยบาย ทุกโครงการ ทุกความฝัน และทุกโอกาส ต้องถูกพับลงไป
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 12 มีนาคม 2557 ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. สองล้านล้านบาทตราขึ้นโดยมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญมีผลให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นอันตกไป
พร้อมด้วยวลีเด็ดของหนึ่งในตุลาการ ที่แสดงทัศนะในระหว่างการพิจารณาคดี
“รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นกับประเทศไทย ควรจะให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน”
.
ตลอด 8 ปีที่นโยบาย ‘สร้างอนาคตไทย 2020’ ได้ถูกทำลายไป ไม่มีทั้งรถไฟความเร็วสูงและถนนลูกรังไม่ได้หายไป รถไฟฟ้า ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ โครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ถูกสร้างอย่างไร้ทิศทางและถูกถามถึงความโปรงใสว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนไทยและนายทุนต่างชาติที่ผูกพันธ์ผลประโยชน์จากการก่อสร้างนานหลายสิบปี ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นค่าเสียโอกาสราคามหาศาลของประเทศไทยที่ประชาชนจำได้ไม่ลืม
.
อ้างอิง
เฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
https://bit.ly/2XQ8MsB
https://bit.ly/3kEM9Ql
https://bit.ly/3i6vTpw
ข้อมูลอื่นๆ
https://bit.ly/39DQPPX
https://bit.ly/2ZlRqUy
https://bit.ly/3kG6Vit