“พิชัย” เตือน “ประวิตร” เตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกจะถดถอย ชี้ สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยอีกและดอกเบี้ยจะสูงอีกนาน แนะ เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับอนาคต และต้องไม่ขู่เรื่องปฏิวัติอีก “ศรันย์” ชี้ เศรษฐกิจโลกกำลังจะถดถอย แต่ผู้นำไทยยังไร้ทิศทาง จักรพล ถาม “High season” นี้ ประชาชนพร้อมแล้ว รัฐฯพร้อมรึยัง?”

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนายเศกสิทธ์ ไวนิยมพงศ์ ว่าที่นายก อบจ. ร้อยเอ็ด คนใหม่ที่ชนะแบบแลนสไลด์กว่า 3 แสนคะแนน และ เป็นแลนสไลด์ครั้งที่ 2 ติดต่อกันจากการเลือกตั้ง อบจ. กาฬสินธุ์ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งถึงการเลือกตั้งใหญ่อย่างแน่นอน ต่อมาเป็นเรื่องราคาน้ำมันโลกลดลงมาค่อนข้างจะมาก ใกล้กับราคาก่อนจะเกิดสงครามรัสเซียยูเครนแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาบ้างได้แล้ว ในขณะที่รัฐบาลเริ่มแก้ไขหนี้ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและต้องทำให้เร็ว และประเทศมาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว ในขณะที่ไทยอาจจะต้องรออีก 20 ปี นี่คือผลเสียของการปฏิวัติและการมีผู้นำที่ขาดความรู้ความสามารถ ขนาดยังดีใจกันการแจกบัตรคนจนจำนวนมากอยู่เลย ทั้งๆที่เป็นความล้มเหลว ประเทศจึงพัฒนาได้ต่างกัน ดังนั้นจึงหวังว่าวันที่ 30 กันยายนนี้ ที่จะมีคำตัดสิน 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จะได้ทราบกันว่าทิศทางประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป

โดยล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งละ 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นไปอยู่ที่ 3.00 % ถึง 3.25% และยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นไปอีก จากการประกาศของนายจาโรม เพาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องการจะหยุดเงินเฟ้อของสหรัฐให้ได้ และจะพยายามจะทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐลงมาอยู่ที่ 2% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 8.3% เมื่อเดือนสิงหาคม โดยคาดกันว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะขึ้นไปถึง 4.25% -4.5% ภายในสิ้นปีนี้ และน่าจะสูงขึ้นอีกในปีหน้า และ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นระยะเวลานาน ไม่ใช่แค่ช่วงสั้นๆ โดยในปี 2566 อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงทั้งปีอย่างแน่นอน

ทั้งนี้แนวทางของสหรัฐที่จะหยุดยั้งเงินเฟ้อให้ได้ โดยจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนกว่าจะหยุดเงินเฟ้อได้ เนื่องจากสหรัฐเห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งจนหยุดไม่ได้ สุดท้ายธนาคารสหรัฐสหรัฐก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากเพื่อหยุดเงินเฟ้ออยู่ดี อีกทั้งเวลาสินค้าและบริการขึ้นราคาแล้ว ราคาจะไม่ค่อยปรับลงมาอีก แม้ว่าเงินเฟ้อจะหมดไปแล้ว ดังนั้นสหรัฐจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของสหรัฐจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู้ภาวะถดถอยได้ นางเจเน็ต เยลเลน รมว. คลังสหรัฐยังออกมายอมรับ และจะส่งผลให้ประเทศอื่นๆพลอยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยไปด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจย่ำแย่อยู่แล้วจากสงครามรัสเซียยูเครน ในขณะที่ประเทศจีนการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จะขยายได้เพียงประมาณ 5% เท่านั้น

