‘ปลอดประสพ’ สะท้อน 6 ปัญหาน้ำท่วมทั่วไทย เปิด 6 ทางออกแก้น้ำท่วมกรุงเทพ ชี้ที่ผ่านมารัฐละเลย ทำประชาชนเดือดร้อนสาหัส
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นเพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองละเลยในเรื่องหลักการสำคัญ 6 ข้อ
1.เรื่องน้ำเป็นงานในระดับยุทธศาสตร์ หากผู้บริหารบ้านเมืองควบคุมน้ำได้ จะเป็นผู้นำที่มีความสามารถ สามารถดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้ แต่ผู้บริหารยุคนี้ไม่คิดว่าเรื่องน้ำ เป็นงานในระดับยุทธศาสตร์
2.ดำเนินยุทธวิธีที่ผิดพลาด ไม่มีความสามารถบริหารจัดการน้ำให้มี ‘ที่อยู่ที่ไป’ น้ำจึงท่วมหมด เช่น การควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำ บางแห่งไม่ควรปิด บางแห่งไม่ควรปิด
3.การบริการจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องทำทุกลุ่มน้ำ และต้องทำทุกจุด ทุกลุ่มน้ำ
4.การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องในทางวิชาการหลายแขนงที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน เช่น ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา บริหารน้ำขึ้นน้ำลง ความรู้ด้านวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ความรู้ทุกแขนงต้องเชื่อมโยงกัน
- หน่วยงานที่ทำงานเรื่องน้ำ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ และป้องกัน ควบคุม และช่วยเหลือประชาชน มีถึง 26 หน่วยงาน แต่การทำงานเป็นไปแบบต่างคนต่างทำ จึงไม่เคยเห็นนโยบายที่สอดคล้องกันในการแก้ไขปัญหาน้ำ
6.ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงลานิญญา ที่ลมจากตะวันออก พัดมาทางภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับสภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูง ฝนตกปริมาณมาก แต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศเสมือนอยู่ในภาวะปกติ แทนที่จะบริหารแบบ New mormal
การละเลยปัญหา 6 ข้อข้างต้น ทำให้เกิดความผิดพลาด 5 ข้อ ได้แก่
1.แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดีเยี่ยมโดยไม่ได้ใช้งบประมาณ และไม่ได้กระทำการที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมาย นักวิชาการเข้ามาสนับสนุนแผนดังกล่าว แต่รัฐบาลไม่ทำต่อ กลับเอาเงินงบประมาณ 1 แสนล้านบาทนำไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์
2.งบประมาณ 1 แสนล้านบาทดังกล่าว รัฐบาลหลังการรัฐประหารนำเงินส่วนนี้ไปใช้แบบไม่เกิดประโยชน์ โดยการให้หน่วยงานด้านทหารขุดลอกคลอง แต่สุดท้าย ที่ประชุมคณะนัฐมนตรี มีมติให้ยุติโครงการ เพราะเป็นการเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะขุดลอกคลองขึ้นมาในช่วงฝนตก ขุดคลองขึ้นมาแล้วไหลลงคลองเช่นเดิม เป็นการใช้เงินงบประมาณแบบละลายแม่น้ำ
3.รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเรื่องน้ำในระดับยุทธศาสตร์ ปล่อยปละละเลยให้มีการสร้างเขื่อนล้ำเข้ามาในลำน้ำ ซึ่งเป็นคลองหลัก เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว น้ำจึงไม่มีที่ไป
4.แต่ละหน่วยงานไม่มีการบูรณาการทั้ง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน เช่น มีโครงการยกถนนโดยไม่ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เครื่องสูบน้ำ 10 เครื่องถูกรื้อถอนออกจากประตูระบายน้ำคลองรังสิต ไม่มีการบริหารจัดการน้ำออกไปลงคลองประเวศ เป็นต้น
5.การบริหารงานไม่โปร่งใส และล่าช้า ในช่วงที่ตนเป็นรัฐบาลมีโครงการขุดแม่น้ำแห่งใหม่ เพื่อระบายน้ำจากบางไทร ไปบางบาล ระยะทาง 20 กม. รัฐบาลนี้นำไปดำเนินการ ซึ่งต้องขอขอบคุณ เพราะเป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่เป็นการก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงกว่า 3 เท่า ระยะเวลาก่อสร้างจากที่ตนเคยวางแผนไว้ 3 ปี รัฐบาลนี้วางไว้ถึง 7 ปี ซ้ำยังสร้างถนนประกบสองข้างทางแม่น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างผิดหลัก กีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำจากอยุธยา บางบาล ปากเกร็ด ไม่มีที่ไปและจะทำให้น้ำท่วมมากกว่าเดิม
นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่อาจจะมีการเลือกตั้ง และหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ตนจะเสนอให้รื้อถนนที่สร้างรอบแม่น้ำดังกล่าวออก เพื่อเปิดทางน้ำ ความละเลยผิดพลาดสะท้อนถึงความไม่รู้เรื่องของการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ ในยามนี้ประชาชนเดือดร้อน พรรคเพื่อไทยพร้อมจะช่วยเหลือ อย่างน้อยคือข้อคิด ประสบการณ์ และบุคลากรเท่าที่เรามี พร้อมเสนอแนะ 6 วิธีการจัดการน้ำท่วมตามหลักวิชาการ ไปยังรัฐบาลและผู้ว่า กทม. เพื่อให้การแก้ไขน้ำท่วมทำได้ดีกว่าเดิม ดังนี้
1.ผู้ว่า กทม.สามารถประสานขอความร่วมมือกับรัฐบาล โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้สั่งการหน่วยงานราชการทั้งหมด นำเครื่องสูบน้ำที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย เข้ามายัง กทม. ในส่วนของ กทม.ควรสำรวจพื้นที่ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สูบน้ำจากคลองหลัก ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ลงทะเล หรือลงไปแม่น้ำบางปะกง เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กความดันสูงของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่จัดซื้อในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลมีหลายร้อยตัว ความกว้างของท่อ 6 นิ้ว ยาว 300-500 เมตร นำเอาไปแจกจ่ายใช้ใน กทม. เพื่อสูบน้ำจากจุดท่วมที่ไม่มีที่ไป ไปลงคลองใหญ่ ส่งต่อออกแม่น้ำเจ้าพระยา
2.ผู้ว่า กทม.ประกาศให้ กทม.เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก ถือว่าเป็นพื้นที่ภายใต้สภาวะพิเศษ สามารถจัดซื้อเครื่องสูบน้ำจากต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ที่สิงคโปร์ สามารถขนส่งผ่านเครื่องบินมาได้ทันที
- ใครที่สั่งให้ปล่อยน้ำลงมาทุ่งรังสิต ขอให้หยุดทำทันที เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ควรกระจายน้ำจากคลองรังสิตออกไป ให้ครบทั้ง 3 ทิศทางคือ ตะวันตก ตะวันออก ผ่ากลาง กทม. เจ้าพระยา และ บางปะกง ส่วนคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร กทม.ต้องยอมให้น้ำผ่านสองคลองนี้เพื่อไปลงทะเล ซึ่งวิธีการนี้ ควรทำ เมื่อทำได้
4.น้ำระบายที่ไม่สามารถระบายได้ นอกเหนือจากปริมาณฝนที่ควบคุมไม่ได้ เพราะมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก ต้องใช้เครื่องมือช่วย เชโดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำ เป็นอุปกรณ์กลุ่มครุภัณฑ์สามารถเก็บไว้ใช้ในระยะยาวได้
5.ปัจจุบันนี้มีคอนโดมีเนียมจำนวนมาก ทุกคอนโดต้องยกระดับบั๊มเปอร์ให้สูงขึ้น และทำให้ใหญ่ขึ้น รัฐบาลต้องใจใหญ่ ควรเปิดให้เอกชนปรับปรุงระบบระบายน้ำให้ดี เบิกค่าใช้จ่ายที่รัฐบาล เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน หากไม่ทำ จะเกิดความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
6.ผู้ว่า กทม.ควรใช้ประโยชน์จากประตูระบายน้ำพระโขนง ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำในฝั่งตะวันออกของ กทม.และใกล้กับทางออกของน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
“รัฐบาลนี้สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร และคนใน ครม.ก็มีหลายคนสืบทอดอำนาจจากนักปฏิวัติ ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างกติกาใหม่ที่พิลึกกึกกือ แต่เรื่องน้ำ เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ความเป็นอยู่ ของประชาชน ท่านปฏิวัติเรื่องการเมืองได้ แต่ปฏิวัติเรื่องน้ำไม่ได้” นายปลอดประสพกล่าว
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตลาดกระบังประสบปัญหาหนักเช่นกัน เราส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องสูบน้ำ เพราะลาดกระบังเป็นแอ่งกระทะ น้ำจึงไหลมารวมกัน จึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ ต้องใช้เครื่องผลักดันน้ำ ดันน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ไปลงสมุทรปราการ หรือคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตพร่องน้ำให้ทันสถานการณ์ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุที่ท่านยังนิ่งเฉย เพราะท่านยังไม่รู้ปัญหา หรือรู้แล้วแต่อยากปิดหูปิดตา ไม่อยากร่วมแก้ไขปัญหาก็ตาม แต่อยากเรียนให้รัฐบาลรีบแก้ไขปัญหาประชาชนโดยเร็วที่สุด