“พิชัย” ห่วง “ประยุทธ์” รอดแล้ว แต่คนไทยจะไม่รอด ชี้ สถานการณ์เศรษฐกิจจะรุนแรงเกินความรู้ความสามารถ ยิ่งกู้มากยิ่งเจ๊งมาก แนะ เลิกการผูกขาดทุกชนิด และ วางมือก่อนชาติเสียหายหนักกว่านี้ “เลิศศักดิ์” ชี้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ ยิ่งรวบอำนาจ การกระจายอำนาจไม่เกิด “กฤษฎา” ชี้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ อุตสาหกรรมยิ่งเสื่อมถอย
“พิชัย” ห่วง “ประยุทธ์” รอดแล้ว แต่คนไทยจะไม่รอด ชี้ สถานการณ์เศรษฐกิจจะรุนแรงเกินความรู้ความสามารถ ยิ่งกู้มากยิ่งเจ๊งมาก แนะ เลิกการผูกขาดทุกชนิด และ วางมือก่อนชาติเสียหายหนักกว่านี้
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พลเอกประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งต่อ ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งมา 8 ปีแล้ว สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าถ้านับตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ระหว่างปี 2557 ถึง 2560 พลเอกประยุทธ์ เป็นอะไร นอกจากนี้ ตลอดเวลา 8 ปีมี่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยย่ำแย่มาตลอด รายได้ประชาชนลดต่ำลง เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาก หนี้สินเพิ่มขึ้นมาก คนจนเพิ่มขึ้นมาก ราคาพลังงานทั้ง น้ำมัน ก๊าซ และ ไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูง ข้าวของแพง ค่าแรงงานถูก ค้าขายย่ำแย่ หนี้เสียพุ่ง คนตกงานมาก คนฆ่าตัวตายสูงสุด ความสามารถแข่งขันของประเทศลด มีทุจริตคอรัปชั่นกันมากตามดัชนีชี้วัดสากล ขนาดปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันยังไม่มีการรับมือ แก้ไขช่วยเหลือประชาชนเลย คิดได้แค่จะใช้วิทยุทรานซิสเตอร์แค่นั้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์กลับคิดว่าตนเองทำได้ดี ประเทศก้าวหน้าทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไปหมดไม่ว่ามาเลเซียที่เป็นประเทศรายได้สูงไปแล้ว หรือเวียดนามที่การส่งออกแซงไทยไป 50% แล้วเป็นต้น ดังนั้นแม้พลเอกประยุทธ์จะรอดแต่คนไทยน่าจะไม่รอดแน่ถ้าเป็นแบบนี้
นอกจากนี้การปล่อยให้มีการผูกขาดเป็นปัญหาหลักของประเทศนี้ ขนาด World Economic Forum (WEF) จัดไทยอยู่อันดับที่ 104 จาก 138 ประเทศ ในด้านการกระจายอำนาจในตลาดสินค้าและบริการ (Extent of Market Dominance) และอยู่อันดับที่ 62 ในด้านประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Effectiveness of Anti-Monopoly Policy) ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยปล่อยให้มีการผูกขาดของนายทุนรายใหญ่กันมาก และ การบังคับใข้ดฎหมายในเรื่องป้องกันการผูกขาดยังมีประสิทธิภาพที่ต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยไม่สามารถพัฒนาก้าวขึ้นเป็นรายใหญ่ได้เพราะถูกปิดกั้น ปิดโอกาสการพัฒนาของประเทศ ดังนั้นการทำลายการผูกขาดจึงจำเป็นอย่างมาก หากประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไป
