“เพื่อไทย” จี้ “ประยุทธ์” อย่าเตะถ่วง และ เร่งดำเนินการให้บอร์ด กสทช. ใหม่ มาพิจารณาควบรวม True-DTAC ชี้ ต้องลดผูกขาดทุกด้าน และอย่าสร้างอุปสรรคธุรกิจใหม่ แนะตามโลกให้ทัน เร่งสร้างบรรยากาศให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยี
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดเลย คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามถ่วงเวลา ไม่ยอมทูลเกล้าแต่งตั้ง คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสภาแล้ว เป็นไปได้ว่าต้องการให้การควบรวมของ True-DTAC เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งหากเป็นจริงจะเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างมาก เพราะการควบรวมของ True-DTAC ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนส่วนใหญ่ โดยประชาชนห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากการควบรวมนี้ ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าคณะกรรมการ กสทช. ชุดเก่าที่ปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี 2557 ที่มีประธานเป็นอดีตนายทหาร มีประวัติว่าจะทำตามความต้องการของพลเอกประยุทธ์ ทุกอย่างเช่น การไล่ปิดสื่อที่เสนอข่าวไม่ถูกใจพลเอกประยุทธ์ เช่น ปิด Voice TV หลายครั้ง แบบขัดความรู้สึกของประชาชน ในขณะที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่นี้จะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า โดยล่าสุดข้อมูลที่ได้รับปรากฎว่า True-DTAC ส่งข้อมูลและรายละเอียดไม่ครบ คณะกรรมการ กสทช. ชุดเดิมจึงไม่สามารถพิจารณาต้องให้คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่พิจารณาแทน ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ เลิกถ่วงเวลาและเร่งดำเนินการทูลเกล้าเพื่อให้มีคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่โดยเร็ว จะได้สามารถดำเนินการเรื่องต่างๆใน กสทช. ได้ รวมถึงการพิจารณาการควบรวม True- DTAC นี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค
ทั้งนี้จากข้อมูลที่ผู้แทนของ กสทช. ให้การกับคณะกรรมาธิการ ดูเหมือนพยายามจะเบี่ยงประเด็นให้การควบรวม True-DTAC นี้ โดยยกประเด็นที่ว่าสามารถที่จะควบคุมราคาค่าโทรและค่าใช้ข้อมูลได้ แต่ไม่พูดถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกจากด้านราคา ทั้งที่ในอนาคตการเปลี่ยนในเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นอย่างมาก แบบที่ กสทช. จะไม่สามารถทำนายได้เลยว่าจะมีรูปแบบใด ซึ่งอาจจะเกิดการฮั้วราคาเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคได้ โดยประชาชนอาจจะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในการควบรวมบริษัทโทรคมในประเทศยุโรปและสุดท้ายประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ดังนั้นจุดสำคัญคือต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งนี้ยังไม่เคยปรากฎว่ามีประเทศไหนยอมให้มีการควบรวมบริษัทโทรคมใหญ่จาก 3 บริษัท ให้เหลือ 2 บริษัทเลย เพราะจะเสี่ยงกับการฮั้วราคาอย่างมาก ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนได้ช่วยจับตากันในเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้เป็นแบบ แม็คโคร ควบรวมกับ โลตัส ทำให้สัดส่วนตลาดมีถึง 75.2% ซึ่งทำให้มีอำนาจเหนือตลาด และราคาสินค้าในแม็คโครและโลตัสก็สูงขึ้นมากเพราะไม่มีการแข่งขัน ในสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา (FTC) ออกคำสั่งให้ 7-Eleven ขายสาขาร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันจำนวน 293 สาขา เพื่อป้องกันการผูกขาด ซึ่งต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ ต้องศึกษาแนวทางของต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลกและตามให้ทัน มิเช่นนั้นประเทศไทยจะยิ่งล้าหลังมากขึ้น นอกจากเรื่องการควบรวมและการผูกขาดที่ต้องเร่งแก้ไขแล้ว การส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากๆเป็นเรื่องจำเป็นและต้องเร่งดำเนินการ แต่พลเอกประยุทธ์ กลับทำตรงข้าม เช่น การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่ยังไม่มีมาตราการที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความลำบากให้ประชาชน ซึ่งเปรียบเสมือนการผลักให้ประชาชนไปใช้ช่องทางซื้อขายต่างประเทศ ทำให้เงินไหลออกจากประเทศและตัดโอกาสของผู้ประกอบการในไทยไปพร้อมกัน การเก็บภาษีหุ้น ทั้งที่ในอนาคตบริษัทเทคโนโลยีใหม่ต้องอาศัยการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งยังมีข้อกฎหมายจำนวนมากที่ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะเร่งการส่งเสริมให้เกิดบริษัทเทคโนโลยีนี้ในทุกทาง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากและเรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญในฟื้นเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้