เมื่อมาดูผลกระทบต่อประเทศไทย ปรากฏว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่ง พลเอกประวิตรไม่เข้าใจออกมาสั่งให้ค่าเงินบาทกลับไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะการกำหนดค่าอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทั้งนี้สาเหตุที่ค่าเงินบาทอ่อนมาจาก 3 สาเหตุหลักคือ 1) อัตราดอกเบี้ยของไทยที่ห่างกับดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกามาก ปัจจุบันต่างกันถึง 2.5% 2) เงินทุนไหลออกซึ่งทุนสำรองเงินตราตต่างประเทศของไทยลดลงค่อนข้างมาก ตั้งแต่ต้นปีลดลงประมาณ 40,000 ล้านเหรียญแล้ว 3) ดุลการค้าขาดดุล แม้ส่งออกจะมากขึ้น แต่นำเข้าสูงกว่า ในเดือนสิงหาคม การส่งออกไทยขยายตัวได้ 7.5% แต่ ขาดดุลการค้าถึง 4,215.4 ล้านเหรียญ โดยไทยขาดดุลการค้าตั้งแต่ต้นปีแล้วประมาณ 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้วย 3 เหตุผลนี้จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนและจะอ่อนลงได้อีก โดยหลายสำนักคาดกันว่าจะถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ในอีกไม่นานนี้ ทั้งนี้ในภาวะปกติค่าเงินบาทที่อ่อนจะเป็นประโยชน์ต่อความสามารถแข่งขันของไทย แต่ ในภาวะปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อสูง 7.86% เมื่อเดือนสิงหาคม ค่าเงินที่อ่อนอาจทำให้เงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้นได้ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับเหมาะสมโดยพิจารณาทุกผลกระทบ

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ย่ำแย่ยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี การเริ่มปรับโครงสร้างหนี้เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งพรรคเพื่อไทยเรีนกร้องมาตลอด และอยากให้ทำให้เสร็จโดยเร็ว ก่อนดอกเบี้ยจะขึ้นอีกมาก ซึ่งไทยคงหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยวันที่ 28 กันยายนนี้ กนง. จะพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมีความเห็นหลากหลาย บางคนบอกให้ขึ้นมากๆ เพื่อป้องกันบาทอ่อนลงเร็ว และ ป้องกันเงินทุนไหลออก บางคนก็บอกก็บอกให้ค่อยๆขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยเปราะบางมาก ทั้งนี้ กนง. คงต้องพิจารณารอบด้านก่อนตัดสินใจ โดยหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้และมั่นคงในภาวะที่ผันผวนนี้

ดังนั้น ก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย รัฐบาลควรจะต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เร่งหารายได้ ลดรายจ่าย และ ขยายโอกาส ตามแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเสนอไว้ เพิ่มประสิทธิภาพของประเทศในทุกด้าน ปัจจุบันรัฐบาลยังคิดได้แค่การจะขึ้นภาษีแวตอยู่เลย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนมากขึ้น การที่คนในรัฐบาลยังพูดถึงว่าหากวันที่ 30 กันยายน ผลออกมามีคนประท้วงกันมาก อาจจะไม่มีการเลือกตั้ง เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ และ ถ่วงความเจริญประเทศอย่างมาก ไม่สมควรหลุดออกมาจากรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากประชาธิปไตยเลย และ ไม่ควรพูดแบบนั้นอีก

“ศรันย์” ชี้ เศรษฐกิจโลกกำลังจะถดถอย แต่ผู้นำไทยยังไร้ทิศทาง
 
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย เขต 2 พรรคเพื่อไทย แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่หลายฝ่ายกำลังคาดว่าจะเกิดภาวะถดถอยไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นหลายประเทศจึงต้องหาวิธีการและทิศทางในการรับกับภาวะดังกล่าว บางประเทศเลือกที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ บางประเทศพยายามดึงเงินและนักลงทุนต่างชาติเข้ามา กระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออย่างหลายๆประเทศที่มุ่งใช้ภาคการท่องเที่ยวในการสร้างรายได้ ก็มีนโยบายและมาตราการส่งเสริมเพื่อให้สำริตผลตามเป้าหมาย และในหลายๆประเทศที่ไม่มีแผนรองรับที่ดีพอ หรือมีปัญหาต่างๆมากมายภายในประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2565 อย่างน้อย 5 ประเทศ เกิดภาวะที่เรียกได้ว่า ประเทศล้มละลาย ล่าสุด IMF ได้มีการปล่อยกู้เงินมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
 
แต่ประเทศไทย ผู้นำขณะนี้กำลังทำงานไปแบบวันต่อวัน โดยไม่มีทิศทางและแผนการรองรับกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ตรงกันข้ามกลับออกมาให้ข้อมูล ให้ข่าวจนทำให้เกิดความสับสน ตอกย้ำ ซ้ำเติมให้เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลตอนนี้ไม่มีผู้นำในเรื่องเศรษฐกิจ จึงไม่มีทางที่ประชาชนจะสามารถคาดหวังอะไรได้เลย บางวันท่านก็ออกมาให้ข่าวว่า ต้องการตรึงราคาดอลลาห์ไม่เกิน 35 บาท จนทำให้ทั้งประชาชนและนักวิชาการต่างออกมาให้ข้อมูลโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าว จะยิ่งทำให้ประเทศมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจสูงขึ้น อีกวันก็ออกมายืดอกดีใจที่บัตรคนจนมียอดผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้น รัฐบาลกำลังดีใจที่มีประชาชนมากขึ้น ที่มีรายได้ไม่ถึง 8300 บาทต่อเดือน ปัญหาความไร้ทิศทางของรัฐบาล มิได้มีเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่มีอยู่ในทุกภาคส่วนของฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่างเช่น กรณีรัฐมนตรี DES ที่มีข้อพิพาดกับ กลต เกี่ยวกับกรณีการหลองลวงลงทุนที่กำลังเป็นที่สนใจของสื่อ ทั้งๆที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม ข้อมูลปลอมต่างๆ ก็อยู่ภายใต้กระทรวง DES เอง แต่กลับไม่สามารถทอะไรได้ หรือปัญหาเรื่อง คดีออนไลน์ เวปผิดกฏหมายต่างๆ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับที่น่าพอใจ และยังไม่มีบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลในไทย ตามหน้าที่ของตน
 
สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ตอกย้ำว่า ประเทศไทยกำลังจะต้องเผชิญกับภาวะที่ทั่วโลกเกิดเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศมีปัญหาด้านการเงิน จนทำให้ประเทศล้มละลาย ประเทศที่มีทิศทางและนโยบายที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจกำลังเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ หลังจากนี้จะเกิดการแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงเม็ดเงินและการลงทุน เข้าสู่ประเทศของตนเพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยนั้นนอกจากจะไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการรับมือปัญหา รัฐบาลยังมีความเข้าใจผิดๆ และระบบการทำงานที่ไร้ทิศทาง จนไม่สามารถทั้งรับมือกับผลกระทบและไม่สามารถส่งเสริมประชาชนในประเทศได้

จักรพล ถาม “High season” นี้ ประชาชนพร้อมแล้ว รัฐฯพร้อมรึยัง?”
 
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ รองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าในภาคการท่องเที่ยวช่วง High Season ที่จะถึงนี้ถือได้ว่าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวรายได้ของเครื่องยนตร์เศรษฐกิจตัวนี้ เป็นเรื่องดีที่ ททท.เตรียมจัดแคมเปญ “Always Warm” มุ่งทำการตลาดดึงนักท่องเที่ยวระยะไกลจากยุโรป แคมเปญ “ลดทั่วฟ้า บินทั่วไทย” การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย” การขยายระยะเวลาพำนักในไทย การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบตามที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอไปก่อนหน้านี้ และมาตรการอื่นๆที่จะตามมา แต่หากกลับไปดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเหล่านี้พบว่ายังไม่เป็นรูปธรรมและยังมีน้อยเกินไป ทั้งที่ใกล้ช่วง High Season แล้ว แต่รายละเอียดของแต่ละมาตรการยังไม่มี แสดงถึงความไม่พร้อมของรัฐบาล

วันนี้พรรคเพื่อไทยจึงขอชี้จุดอ่อนของรัฐบาลที่ไร้น้ำยาตั้งแต่การบริหารประเทศของประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมาถึงรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีอย่างพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากการคาดการณ์ของ ททท.ที่วางเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ฟื้นตัวกลับมา 80% ของปี 2562 โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง หากยังมีจุดอ่อนทั้ง 5 จุด ดังนี้

จุดอ่อนที่ 1 เป้าหมายที่ต่ำเกินไป เห็นได้ว่าตัวเลขเป้าหมายนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เบาบางเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคธุรกิจ แรงงาน และตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 25 จากนักท่องเที่ยวปี 62 เท่านั้น ทั้งที่ความจริงควรเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณนักท่องเที่ยวเดิม โดยความสำคัญของตัวเลขนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถวางแผนมาตรการและนโยบายเพื่อต่อยอดไปสู่การกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีการรอข่าวดีจากประเทศจีนให้มีการเปิดประเทศ แต่ทั้งนี้รัฐบาลควรจะมองตลาดอื่นๆด้วย เพราะเป็นการขยายมูลค่าการตลาดและมูลค่าทางเศรษฐกิจไปในตัว

จุดอ่อนที่ 2 การเตรียมความพร้อมการรองรับการท่องเที่ยวฟื้นตัวที่ช้าเกินไป หากรัฐบาลฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น จะทำให้ตระหนักได้ว่าความพร้อมในการเปิดประเทศของรัฐบาลนั้นล้มเหลว ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ หากย้อนไปในอดีตช่วงการระบาดของโควิด – 19 แรกๆ รัฐบาลก็จัดหาวัคซีนและการทำ Sandbox สำหรับการท่องเที่ยวก็ล่าช้า เกือบไปไม่รอด อีกทั้งเพิ่งจะมีการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งที่ประเทศอื่นๆในโลกก็แทบจะเปิดประเทศแบบ 100% แล้ว รัฐบาลจะรู้ตัวเองหรือไม่ว่าทำให้ประชาชนในประเทศเดือดร้อนเพียงใด ยกตัวอย่างความเดือดร้อนของประชาชน คือ โรคซึมเศร้า ที่เพิ่มขึ้นจาก 30,247 คน ในปี 2562 เป็น 33,891 คน ในปี 2564 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ซึ่งรัฐบาลจะปฎิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่ความผิดของตน เพราะทั้งหมดนี้คือความล้มเหลวของรัฐบาลที่ประชาชนต้องแบกรับ

จุดอ่อนที่ 3 การพัฒนาการท่องเที่ยวเฉพาะหน้า ไม่เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กล่าวคือรัฐบาลต้องทำการแก้ไขปัญการท่องเที่ยวแบบครบจบ ไม่แก้ไขแบบเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน รวมไปถึงบัตรคนจน ที่สุดท้ายจะเหลือเพียงแต่หนี้สาธารณะไว้ให้คนรุ่นหลังใช้หนี้ไม่รู้จบ การแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนคือ การสร้างรายได้ สร้างและเสริมทักษะแรงงานไปในตัว พร้อมทั้งดึงศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ออกมา ไม่เน้นแค่การท่องเที่ยว แต่ควรเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ เช่น หากพื้นที่นั้นเหมาะกับการท่องเที่ยวแบบเกษตรกรรม ควรมีการส่งเสริมการเกษตรเข้าไปด้วย เป็นต้น

จุดอ่อนที่ 4 ระบบต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กระท่อนกระแท่น นอกจากเสียงประชาชนแล้วรัฐบาลควรฟังเสียงของลูกค้าด้วย ลูกค้าในที่นี้คือ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาใช้จ่ายในประเทศไทย ยกตัวอย่างกรณีนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ที่ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไทย ปฏิเสธคนอินเดียจำนวนมาก ทั้งที่นักท่องเที่ยวเหล่านี้อยากเข้ามาท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีกรณีเส้นทาง R3A โดยกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองตามชายแดนที่มีระยะเวลาทำเรื่องเข้าประเทศที่ยาวนาน และต้องเสียเวลามาสอบใบขับขี่ใหม่ ทั้งที่เข้าขับรถมาจากจีน สปป.ลาว แต่พอจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกลับเสียเวลาที่ด่านเป็นวันๆ รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างนี้ด้วย หากมีการตลาดที่ดีแต่โครงสร้างการเข้าประเทศยังล่าสมัย สุดท้ายนักท่องเที่ยวก็จะหายไปอยู่ดี รัฐบาลควรคิดให้ครบวงจร ไม่ใช่เพียงขายผ้าเอาหน้ารอด

