ทีมโฆษกเพื่อไทย ลุยชุมชนริมน้ำใต้สะพานพระราม 8 รับลอยกระทง แนะรัฐลดเหลื่อมล้ำชุมชนคนท้องถิ่นก่อนช่องว่างคนรวย-จนจะห่างขึ้น
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และนางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนางสาวทิพจุฑา บุนนาค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางพลัด พรรคเพื่อไทย ร่วมลงพื้นที่ชุมชนบ้านปูน เขตบางพลัด บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานลอยกระทงเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้กลับมาจัดงานอีกครั้งหลังจากในปีที่ผ่านมางดจัดกิจกรรมเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ในชุมชนบ้านปูนและบริเวณใกล้เคียงมีพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณ 20 ร้าน จำหน่ายสินค้าใต้สะพานพระราม 8 เป็นประจำ แต่เมื่อมีการจัดงานเทศกาลลอยกระทง กลับไม่สามารถเข้าไปจำหน่ายสินค้าในบูทที่กรุงเทพมหานครเปิดพื้นที่ให้ผู้ค้าจากภายนอกมาขายสินค้าได้ เนื่องจากไม่มีต้นทุนในการจับจองร้าน ซึ่งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 10,000-30,000 บาท ขณะที่ในวันปกติไม่มีเทศกาลลอยกระทงก็ถูกจัดระเบียบและต้องยอมจ่ายค่าปรับเพื่อให้สามารถค้าขายได้ สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาแม้รัฐบาลต้องการจัดระเบียบ และเริ่มกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขาดการเชื่อมโยงกับคนในชุมชน รัฐบาลและกรุงเทพมหานครต้องให้ความสำคัญกับชุมชนให้มากขึ้น หากมีเทศกาลที่คนกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรก ควรจัดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยได้มีพื้นที่หารายได้เลี้ยงชีพก่อน หากบริหารจัดการได้ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ อย่าให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจาก “รัฐรังแก” กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนจนและคนรวยห่างกันมากเกินไปกว่านี้
นางสาวตรีชฎา กล่าวว่า คนในชุมชนเล็กๆ หลายแห่งทั่วประเทศเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่กำลังทำงานอย่างหนัก แต่กลับถูกละเลย หลายครอบครัวเข้าไม่ถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อเกิดการระบาดในบางครอบครัว มักจะเกิดการระบาดไปถึงครอบครัวใกล้เคียงจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ เกิดปัญหาลุกลามมาถึงปัญหาปากท้อง รัฐบาลใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดกิจการ ร้านอาหารและปิดพื้นที่เสี่ยง ได้รับกระทบถ้วนหน้าแต่เยียวยาไม่ทั่วถึง ล่าช้าไม่ทันกับความเดือดร้อนของประชาชน จึงอยากให้รัฐบาลหันมาดูแลประชาชนในระดับชุมชนให้มากขึ้น โดยการนำมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ของภาคเอกชนหรือห้างสรรพสินค้ามาปรับใช้กับชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนกลับไปทำมาหาเลี้ยงชีพและอยู่กับโควิดให้ได้ วัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ต้องจัดหามาให้ทันป้องกันการระบาดระลอกใหม่ด้วย
นางสาวชญาภา กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและช่วยเหลือของภาครัฐประสบความลำบากมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อชีวิต สร้างรายได้ จนต้องพึ่งพาระบบการปล่อยสินเชื่อในชุมชนผ่านระบบความไว้ใจ สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ประชาชนช่วยเหลือประคับประคองกันเองโดยที่ภาครัฐไม่เคยมองเห็น จึงมีความเป็นห่วงสถานการณ์การดูแลกันเองของประชาชนในลักษณะเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัด จึงอยากให้ภาครัฐ ประสานความร่วมมือทำงานร่วมกับเอกชนและประชาชน ออกมาตรการต่างๆ สร้างผลบวกกับประชาชนมากกว่านี้ เช่น ปลดล็อกการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยเข้าถึงในระดับชุมชน หรือรื้อฟื้นโครงการสินเชื่อ SML กองทุนหมู่บ้านธนาคารประชาชนในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยมาปรับใช้ได้
ทั้งนี้นางสาวทิพจุฑา ได้สนับสนุนทีมกู้ภัย (Life Gard) จำนวน 6 คน เข้ามาให้การช่วยเหลือป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการลอยกระทงและร่วมกันจับตาเด็กและเยาวชนชุมชนริมน้ำที่ต้องการหารายได้พิเศษในช่วงเทศกาลลอยกระทง ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. ด้วย