แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ นั้น

จะเห็นได้ว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวเชื่อได้ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและประชาชนในวงกว้าง ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลผูกพันแห่งคำวินิจฉัย แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การตีความต้องยึดตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 บัญญัติห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แต่เมื่อถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็ยังคงมีผลใช้อยู่ต่อเนื่องมาภายหลังวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การตัดตอนเอาวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อาจหาตรรกะใดมาอธิบายได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดในบันทึกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับรวมด้วย อันถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

พรรคจึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความที่นักวิชาการกฎหมาย และสังคมต้องร่วมกันคิดว่าหลักคิดและเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีเหตุผล ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงช่วยกันทบทวนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะมีการทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร

พรรคเพื่อไทยมิได้กังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปจนถึงครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อแปดปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร และที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้องของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหาแต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกคน ในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
30 กันยายน 2565