“อรุณี” ชี้ “ประยุทธ์” ไม่เคยเข็ดสั่ง“เลขา สมช.”แก้วิกฤตเศรษฐกิจค่าครองชีพแพง “วางคนไม่ตรงกับงาน” ทำประชาชนเดือดร้อน

ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มอบหมายและสั่งการให้พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับมือวิกฤตความมั่นคงทางพลังงาน และอาหาร ว่า เป็นอีกครั้งที่พลเอกประยุทธ์ “โยนเผือกร้อนงานใหญ่” ให้กับทหารที่ตนเองเชื่อมั่นเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น แต่เป็นการวางงานให้แบบ “ผิดฝาผิดตัว” อีกครั้ง เพราะความเป็นจริง การบริหารราชการแผ่นดินนั้นมีกระทรวงและรัฐมนตรีที่ผู้รับผิดชอบงานแต่ละด้านโดยตรงอยู่แล้ว มีกรม กองงาน ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องตั้งเลขา สมช.ขึ้นมาซ้ำซ้อน เพราะจะทำให้เกิดการผลักภาระงานและโยนความรับผิดชอบกันไปกันมา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นสมัยตั้ง เลขาสมช. มาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) สุดท้ายการแก้ไขปัญหาก็ล่าช้าและสร้างความสับสนให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งหมดจึงเป็นบทพิสูจน์ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่มีความสามารถในการ “วางคนให้ตรงกับงาน” ทั้งที่มีอำนาจมากล้นมาตลอด 8 ปี เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศษฐกิจ เป็นประธาน ศบค. เป็นทุกอย่างแล้วแต่ไม่สามารถนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤตได้เลย ปัญหาต่างๆที่คลี่คลายลงล้วนแล้วเกิดจากสถานการณ์ที่คลี่คลายลงด้วยตัวเองทั้งสิ้น

ดร.อรุณี กล่าวอีกว่า แท้จริงแล้ววิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 ที่สืบเนื่องต่อมาจากการรัฐประหารในปี 2557 ที่เมื่อพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเมื่อมาเจอกับการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งฉุดให้เศรษฐกิจทรุดหนักลงไป หากเป็นผู้นำที่มีความรู้ความสามารถบ้าง ภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาคงไม่ตกต่ำย่ำแย่อย่างที่เป็น และเมื่อเจอกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง ข้าวของแพงขึ้นเพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น “รายได้เท่าเดิมแต่อำนาจซื้อน้อยลง” ทุกข์จึงตกกับประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ แทนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะเห็นสัญญาณสภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ุที่ผ่านมา แต่กลับนิ่งนอนใจและไม่คิดหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างเป็นระบบ

“พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่มาจากการสนับสนุนของ ส.ว.250 การแก้ปัญหาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่ยึดโยงกับอำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมือง เพราะมองและด้อยค่านักการเมืองทั้งที่มีความยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก คำพูดของพลเอกประยุทธ์ที่ว่าผมไม่เคยเป็นนายกฯมาก่อน แต่ยังเป็นนายกฯได้นั้นไม่ผิด แต่การเป็นนายกฯที่ดีและทำให้ประเทศชาติเจริญนี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความนิยมในตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยจะเพิ่มสูงขึ้นทิ้งห่างพลเอกประยุทธ์ เกือบ 14 % เพราะประเทศชาติทุกวันนี้ต้องการความหวัง แต่กับนายกฯที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ ที่คนไทยมองเห็นมีแต่ความสิ้นหวัง” ดร.อรุณี กล่าว