ประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

จากการดูแคลนว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นเพียงนโยบายหาเสียง เกินจินตนาการ และจะทำไม่ได้จริง สู่การนำร่องโครงการ #30บาทรักษาทุกโรค ในวันที่ 1 เมษายน 2544 กับพื้นที่ 6 จังหวัด แล้วขยายไปครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศในเวลาไม่ถึง 1 ปี
.
ก่อนจะนำไปการประกาศใช้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็น ‘ตัวแทน’ ประชาชน บริหารระบบการจัดการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กำหนดและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ โดยมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันโครงการ เป็นเลขาธิการ สปสช. คนแรก
.
อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ คือการตอกเสาเข็ม #ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครั้งสำคัญของประเทศไทย และแข็งแรงขนาดที่แม้จะมีความพยายาม ‘ทุบ’ ‘ลดทอน’ ‘แก้กฎหมาย’ ตลอดมากว่า 20 ปี
แต่ด้วยปรัชญาของระบบ, ความนิยมและได้ประโยชน์อย่างถ้วนหน้าของประชาชน และด้วยกฎหมายที่เขียนคุ้มกันไว้อย่างแข็งแรง ก็ไม่มีใครทำลายลงได้
.
เช่น ความพยายามของรัฐบาล คสช. ครั้งหนึ่งที่เคยพยายามแก้กฎหมายฉบับนี้เพื่อลดอำนาจของ สปสช. เสนอลดสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน หรือคณะกรรมการฝั่ง ‘ผู้ซื้อ’ ลง แล้วเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการฝ่าย ‘ผู้ให้’ บริการ คือ ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น ประเด็นนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการให้ ‘บอร์ดบริหาร’ ถูกคัดเลือกมาจากตัวแทนของประชาชนมากที่สุด
.
หรือ ยังมีความพยายาม ‘ลดทอน’ คุณค่าของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ตลอด ตั้งแต่ ‘บัตรทอง’ ยังอยู่ในขั้นพัฒนาไอเดีย ถึงวันประกาศใช้ และตลอดมาถึงปัจจุบัน อย่างที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า นี่คือการทำประชานิยมครั้งใหญ่ของพรรคไทยรักไทย โครงการนี้คือการสร้างภาระทางการคลัง หรือ โครงการนี้คือมูลเหตุที่จะทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพน้อยลงเพราะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้นและถูกลง และอีกหลายมายาคติหรือวาทกรรมที่สร้างมาเพื่อโจมตีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มากกว่าจะวิพากษ์เพื่อพัฒนาระบบ
.
อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ นอกจากจะล้มไม่ได้เนื่องจากความแข็งแรงของโครงการ กฎหมายที่เขียนไว้ การได้รับรองจากนานาประเทศว่าเราคือประเทศแรกๆ และไม่กี่ประเทศที่จัดทำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ และการเข้าถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังถูกล้มจากคณะบุคคลไม่ได้ (แม้มีความพยายาม) แต่ยังมีความพยายามจะพัฒนา จาก 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็น 30 บาท รักษาทุกที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน
.
ข้างต้นคือการต่อสู้ที่ทำให้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ไม่ถูกล้ม ‘หลังจาก’ ที่โครงการได้เริ่มลงหลักปักฐานในไทยจริงๆ ที่เรียกว่ายากและถูกลดทอนในทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่า ‘กว่าจะเป็น’ 30 บาท รักษาทุกโรค ไทยรักไทยก็เจอกับแรงเสียดทานไม่น้อย
.
ย้อนเวลาไปก่อนปี 2544 มีความพยายามจากรัฐบาลก่อนหน้าเรื่องการจัดระบบสาธารณสุขมาก่อนแล้ว แต่เป็นการจัดทำด้วยการให้สิทธิประชาชน ‘ทีละกลุ่ม’ หรือระบบสังคมสงเคราะห์ที่ให้ ‘เฉพาะกลุ่มคนที่จำเป็น’ เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการใน พ.ศ. 2504, การจัดตั้งโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย (บัตร สปน.) ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 2518 หรือ สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ก็มีความพยายามทำประกันสุขภาพระบบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2535
.
แต่ไม่มีครั้งใดที่ปฏิรูปแบบ ‘ครั้งเดียว’ แล้วเข้าถึงได้ทุกคน เช่น การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งนี้
.
