ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ยกระดับเศรษฐกิจไทย ให้ไกลถึงเวทีโลก
หลังจากพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2544 นอกจากนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศที่จำเป็นต้องฟื้นฟูและยกระดับจากฐานรากถึงหน่อใบแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร (ในขณะนั้น) ตั้งใจผลักดันและถือเป็นภารกิจหลักคือ การทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาแข่งขันกับนานาชาติได้หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
.
“ภารกิจของผมคือการทำให้คนไทยอยู่ดีกินดีและทำให้ประเทศมีความสงบสุขมั่นคง ภารกิจนี้จะเป็นจริงได้ ก็ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของนโยบายในประเทศและการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสม เราต้องการนโยบายการต่างประเทศที่รวมเอาความแตกต่าง ควบคู่กับการเปลี่ยนความหลากหลายให้เป็นความร่วมมือที่เสาะแสวงหาสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งเพื่อประเทศชาติ ภูมิภาค และโลกโดยรวม สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า นโยบายการทูตเชิงรุก”
.
คือส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ของทักษิณ ชินวัตร ในหัวข้อ “การทูตเชิงรุก: ยุคใหม่ของนโยบายการต่างประเทศของไทย” (Forward Engagement: The New Era of Thailand’s Foreign Policy) ในโอกาสเปิดสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 มีนาคม 2546
.
ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินภารกิจดังกล่าว ส่งผลให้นโยบายการต่างประเทศไทย ณ วันนั้นมุ่งเน้นไปที่การทูตเชิงเศรษฐกิจ กล่าวคือ การนำนโยบายระหว่างประเทศมาส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตทั้งในระดับ ทวิภาคี พหุภาคี หรือระดับภูมิภาค เช่น กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue) หรือพันธบัตรเอเชีย (Asia Bond) เป็นต้น
.
เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation :APEC) คือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ ณ วันนั้น รัฐบาลทักษิณเล็งเห็นว่าเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกับนานาชาติ เนื่องจากเอเปคถือเป็นการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยตัวเลขในวันนั้น หากวัดรวมจีดีพีทั้งหมดจะอยู่ที่ 19,293 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และแบ่งเป็น 21 เขตเศรษฐกิจของโลก
.
ปี 2546 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยได้เวียนมาเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปคอีกครั้ง หรือการประชุม APEC Summit ครั้งที่ 15 โดยมีเหล่าบรรดาผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าร่วม เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู บุช, ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หู จิ่นเทา, และ ประธานาธิบดีแห่งสหพันฐรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นต้น
.
จากรายชื่อผู้นำประเทศที่พากันตบเท้าเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากในระดับนานาชาติ เพราะถือว่าเป็นประเทศเจ้าภาพที่สามารถพาบรรดาผู้นำประเทศมหาอำนาจ และประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาอยู่บนเวทีประชุมเดียวกันได้สำเร็จ รวมถึงเป็นเวทีใหญ่ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และการแพร่ระบาดของโรคซาร์อีกด้วย
.
โดยคอนเซ็ปต์หลักของการประชุมเอเปคในปีนั้น คือ “โลกแห่งความแตกต่าง : หุ้นส่วนเพื่ออนาคต” (Different worlds: Partnership for the Future) กล่าวคือ 21 เขตเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและความแตกต่างกันสูง สามารถร่วมมือกันได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นประโยชน์ต่อแต่ละเขตเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมา ดังนั้นตลอด 2 วันของการประชุมนี้ จึงเกิดการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคีในมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม สาธารณสุข และการเกษตร อีกด้วย
.
“ความสำคัญของเอเปคคือการมีประเทศสมาชิกที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 50% ของโลก หากพูดอะไรออกไปจะมีน้ำหนักและมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกมาก … จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานตรงนี้ เพราะการส่งออกทำให้เกิดการจ้างงาน เกษตรกรมีรายได้ ทำให้สินค้าไทยขายได้ มีเงินตราต่างประเทศเข้ามา และสามารถใช้หนี้ได้ ท้ายที่สุดผลที่ออกมา ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปคยังทึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกในทางบวกมาก”
.
คือ ข้อความส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของ ทักษิณ ชินวัตร ในรายการ ‘นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน’ วันที่ 25 ตุลาคม 2546
.
ความน่าสนใจของการประชุมเอเปคในครั้งนั้น ยังถือว่าเป็นการประชุมที่พลิกโฉมการประชุมเอเปคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย เช่น การจัดประชุมที่นั่งเป็นรูปเกือกม้า ไม่มีโต๊ะ นั่งพูดคุยกันในวงโซฟา การหารือทั้ง 2 วันจะสลับตำแหน่งที่นั่งเสมอ เพื่อให้ผู้นำแต่ละคนมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้นำประเทศอื่นๆ พาชมการแสดงแสงสีเสียงประวัติ การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในช่วงเย็นของวัน และจัดเตรียมทุกมื้อให้เป็นอาหารไทยล้วน รวมถึงการจัดสรรเสื้อผ้าไทยให้แต่ละผู้นำได้สวมใส่ ดังภาพผู้นำที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นถ่ายรูปหมู่ สวมเสื้อผ้าไทย ยืนยิ้มให้กล้อง เบื้องหลังคือพระที่นั่งอนันตสมาคม จนกลายเป็นภาพคุ้นตาของใครหลายคนถึงทุกวันนี้
.
หลังจากการประชุมเอเปคได้สิ้นสุดลง ไทยเองได้มีข้อตกลงร่วมกับบางเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคทันทีอีกด้วย เช่น ข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน หรือ ความตกลงสภาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและรัสเซีย เป็นต้น
.
#ณวันนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย และมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศชาติเกิดความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติ จนนำมาสู่การพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหลังจากงานประชุมเอเปคในครั้งนี้ รัฐบาลของนายกฯ ทักษิณ ได้ออกแบบนโยบายระหว่างประเทศ และเดินหน้าเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาการค้ากับอีกหลายๆ ประเทศ เช่น การทำ FTA กับนิวซีแลนด์ หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น
.
จนอาจกล่าวได้ว่าวิสัยทัศน์การทูตเชิงเศรษฐกิจของนายกฯทักษิณ ถือว่าเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจที่สำคัญและสร้างงาน ทำรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล หลังภาวะวิกฤตต่างๆ ในประเทศเพิ่งเกิดขึ้น และหากเทียบกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ในทุกวันนี้ก็อาจยากเกินไปที่จะให้คิดการณ์ไกลเช่นนั้น
อ้างอิง:
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 20 ตุลาคม 2546
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 ตุลาคม 2546
หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 ตุลาคม 2546
https://bit.ly/2Xuked6
https://bit.ly/3ATGaMb
https://bit.ly/2XuWAx8