“พิชัย” ห่วง “ประยุทธ์”ปล่อยดีเซลเกิน 30 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เดือดร้อนกันหนัก ชี้ รัฐบาลกู้มาก ไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้สาธารณะปีละ 2.4-3 แสนล้านบาท แนะ ศึกษาภาพรวมเศรษฐกิจ ประคองราคาดีเซล และ คุมเงินเฟ้อ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จะเลิกอุ้มราคาน้ำมันดีเซลตำ่กว่า 30 บาท โดยจะออกให้บางส่วนแทน โดยอ้างว่าเป็น 1 ใน 10 มาตรการช่วยเหลือ แต่ที่จริงเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชนมากกว่าจะลดภาระ ซึ่งผลของการปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาทจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าขนส่งต้องปรับขึ้นหมด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าทุกชนิดปรับราคาขึ้น สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมให้กับประชาชนที่ลำบากกันอยู่แล้วให้หนักยิ่งขึ้น อีกทั้งการปล่อยราคาน้ำมันดีเซลให้ทะลุเกิน 30 บาทจะทำให้เงินเฟ้อของไทยที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงมากขึ้น โดยล่าสุดเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมพุ่งสูงถึง 5.73% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี ขนาดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว. คลังเลยว่าคุมเงินเฟ้อไม่อยู่และปีนี้เงินเฟ้อคงทะลุเกิน 4.1% แน่นอน
ทั้งนี้หากเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามทิศทางของดอกเบี้ยโลกที่ธนาคารกลางของสหรัฐจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระกันมากขึ้น ทั้งนี้คนไทยส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่ทราบว่าการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กู้เงินจำนวนมากจนหนี้สาธารณะจะพุ่งเกิน 10 ล้านล้านบาทแล้วนั้น ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยอย่างมากยังไม่รวมถึงการชำระเงินต้น โดยปัจจุบันรัฐจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงปีละกว่า 240,000 -300,000 ล้านบาทจากหนี้สาธารณะที่พลเอกประยุทธ์ก่อขึ้น ซึ่งจะต้องหักจากงบประมาณประจำปีไปชำระดอกเบี้ย และมาไล่เก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน การที่อ้างว่ารัฐบาลกู้ได้ไม่เห็นเป็นอะไรจึงเป็นเข้าใจที่ผิดและเป็นความคิดที่ผิด เพราะรัฐต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละหลายแสนล้านบาทนี้ แทนที่จะนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนหรือนำมาพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้ กลับต้องนำมาชำระหนี้ที่พลเอกประยุทธ์กู้มาใช้อย่างสะเปะสะปะมาตลอด และหากไทยต้องขึ้นดอกเบี้ย ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายก็จะยิ่งมากขึ้น เงินงบประมาณในการลงทุนก็จะยิ่งลดลง อีกทั้งงบประมาณยังต้องตั้งวงเงินลดลงเพราะเก็บรายได้ลดลง แถมเจอภาวะเงินเฟ้อสูงอีก รัฐจะแทบไม่เหลือเงินเลย ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเงินสวัสดิการที่รัฐจะจ่ายเพิ่มจะแทบจะทำไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น รัฐสวัสดิการ หริอ เบี้ยคนชรา 3 พันบาท คงเป็นได้แค่ฝัน แต่ทำไม่ได้จริงเพราะรัฐไม่มีเงิน นอกจากจะต้องทำเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาไปกว่านี้มากๆให้ได้ก่อน นอกจากนี้หากดอกเบี้ยต้องขึ้นจะส่งผลต่อภาคธุรกิจและจำนวนหนี้เสียให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเครดิตบูโรคาดว่าอีก 1-3 เดือนจะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก 4 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การที่พลเอกประยุทธ์กู้เงินมาก แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตได้ อีกทั้งต้องมาแบกรับภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง ผลคือพลเอกประยุทธ์ที่ไม่เคยหารายได้เป็น จึงต้องมาขึ้นภาษีทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประชาชนบ่นกันมาก โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ขาดทุนมากจากนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา แต่ต้องจ่ายภาษีมหาโหดสูงขึ้น 10 เท่า นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ยังจะเก็บภาษีการขายหุ้นอีก 0.1% ในภาวะที่ตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตไวรัสโควิด อีกทั้งยังจะเป็นปัญหาในการระดมทุนสำหรับบริษัทรุ่นใหม่ในอนาคต ซึ่งความเป็นจริงในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐบาลที่ฉลาดจะต้องลดภาษีเพื่อให้เงินอยู่ในมือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าที่จะขึ้นภาษีแล้วดึงเงินออกจากระบบ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งทรุดลงไปอีก
ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ควรจะต้องชะลอการปล่อยราคาดีเซลเกิน 30 บาทออกไปก่อน โดย ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลงอีกลิตรละ 2.99 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจะลดลงได้ลิตรละ 3.20 บาท และ การนำเงิน 20,087.42 ล้านบาทที่พลเอกประยุทธ์โอนไปจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาคืนมาเพื่อใช้สนับสนุนราคาดีเซล ซึ่งจะทำให้สนับสนุนราคาต่อไปได้ อีกทั้งงดการซื้ออาวุธ และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาประคองราคาดีเซลให้นานเท่าที่ทำได้เพื่อชะลอเงินเฟ้อ พลเอกประยุทธ์ต้องฝึกการคิดผลกระทบในภาพรวมให้เป็น ความเชื่อมโยงของ ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ภาษี ฯลฯ อย่ามองเป็นจุดๆ และหากเมื่อไหร่จำเป็นจะต้องปล่อยให้ราคาดีเซลลอยตัวขึ้นจริงๆ ก็จะต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้ผล ไม่ใช่ออกมาแบบ 10 มาตรการที่ประชาชนแทบไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งต้องคุมเงินเฟ้อให้อย่าสูงเกินไปเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนกันมากไปกว่านี้