เปิด TCDC พัฒนาเศรษฐกิจ

สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก เน้นให้รายย่อยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก นำมาสู่สองนโยบายโบว์แดงนั้นคือ นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งทำให้รู้ว่าการกำหนดนโยบายนั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่ขาดไปในสมการนี้คือองค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่า
.
ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทุนใหญ่จะได้เปรียบเรื่องต้นทุน การควบคุม คุณภาพ ความทั่วถึง ปริมาณการผลิต แน่นอนว่าทุนรายย่อยไม่มีทางแข่งขันได้ในสนามเดียวกัน แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกตลาดที่ต้องการสินค้าจากโรงงานในรูปแบบเดียวกัน ในทุกยุคทุกสมัยยังต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นไม่ซ้ำใคร มีเรื่องราวที่น่าจดจำอยู่เสมอ
.
สิ่งที่รายย่อยต้องพัฒนาคือการเสริมศักยภาพด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า (Value Added) สร้างแบรนด์ สร้างเสน่ห์ สร้างเรื่องราว เพื่อให้แข่งขันได้
.
นั่นจึงทำให้ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ หัวเรือใหญ่ ริเริ่ม “สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้: สบร.” หรือ Office of Knowledge Management and Development: OKMD ซึ่งสังกัดอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดยมีหน่วยงานภายใต้หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบ (TCDC), สถาบันวิทยาการการเรียนรู้, อุทยานการเรียนรู้ (TK Park), สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็น โดยหน่วยงานทั้งหมดมีเป้าหมายในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ที่มากกว่าในหลักสูตรการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
.
14 พฤศจิกายน 2548 #ณวันนั้น สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ TCDC (Thailand Creative & Design Center) ได้ออกสู่สายตาของประชาชนเป็นครั้งแรก บริเวณชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรี่ยม
.
ภายใต้แนวคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนา ผลงานการออกแบบไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจาก รากฐานทางวัฒนธรรมและการสั่งสมทางปัญญาของสังคม โดยสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ท้ายที่สุดและความคิดสร้างสรรค์จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยไปถึงระดับฐานราก จนเกิด ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy)
.
“การเปิดศูนย์แห่งนี้เพื่อให้เห็นว่าสมองคนไทยมีราคา สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่อยากให้สมองมีราคาเพียงแค่แรงงาน ประเทศไทยมีคนที่มีความรู้ มีพรสวรรค์ แต่ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะเราไม่มีช่องทางที่จะเชื่อมโยงจึงต้องพัฒนาแหล่งเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา” คำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในการเปิด TCDC
.
กลยุทธ์การออกแบบเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการเอาไว้แล้วเช่น อังกฤษมี Design Council ประสานงานให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของงานออกแบบ เกาหลีใต้ทำแผนส่งเสริมการออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ปี 2536 – 2546 หรือ อินเดียมีนโยบายการออกแบบแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศเป็นแหล่งออกแบบและมีผู้ผลิตที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งสำหรับไทย TCDC คือสิ่งนั้น
.
ภายใน TCDC มีบริการห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบที่รวบรวมหนังสือไว้มากมาย โดยหนังสือหายากราคาแพงที่นักศึกษาหรือประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยากให้สามารถค้นหาข้อมูลได้ฟรี มีกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการพบปะกันของนักออกแบบหลายสาขา ไปจนถึงการให้คำปรึกษาในการออกแบบสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาแบรนด์
.
โดยสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้มากที่สุดคือ นิทรรศการที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามวาระและโอกาส นำเสนอวิธีคิดสร้างสรรค์ในหลายรูปแบบจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น กันดารคือสินทรัพย์ : อีสาน Isan Retrospective, แล้ง หนาว … แต่เร้าใจ: marimekko (ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์การออกแบบฟินแลนด์), วิเวียน เวสต์วูด: Vivienne Westwood (ร่วมกับพิพิธภัณฑ์วิตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต), วิถีชีวิต วัฒนธรรมการกิน กับการออกแบบ: Multipli di Cibo และอื่นๆ อีกมากมาย
.
TCDC ได้รับคำชื่นชมอย่างมากในบทบาทการเป็นองค์ความรู้ด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ที่ทรงพลังสำหรับประเทศไทย เพราะสามารถบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้ประชาชน ให้ผู้ประกอบการ ให้นักศึกษา สามารถสร้างความเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
.
แต่ในขณะเดียวกัน TCDC ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่าของงบประมาณและความเหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของการซื้อนิทรรศการจากต่างชาติมาด้วยเช่นกันว่าเป็นการกระทำที่มักง่ายเกินไปหรือไม่
.
อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหลายนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากการรัฐประหาร 2549 คณะรัฐประหารได้เข้ามาตรวจสอบ หน่วยงานภาครัฐและโครงการขนาดใหญ่ แน่นอนว่า OKMD ที่มี TCDC อยู่ในนั้นด้วยก็ถูกตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ยุบคณะกรรมาธิการ ซึ่งทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนต้นเกิดการเปลี่ยนแปลง
.
โดยหนึ่งในเหตุที่อ้างตรวจสอบ คือ หน่วยงานเหล่านี้ ใช้งบประมาณที่สิ้นเปลือง “เกินกว่าเหตุ” โดยงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุด คืองบเงินเดือนและค่าบริหารจัดการ เช่น เงินเดือนผู้บริหารที่อัตราสูงมาก ค่าบริหารจัดการ ค่าสถานที่ ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปรงใสและคุ้มค่า
.
จนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 หลังรัฐประหาร 2557 เป็นอีกครั้งที่มีความพยายามยุบหน่วยงานนี้ โดยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ประเมินผลงานบุคลากร และทบทวนการใช้งบประมาณของ OKMD, TCDC, TK Park และมิวเซียมสยาม ภายใน 3 เดือน ว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากไม่จะยุบหน่วยงานทั้งหมดลง
.
การกระทำดังกล่าว ส่งผลให้ในโลกโซเชียลฯ แสดงความไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก เพราะ 4 หน่วยงานมีคุณประโยชน์ และถ้าถูกยุบจะทำให้ความรู้ของหน่วยงานที่สะสมมาถูกทำลายไป เพียงเพราะความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองเป็นสำคัญ
.
จากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน การเดินทางมาตลอด 16 ปี ของ TCDC นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ตามสถานการณ์ที่ผกผันของการเมืองไทย หากประเมินกันตามตรง เป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ยังห่างไกลกับคำว่าสำเร็จ เพราะการบ่มเพาะวิธีคิดย่อมต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง และที่สำคัญความคิดสร้างสรรค์ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลเผด็จการที่ปิดกั้นความคิดของประชาชน แต่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะอย่างไรพรุ่งนี้ย่อมมาถึง ในวันข้างหน้าเราทุกคนจะมีชีวิตใหม่
อ้างอิง :
https://bit.ly/2YG5rMU
https://bit.ly/3c4vRv3
https://bit.ly/3qzJACy
https://bit.ly/3ksYTsP
https://bit.ly/3DeLID0