พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือยาพิษ ต้นเหตุความสูญเสีย 10 เมษา 53 “ตรีชฎา”ชี้ เหตุล้อมปราบเสื้อแดงไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก จี้รัฐยกเลิก
นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ครบรอบ 12 ปีของการล้อมปราบประชาชน 10 เมษายน 2553 ในฐานะของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันประวัติศาสตร์ของประชาชน ขอรำลึกถึงการสูญเสียวีรชน ประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการกระทำที่โหดร้ายจากผู้มีอำนาจในเวลานั้น ต้นเหตุจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่คงไว้เพื่อปราบปรามจัดการกับประชาชน แม้ครอบครัววีรชนล้มตายจำนวนมาก ทายาทของวีรชนหลายคนเติบโต แต่วันนี้ความเป็นธรรมยังไม่มีให้กับพวกเขา ความผิดไปไม่ถึงผู้ก่อการ แต่มีสิ่งเดียวที่ปรากฎจริงคือมีผู้บาดเจ็บจริงและตายจริงจากกระสุนจริงเท่านั้น
นางสาวตรีชฎา กล่าวว่าตนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 การชุมนุมต่อเนื่องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ตั้งแต่เดือนมีนาคม เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก และคืนอำนาจการเลือกตั้งให้กับประชาชน ช่วงเช้าของวันที่ 10 เมษายนมีคำสั่งให้ทหารเข้าควบคุมพื้นที่โดยประดิษฐ์วาทกรรมว่า ขอกระชับพื้นที่จากผู้ชุมนุม และทหารประกาศเขตพื้นที่กระสุนจริง ได้เห็นภาพการปราบปรามประชาชนดั่งพวกเขาไม่ใช่คนร่วมชาติ เสียงกระสุนปืนดังสนั่นกลบเสียงขอร้องให้หยุดยิง เสียงของกลุ่มติดอาวุธวิ่งวุ่นจนไม่มีใครได้ยินเสียงร่ำไห้ของผู้ชุมนุม คนบาดเจ็บล้มตายต่อหน้า เด็กและผู้สูงอายุแทบเอาชีวิตไม่รอด มีผู้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาในวันนั้นคือ นายมนต์ชัย แซ่จอง เสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลันเพราะแก๊สน้ำตา นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงตรงสะพานมัฆวานตอนช่วงบ่าย ช่วงค่ำนายวสันต์ ภู่ทอง ชาวสมุทรปราการที่ยืนโบกธงชาติถูกยิงที่ศีรษะตรงจุดถนนดินสอด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงทำลายสมอง กระทั่งสื่อมวลชน ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงตรงถนนดินสอ และประชาชนอีกหลายคนถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่สี่แยกคอกวัวและอีกหลายพื้นที่ในการชุมนุมที่ผ่านฟ้าราชดำเนิน การไต่สวนหาสาเหตุการตายผลการชันสูตรออกมาว่าเกิดจากวิถีกระสุนจากแนวของทหาร ส่วนตนนั้นได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาจนส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนังจากการเข้าไปปักหลักรายงานข่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้นยังไร้การเยียวยา ไร้การเหลียวแล ไม่มีแม้แต่คำขอโทษจากคนสั่งยิง
“เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ไม่ควรเป็นบทเรียนด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก ไม่มีประเทศใดในโลกที่สั่งฆ่าประชาชนด้วยอาวุธของรัฐ ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เปรียบเสมือนยาพิษ เหมือนใบอนุญาตจัดการประชาชน ความสูญเสียในวันนั้นถูกรองรับด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผู้มีอำนาจหวงแหนกอดเอาไว้เพียงเพื่อคงอำนาจของตนเอง ไม่ต่างกับตอนนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ ไม่ใช่เพื่อจัดการโรคระบาด แต่เพราะขาดกลัวอำนาจของประชาชน สุดท้ายจะเหลือเพียงการตายกับความสูญเสียในความทรงจำที่โหดร้ายและซากปรักหักพังของประเทศกับประวัติที่เลวร้ายสำหรับเยาวชนคนรุ่นหลัง ขอให้ความสูญเสียจบลงเพียงแค่ปี 2553 และขอให้ปี2565 คือปีแห่งการอำลาเผด็จการ สู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที ” นางสาวตรีชฎา กล่าว