ตั้ง คปภ. วอร์รูมจัดการน้ำที่ดอนเมือง รับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 สิงหาคม 2554 จัดตั้งคณะรัฐมนตรีและแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้วเสร็จวันที่ 23 สิงหาคม 2554 แต่อีก 2 เดือนต่อมาได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) หรือ ‘วอร์รูมน้ำ’ บัญชาการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด คณะรัฐมนตรีที่เพิ่งรับตำแหน่ง ต้องหยุดทุกอย่างลงมาช่วยกันแก้วิกฤตอุทกภัย ขณะที่ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่สนามบินดอนเมืองสลับกับการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และตรวจเยี่ยมพี่น้องประชาชน
.
ย้อนกลับไปปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงก่อน ‘ยิ่งลักษณ์’ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยเจอกับพายุโซนร้อนติดกัน 2 ลูกใหญ่ คือ ‘ไหหม่า’ และ ‘นกเตน’ และเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว พายุก็กระหน่ำซ้ำเข้ามาอีก 3 ลูกภายใน 3 เดือน คือ ‘ไห่ถาง’ , ‘เนสาด’ และ ‘นาลแก’
.
พายุ 5 ลูกติดนี้ส่งมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,824 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสูงสุดตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนมา
.
เพียง 2 เดือนหลังเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่าไม่สามารถใช้การบริหารราชการปกติเพื่อจัดการและรับมือกับอุทกภัยใหญ่ได้ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ จึงประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีมติตั้ง ศปภ. ขึ้นมาบริหารจัดการสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้ง ศปภ. ขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2554 เพื่อเป็นศูนย์กลางจัดการวิกฤตน้ำท่วม พร้อมระดมทุกสรรพกำลังลงมาแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน
.
โดยกรอบอำนาจของ ศปภ. อาทิ
.
1) เป็นหน่วยบัญชาการที่ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service)
2) สั่งการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้ทั่วถึงเต็มพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
3) กำกับดูแลการจัดส่งอาหารและเครื่องอุปโภคให้ผู้ประสบอุทกภัยอย่างพอเพียงทั่วถึง
4) สนับสนุนด้านการเดินทาง ยานพาหนะ
5) ประสานงานป้องกันภัย และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์
6) วางแผนเคลื่อนย้ายและจัดเตรียมที่พักอาศัยให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย
7) กำกับการระบายน้ำให้กลับสู่สภาวะปกติ
8) จัดตั้งศูนย์รับบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน
9) ติดตามความเดือดร้อนของประชาชนอย่างถั่วถึง โดยเฉพาะการรับแจ้งโดยตรงผ่านสายด่วน 1111
10) ติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือ
และอื่นๆ
.
จะเห็นได้ว่า กรอบอำนาจของ ศปภ. ในเวลานั้น ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่ ‘ความปลอดภัยของชีวิตประชาชน’ เนื่องจากผ่านการประเมินแล้วว่า วิธีการเพียงอย่างเดียว คือ ต้องเร่งระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด แต่กว่าน้ำจะผ่านไปนั้น ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องอยู่กับน้ำท่วมขังเป็นเวลานานนับเดือน ในช่วงนั้นจึงต้องเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในด้านต่างๆ อาทิ บางพื้นที่จำเป็นต้องอพยพและรัฐบาลต้องจัดหาพี่พักอาศัยชั่วคราวให้ บางพื้นที่ยังอยู่ในหมู่บ้านได้เพียงแต่ต้องมีการขนส่งอาหารถึงมือ หรือบางคนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากปัญหาน้ำท่วมขัง และอื่นๆ ไปจนถึงการเปิดรับข้อร้องเรียนของประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญและจำเป็นต่อสถานการณ์
.
รัฐบาลได้ดึงศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน หรือ สายด่วน 1111 เข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับประชาชน เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ แจ้งความเดือดร้อน ขอความช่วยเหลือและปัญหาต่างๆ ก่อนที่จะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที โดยได้ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอกชนต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการประชาชนครั้งนี้ด้วย ทำให้มีตัวเลขผู้โทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือรวม 492,694 ราย แบ่งเป็นการขอความช่วยเหลือ 144,705 ราย , สอบถามข้อมูล 254,457 ราย, ร้องเรียน 4,440 ราย , ชมเชย 342 ราย , แจ้งความประสงค์ร่วมบริจาค 3,098 ราย และติดตามงาน 2,119 ราย (ข้อมูลช่วงวันที่ 9 ต.ค.- 7 พ.ย. 2554) พร้อมไปกับการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อจัดเส้นทางการอพยพและกระจายอาหารให้ประชาชน
.
การบริหารจัดการของ ศปภ. ในขณะนั้นไม่เพียงแค่รับมือและแก้ไขสถานการณ์วิกฤต แต่ยังต้องวางแผนกระบวนการเยียวยาพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ รวมทั้งฟื้นฟูวิถีชีวิตและกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว
.
บทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งภาคเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมหาศาล นำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้คนไทยและประเทศไทย ต้องประสบเหตุการณ์ซ้ำรอยมหาอุทกภัยซ้ำอีก โดยได้มีการการศึกษาและวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ออกมาเป็น ‘แผนบริหารจัดการน้ำ’ ที่แก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งทั้งประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท
.
แต่แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องสะดุดหยุดลง จากกลุ่มบุคคลต่างๆ รวมทั้งการต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบขององค์กรทางการเมือง สุดท้ายวิกฤตการเมืองและการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็ได้ทำให้แผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำให้ประชาชน ต้องหยุดลงและถูกรัฐบาล คสช. ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งล้มแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาทนี้ ในท้ายที่สุด
.
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศไทยและประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สร้างความเจ็บปวด เสียหายอย่างหนักมาตลอด นับ 10 ปี โดยที่ผู้มีอำนาจนิ่งเฉย ไร้วี่แววการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