ชนินทร์ ชี้ประยุทธ์ “ยิ่งอยู่ยิ่งเจ๊ง ยิ่งแจกยิ่งจน” อยู่มา 8 ปีสร้างหนี้ 10 ล้านล้านบาท มุ่งเน้นประชานิยมหวั่นทำชาติล่มจม
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯครั้งที่ 1/2565
ร่วมกับก๊วน 3 ป. ว่า การประชุมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นับครั้งไม่ถ้วน แต่เหตุใดตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากดูจากตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์ในปี 2560 อยู่ ที่ 7.7ล้านคน เพิ่มจนมาสูงสุดที่ 14.6ล้านคนในปี 2562 หรือคิดเป็น 22% ของคนทั้งประเทศ และหากพลเอกประยุทธ์ มีการขยายสิทธิ์ใหม่ในปี 2565 ภายหลังปรับกฎเกณฑ์ตามมติ ครม.ที่ตั้งเป้าผู้เข้าร่วม 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในทันที ในขณะที่ตัวเลขคนจนไม่ได้ลดลง ในเวลาเดียวกันพลเอกประยุทธ์ ก็เดินหน้ากู้จนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 9.64 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 10 ล้านล้านบาท หรือ 59.57% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ บริหารประเทศแบบกู้แหลก แต่สร้างผลขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้น้อย เพราะตัวเลขหนี้สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคพลเอกประยุทธ์ ที่โตเฉลี่ยเพียง 1.66% นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศภายหลังจากทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ขัดแย้งกับผลงานโดดเด่นในเรื่องของการกู้ และยังใช้งบประมาณไปกับโครงการประชานิยมรวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท อาทิ
1.งบประมาณที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ใช้ในโครงการประชานิยมในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งมี 19 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 8.78 แสนล้านบาท
2.โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร ตั้งแต่ปี 2562/63 – 2564/65 ใช้งบประมาณ 2.61 แสนล้านบาท
3.โครงการต่างๆ ที่ออกมาในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมมากกว่า 6 โครงการ ในปี 2563-2564 ทั้งคนละครึ่ง 4 เฟส ,เราชนะ , ม.33 เรารักกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้, บัตรคนจน , เราเที่ยวด้วยกัน ใช้งบประมาณรวมทั้งหมดรวมกว่า 1.15 ล้านล้านบาท จากกรอบวงเงินที่กู้ได้ 1.5 ล้านล้านบาท
ในขณะที่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2556-2557 มีการใช้งบประมาณในโครงการจำนำข้าว, อุดหนุนน้ำมันดีเซล, โครงการรถคันแรก, พักชำระหนี้, และรถเมล์-รถไฟฟรี เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่ถูกให้ร้ายโจมตีว่าเป็นโครงการประชานิยมมอมเมาประชาชน ทั้งที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์ มีเงินเข้ากระเป๋า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ในตอนนั้นใช้งบประมาณ 2 ปี รวม 910,000 ล้านบาท แต่สามารถเพิ่มจีดีพีในปี 2555-2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.65% หรือจีดีพีมากกว่ายุคพลเอกประยุทธ์ กว่าเท่าตัว
นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาข้อมูลเช่นนี้แล้ว หลายฝ่ายอาจจะต้องคิดใหม่ว่า รัฐบาลใดสมควรที่จะถูกเรียกว่าเป็น “รัฐบาลประชานิยมทำประเทศล่มจม” กันแน่
“พลเอกประยุทธ์ ควรกลับไปย้อนดูรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ของ คสช.ที่เขียนบังคับไว้ว่า “โครงการประชานิยมต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งสร้างคะแนน นิยมทางการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” แล้วทำตามให้ได้ เพราะประชาชนคนไทย จะต้องแบกหนี้ที่คนรุ่นท่านได้สร้างเอาไว้ทั้งหมด” นายชนินทร์ กล่าว