“กฤษฎา” ชี้ “เปลี่ยน “ประยุทธ์” เพื่อทำได้จริงเรื่อง รถไฟความเร็วสูง ค้าชายแดนที่มีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล
นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดหนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกว่า 1 ล้านๆ บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาลไม่สามารถมองข้ามได้เลย หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจก็คือ การเข้าใจว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ที่ไหน และบริบทของประเทศคืออะไร
ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น เรามาดูตัวเลขที่สำคัญกันก่อนน่ะครับ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เป็นช่วงการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การนำเข้าและการส่งออก รวมไปถึงการค้าชายแดนวันนี้เรามีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 850,000 ล้านบาท ส่งออกกว่า 500,000 ล้านบาท นำเข้า 300,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการส่งสินค้าทางเรือไปยังกลุ่มประเทศที่ไกลๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง หรือ อเมริกานั้น ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจทีเดียวครับ
ตัวเลขพวกนี้ ควรจะเป็นตัวเลขที่รัฐบาลให้ความสนใจ และควรจะต้องมีแผนรองรับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ทิศทางการรับเรียงสินค้า ไปจนถึงเส้นทางที่นักท่องเที่ยวและนักลงทุนจะต้องใช้ในการเดินทางในอนาคต แต่ถ้าเราติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องบอกว่ายังช้าไปหลายก้าว
สำหรับการค้าชายแดนนั้น ตัวเลขการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15% ทั้งนำเข้าและส่งออก แต่ตัวเลขที่ต้องระวังและถ้ายังบริหารงานแบบไม่เข้าใจบริบทของตัวเลขพวกนี้ อนาคต เราอาจจะเจอตัวเลขติดลบแม้แต่การค้าชายแดนก็เป็นได้ ตัวเลขที่น่าตกใจ และควรจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ การค้าผ่านแดน การส่งออกสินค้าผ่านแดนของเราในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ลดลง 20% การนำเข้าตกลง 12%
วันนี้ อินโดนีเซียกำลังจะลงทุนร่วมกับจีน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักก็คือเรื่อง รถไฟความเร็วสูง บริษัทเกาหลี Samsung กำลังเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ การลงทุนของ Samsung ได้สร้างรายได้เข้าประเทศเวียดนามกว่า 1 ล้านๆ บาทต่อปี
ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศที่มีทองและน้ำมันมาก ถือเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ในยุคปัจจุบัน ยุคของน้ำมันกับทอง กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นยุคของ พลังงานใหม่ EV หรือ รถไฟฟ้ากำลังจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ พลังงานทางเลือกหลายๆอย่างกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่าย ไม่ช้าก็เร็ว ยุคทองของเทคโนโลยี เช่น การผลิต Semi-Conductor สำหรับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า Battery Lithium Ion สำหรับรถไฟฟ้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งหมด ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวัตถุดิบ เทคโนโลยี รวมไปถึง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
จังหวัดหนองคายเอง เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะเชื่อมต่อกับลาว ไปที่จีนและอีกหลายๆ ประเทศ ตัวผมเองเป็น ส.ส. ในพื้นที่ ผมได้คอยติดตามการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่มาโดยตลอด วันนี้ หลายอย่างที่ควรจะเกิด ก็ยังไม่เกิด เขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ยังไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลยเข้ามารองรับ สะพานแห่งที่สองที่ควรจะเกิดนานแล้วก็ยังไม่มี กฎระเบียบการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนก็ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือเวียดนามอยู่พอสมควร มิหนำซ้ำผมได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนว่าภาครัฐได้มีการเร่งรัดและรัดกุมในเรื่องของการจัดเก็บภาษีเริ่มตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ทั้งๆที่ภาคธุรกิจเองก็เพิ่งจะกลับมาฟื้น หลังจากปลดล็อค ผมไม่แปลกใจครับ ในเมื่อรัฐบาลหารายได้ให้ประเทศไม่ได้ ก็ต้องไปลงที่ผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งหัวเพิ่งจะพ้นน้ำ แต่ก็กลับถูกกดลงไปในน้ำอีกครั้ง
วันนี้ หนองคาย เป็นประตูบานแรกที่นักท่องเที่ยว นักลงทุน จะเปิดเข้ามาเจอ และหากท่านยังบริหารงานแบบไม่พร้อมอย่างนี้ต่อไป โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด้านสาธารณะสุข หรือแม้แต่ด้านเทคโนโลยี ผมเกรงว่า เราก็อาจจะตกรถไฟขบวนนี้จริงๆ ก็ได้ครับ