“ธีรรัตน์” ชี้หมูในตลาดสดยังแพงเกินกิโลกรัมละ 200 บาท ถามรัฐใช้งบ 500 กว่าล้านแก้หมูแพงอย่างไร ชี้ ประชาชนตกทุกข์ได้ยากหยุดขึ้นภาษีขูดรีด เร่งหารายได้จากทางอื่น
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพง 574.11 ล้านบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ถูกใช้จ่ายไปอย่างไร เหตุใดราคาเนื้อหมูยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ขณะที่การเดินหน้าตรวจสต๊อกหมูแช่แข็งนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร ขณะนี้สุกรส่วนใหญ่อยู่ในมือของกลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่ ที่นั่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล จึงอยากทราบว่ามีการแก้ไขปัญหาหมูแพงให้กับประชาชนหรือไม่ มีการกระทำการใดเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนบางกลุ่มหรือไม่
นอกจากนี้รัฐบาลยังเตรียมขึ้นภาษีอีกหลายรายการ ทั้งที่การปรับขึ้นภาษีในตอนนี้ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐตกต่ำ เป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในยุค คสช. ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ปรับขึ้นภาษีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6 รายการ ได้แก่ ภาษีมรดก ภาษีการรับ-ให้ ขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล-เบนซิน ขึ้นภาษีรถยนต์ ขึ้นภาษีบุหรี่ และเตรียมพิจารณาจะจัดเก็บภาษีเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 7 รายการ ทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ ภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ภาษีความเค็ม ภาษีป้ายโฆษณา เป็นต้น แทนที่รัฐบาลจะเอาแต่ใช้เวลาในการหาสูตรคำนวณขึ้นภาษีขูดรีดเงินเอากับประชาชนที่กำลังตกงาน ตกทุกข์ได้ยาก รายได้ไม่พอรายจ่าย รัฐบาลควรทุ่มเทเวลา งบประมาณ และความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ของประชาชนมากกว่าเอาแต่แก้ไขความขัดแย้งภายในพรรคตัวเอง
“การที่รัฐบาลอ้างว่าใช้งบประมาณเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้รัฐใช้จ่ายงบประมาณนอกเหนือจากการใช้จ่ายประจำปีเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การพูดแบบนี้สะท้อนได้ว่า รัฐบาลหาเงินได้ทางเดียวคือการเก็บภาษี มองไม่เห็นรายได้จากทางอื่น เช่น การค้า การลงทุนในประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หากพลเอกประยุทธ์คิดไม่เป็น บริหารไม่ได้ อย่าอยู่ให้เป็นภาระประเทศเลยค่ะ” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว