“เพื่อไทย” บี้ สปสช.ทบทวน-ถอดบทเรียนการยกเลิกคลินิก-โรงพยาบาลในโครงการ 30 บาท ชี้ ปชช. เคว้ง-รพ.รัฐแบกรับไม่ไหว

เวลา 10.30 น. วันที่ 28 กันยายน ที่พรรคเพื่อไทย นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นายกวีวงศ์ อยู่วิจิตร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางนา-พระโขนง พรรคเพื่อไทย และน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล โฆษกภาค กทม. พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของโรงพยาบาล เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 แห่ง

โดนนางสุภาภรณ์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในหมวดที่ 3, 5 และ 6 ทั้งนี้ การยกเลิกสัญญา และปิดคลินิก และโรงพยาบาลกรณีที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 30 บาท ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศยกเลิกสัญญา และประกาศปิดไปแล้วถึง 3 รอบ รวมกว่า 180 แห่ง จากการสั่งปิดนี้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนกว่า 1 ล้านคน และรอบที่ปิด 9 โรงพยาบาลเอกชนก็ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนอีกกว่า 1 ล้านคนเช่นกัน ถ้ารวมระยะเวลาทั้งหมด นโยบายนี้ได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านคน ด้วยความกังวล และความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งส.ส.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งเรื่องความไม่ชัดเจนเรื่องสิทธิว่าง ทั้งเรื่องการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งในระเบียบของ สปสช. เขียนไว้ในระเบียบว่า สำหรับการรักษาต่อตั

เนื่อง ประชาชนสามารถถือบัตรประชาชนไปได้เลยใบเดียว ไม่ต้องมีใบส่งตัว แต่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ง่ายเช่นนั้น ประชาชนต้องกลับไปที่เดิม และรอเป็นวัน นี่ยังไม่รวมถึงความยุ่งยากที่ต้องไปจองคิวกันตั้งแต่เช้ามืด นอกจากนี้ มีประชาชนจำนวนมากที่ถูกโยกสิทธิหรือขยายสิทธิไปใช้ที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งสาธารณสุขใกล้บ้านไม่สามารถรองรับพี่น้องประชาชนจำนวนเรือนหมื่น เรือนแสนได้อยู่แล้ว นี่จะเป็นภาระอย่างมากต่อพี่น้องประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐที่ประชาชนถูกโยกสิทธิไปไว้จำนวนเตียงเท่าเดิม บุคลากรทางการแพทย์เท่าเดิม แต่ต้องแบกรับภาระที่มากขึ้นอีก

“ดินฉันอยากถามว่า สปสช.ได้มีการถอดบทเรียนปัญหาที่ผ่านมาในการยกเลิกสัญญา และสั่งปิดคลินิก และโรงพยาบาลอย่างไร และดิฉันขอตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าท่านได้รับทราบปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว ท่านได้นำปัญหาเหล่านี้ไปแก้ไขเป็นรูปธรรมในการปรับโครงสร้างการบริการสาธารณสุขหรือยัง ถ้ายัง ดิฉันคิดว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนที่จะได้รับการดูแลนั้นขณะนี้มีความบกพร่อง ดิฉันยืนยันว่า การดูแลป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันจึงอยากฝากความหวัง และหวังว่า เรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข โดยอาจร่วมแรงร่วมใจกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทำงานแบบบูรณาการกับเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน” นางสุภาภรณ์ กล่าว

ด้านนายกวีวงศ์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สปสช.แจ้งว่าได้เตรียมมาตรการรองรับผู้ได้รับผลกระทบไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิไว้รองรับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่หน่วยปฐมภูมิ แต่อยู่ที่หน่วยบริการส่งต่อของโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่งที่พี่น้องประชาชนรักษาอยู่ ทั้งนี้ สปสช. ให้ประชาชนโทรสอบถามข้อมูลโรงพยาบาลส่งต่อที่เบอร์ 1330 ก็ได้รับคำตอบว่าให้โทรมาอีกครั้งวันที่ 1 ตุลาคม ตอนนี้ยังไม่ทราบ และเมื่อประชาชนก็ไปถามศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้านก็ได้รับคำตอบว่าให้มาใหม่อีกครั้งวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 65 แล้วทางสปสช.จะบอกว่าไม่ต้องให้ประชาชนวิตกกังวลได้อย่างไร อย่างเขตบางนา-พระโขนง มีโรงพยาบาลที่ถูกตัดสิทธิกว่า 3 โรงพยาบาล ประชาชนถูกโยกสิทธิไปรักษาในโรงพยาบาลของรัฐคือ โรงพยาบาลสิรินธร คนที่อยู่บางนาต้องไปรักษาทื่โรงพยาบาลสิรินธร ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถรองรับประชาชนเพิ่มได้แล้ว เพราะบุคลากรทางการแพทย์มีเท่าเดิม ผู้ป่วยที่รักษาอยู่ก็มากจนจะต้องขี่คอกันแล้ว ขณะที่ผู้ป่วยต้องถูกโยกสิทธิเข้าไปเพิ่ม ตนขอให้สปสช.ช่วยทบทวนเรื่องการยกเลิกโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง หรือ หาโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลที่ยกเลิกไปมาทดแทน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาที่ดีและเท่าเทียมกัน

ขณะที่ น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่พรรคเพื่อไทยยึดเป็นหลักปฏิบัติมาตลอดมาคือ เราต้องการให้การบริการที่ดีกับประชาชนในทุกมิติไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ บริการใดที่ดีอยู่แล้วเราจะทำให้ดีกว่าเดิม และไม่ทำอะไรให้ด้อยไปกว่าเดิม ทั้งนี้ พรรคพท.จะให้ ส.ก. ของพรรครับเรื่องนี้ไปหารือกับ กทม. ให้เร็วที่สุด เพื่อหาทางออกให้กับพี่น้องประชาชนชาว กทม. และได้ผลคืบหน้าอย่างไรพรรคเพื่อไทยจะแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