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ผลักดันนโยบาย ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมาก่อนจะเป็นระบบสุขภาพถ้วนหน้า ในวันที่เริ่มตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อ ‘ไทยรักไทย’ ว่า นี่คือความฝันของ นพ.สงวน โดยก่อนหน้านี้ นพ.สงวน ได้พยายามเอาความฝันนี้ไปพูดคุยกับพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคไหนเชื่อว่าจะทำให้เป็นจริงได้ แต่เมื่อ นพ.สุรพงษ์ ได้คุยกับ นพ.สงวน และเชื่อว่านี่คือ ‘ความฝันเดียวกัน’ จึงเริ่มทำข้อมูลร่วมกัน แล้วนำไปพูดคุยกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าไทยรักไทย พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่และอยู่ในช่วงลงพื้นที่และรวมรวมข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำนโยบายพรรค
.
การคุยครั้งนั้น ใช้เวลา 40 นาทีเพื่ออธิบายแนวคิด วิธีการทำ พร้อมทั้งงบประมาณที่จะครอบคลุมโครงการ ซึ่งประเมินว่าใช้มากกว่าแสนล้านบาท ใน 40 นาทีนั้น ทักษิณ ตอบตกลงและบอกว่า “ไม่น่าจะใช้เงินขนาดนั้น เติมงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขไปอีกไม่เท่าไร คิดว่าทำได้”
.
เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ถูกจับจ้องอย่างหนักว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ไหม ? อย่างไรก็ตาม ในช่วงนำร่องและจัดการระบบ นพ.สงวน บอกว่า อาจต้องใช้เวลา 2 ปี แต่ นพ.สุรพงษ์ อยากให้สำเร็จภายในหนึ่งปี เพราะชาวบ้านกำลังรอกัน
.
“ถ้าวันนั้นรอ 2 ปี วันนี้จะไม่มีสามสิบบาท จะมีคนค้านเยอะจนไม่ได้ทำ จนไปถึงว่า ฝ่ายค้านก็ทักทุกวัน สามสิบบาทตายทุกโรค” นพ.สุรพงษ์กล่าว
.
อย่างไรก็ตาม โครงการเริ่มนำร่อง 6 จังหวัดในวันที่ 1 เมษายน 2544 ครอบคลุมทั่วประเทศภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี และออกเป็นกฎหมายรับรองในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ผ่านมาร่วม 20 ปีแล้ว
.
และเหตุที่ทำให้นโนบายและกฎหมายฉบับนี้เกิดได้จริง ก็เพราะ ณ วันนั้น เราอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งเขียนรับรองสิทธิของ ‘บุคคล’ ว่าต้องได้รับการบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า ต้องทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ทั้งระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้
.
จึงเป็นเหตุให้พรรคไทยรักไทยผลักดันการปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทยภายใต้เจตนารมณ์และการกำกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และตั้งใจว่า ‘ต้องทำให้สำเร็จภายในครั้งเดียว’
.
นี่ไม่ใช่แค่การทำให้คนจนไม่ต้องตายเพราะเพียงเจ็บป่วยแล้วจ่ายค่ารักษาไม่ไหว ไม่ใช่แค่ทำให้ประชาชนไม่ต้องขายที่ดินไร่นาเพียงเพื่อเอาเงินมารักษาตัวเองหรือคนในครอบครัวที่เจ็บป่วย แต่คือการจัดการระบบสาธารณสุขครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ในประเทศ รับรองสิทธิของประชาชนอย่างเสมอภาคต่อการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และเข้าถึงได้โดยไม่ถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี
.
และแน่นอนที่สุด การเกิดว่ายากแล้ว การคงรักษาไว้ไม่ให้ตายหรือถูกลดทอนลงไปนั้นยากยิ่งกว่า แต่หนึ่งในเหตุผลที่นโนบายนี้ยังอยู่ได้ ก็เพราะการทำกฎหมายให้ชัดเจน เขียนกำกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่นที่เกิดกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
.
ที่มา :
เริ่ม 6 โรงพยาบาลนำร่อง 30 บาทรักษาทุกโรค : https://bit.ly/3wXtALx
กว่าจะเป็น 30 บาท รักษาทุกโรค โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : https://bit.ly/3kLxXVj
https://ilaw.or.th/node/4524
https://ilaw.or.th/node/4545
https://www.nhso.go.th/page/history