จุดอ่อนที่ 5 นโยบายทางการเงินที่กระจายไม่เข้าถึงปัญหา ปัญหาเรื่องสินเชื่อที่ไม่เข้าถึงผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เนื่องจากมีเงื่อนไขมากมายทำให้ผู้ประกอบการล้มหายไปมากขึ้น ผู้ประกอบการที่อยู่ได้คือคนที่โตมาด้วยตัวเองเพราะรัฐบาลไม่สนับสนุนหรือสนับสนุนไม่เพียงพอ หากธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น เชื่อว่าปลายปีนี้ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร รถเช่า จะได้มีทุนเริ่มต้นธุรกิจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในปลายปีนี้ และอาจจะนำไปสู่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกินไปกว่าที่รัฐฯตั้งเป้าหมายไว้ซะอีก แต่หากรัฐบาลยังใช้วิธีเดิมๆ แก้ไขปัญหาแบบเก่าๆ ประชาชนคงต้องเจอปัญหาแบบนี้ซ้ำๆ และหากปล่อยไปเรื่อยๆ ประชาชนคงคุ้นเคยกับปัญหาที่เจอ เรียกว่าประชาชนจะเจ็บและชินไปเอง

นี่คือจุดอ่อนที่รัฐบาลต้องยอมรับและปรับปรุงตัวเอง แต่ทั้งนี้ประชาชนอย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะพรรคเพื่อไทยได้เตรียมนโยบายรับมือไว้แล้วทั้งการแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างและการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลกทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ ความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ในประเทศควบคู่ปับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น ศูนย์กลางความร่วมมือเอเชีย (ACD) หรือยุทธศาสตร์ ACMECS, พัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 3 ลุ่มแม่น้ำ (อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง) และต่อยอดด้วยกระบวนการกรุงเทพฯ (Bangkok process) เป็นต้น นี่คือตัวอย่างของวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเอเชีย โดยมีประเทศไทยเป็น 1 ในผู้นำทัพ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาโครงสร้างทางการท่องเที่ยว เช่น One Single Checkpoint เชื่อมโยงด่านชายแดนต่างๆ เพื่อย่นระยะเวลาขั้นตอนการเข้าประเทศลง และสอดคล้องกับนโยบายหลักของพรรคด้วย Platform Digital Government เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีนโยบายทางการเงิน การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ได้เสนอไปแล้ว โดยพรรคเพื่อไทยเชื่อว่ามาตรการและนโยบายทั้งหมดจะทำให้การท่องเที่ยวประเทศไทยกลับมายืน 1 อีกครั้ง

ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลทราบดีว่าจุดอ่อนตัวเองนั้นมีมากมาย แม้จะทำดีแค่ไหนก็ไม่สามารถนำมากลบจุดอ่อนของตัวเองได้ จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้ลองคิดทบทวนให้ดีๆ ว่าสมัยหน้ายังอยากเป็นรัฐบาลอยู่หรือไม่? หรือควรเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นนักบริหารประเทศมืออาชีพมาบริหารและแก้ไขปัญหาประเทศที่ตนเองได้ฝากไว้ไม่ดีกว่าหรือ? เพราะที่ผ่านมาประชาชนทั้งประเทศไทยเห็นแล้วว่ากระบวนการคิด ตรรกะของรัฐบาลนั้นล้มเหลวและป่วยขนาดนั้น ไม่ต้องพูดถึงการท่องเที่ยวแต่การบริหารด้านอื่นๆก็แทบจะเป็นนโยบายระยะสั้นเกือบทั้งหมด คิดเพียงแค่กระตุ้นแต่ไม่สามารถคิดนโยบายในระยะยาวได้เลย ทั้งนี้ผมขอเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการบริหารประเทศที่จะนำไปสู่รัฐล้มเหลว (Failed states) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หยุดเถอะครับ หยุดทำร้ายประเทศไทยไปมากกว่านี้ ขอบคุณครับ