การที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว. พลังงาน พยายามบอกว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเป็นขาขึ้นนั้น น่าจะเป็นการขายฝันมากกว่า เพราะปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอีกมาก เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย การส่งออกของไทยคงไม่เพิ่มมากนักและอาจจะลดลงด้วย อัตราดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะต้องเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่อาจจะยังไม่ลดลง ค่าไฟฟ้าที่ยังจะเพิ่มขึ้นอีก และราคาสินค้าและบริการที่จะปรับขึ้น หนี้สาธารณะ และ หนี้ครัวเรือนที่จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นและหนี้เสียจะมากขึ้นจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและจ่ายไม่ไหว อีกทั้ง รมว ท่องเที่ยวที่อ้างว่าไทยฟื้นเร็วสุด น่าจะเข้าใจผิดเพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในแดนลบมา 3 ปีแล่ว จากปี 63 ที่ติดลบ 6.2% และยังไม่ฟื้นที่เดิมเลย แถมการท่องเที่ยวของประเทศอื่นฟื้นแล้ว ห้องพักจองกันเต็ม แต่ของไทยกลับว่าง แถมยังจะไปเก็บค่าเหยียบแผ่นดินให้เป็นที่กวนใจนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก นอกจากนี้พอโดนโจมตีว่าแจกบัตรคนจนมากแสดงว่าล้มเหลว พลเอกประยุทธ์เลยจะเปลี่ยนชื่อเป็นบัตรความสุข คิดได้เท่านี้จริงๆ
อีกทั้งการที่รัฐบาลจะจัดงบประมาณปี 2566 โดยจะกู้ถึง 1.05 ล้านล้านบาทนั้น น่าเป็นห่วงว่าจะทำให้หนี้สาธารณะยิ่งพุ่งสูง และเพราะกู้มากแต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ ยิ่งกู้มากยิ่งเจ๊งมาก ยิ่งกู้มากหนี้ยิ่งทะลุ ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพียิ่งเพิ่มขึ้นและอาจจะต้องไปขยายเพดานที่ 70% กันอีก ซึ่งรัฐบาลในอนาคตจะต้องใช้หนี้แทนพลเอกประยุทธ์เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 40 ปีถึงจะใช้หนี้หมด ลูกหลานจะยิ่งลำบากกันมาก
ดังนั้น หากมองตัวเองย้อนหลัง พลเอกประยุทธ์น่าจะทราบดีว่าการบริหารเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ล้มเหลวมาตลอด และ หากยังดื้อรั้นเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะพบกับอุปสรรคจำนวนมากโดยที่พลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถรับมือได้เลย คนไทยจะยิ่งลำบากและประเทศไทยจะยิ่งเสื่อมถอยลงอีก ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องได้สำนึกและออกไปได้แล้ว
“เลิศศักดิ์” ชี้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ ยิ่งรวบอำนาจ การกระจายอำนาจไม่เกิด
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดเลย กรรมการบริหารและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ภายหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามความต้องการของพล.อ ประยุทธ์ ที่มุ่งหวังที่จะแสวงหาอำนาจ และรักษาอำนาจให้ได้นานที่สุด ทั้งๆที่ตลอดระยะเวลา 8 ปี่บนตำแหน่งนายก ชาวบ้านประจักษ์ชัดถึงผลงาน และความสมารถของผู้นำประเทศคนนี้เป็นอย่างดี ประเทศเต็มไปด้วยปัญหา เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้เพิ่ม เงินไม่พอใช้ ระบบการเมืองพิกลพิการ กลยุทธ์ 3 แกนที่ประกาศจะพลิกฟื้นประเทศ พิ่งจะมาประกาศทั้งที่มีเวลาถึง 8 ปี จึงเป็น 8 ปีที่สูญเปล่า ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น คำมั่นสัญญาที่เขียนแนวทางการปฎิรูปประเทศทุกด้านไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระจายอำนาจ 8 ปีที่พล.อ ประยุทธ์ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์
เพื่อให้ช่วงเวลาที่เหลือในการบริหารประเทศเกิดประโยชน์ต่อการกระจายอำนาจ จึงขอเรียกร้องให้พล.อ ประยุทธ์ ดำเนินการเรื่องกระจายอำนาจสำคัญ 2 เรื่องสำคัญดังนี้
- เร่งรัดกระบวนการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฎิรูปการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูยฉบับชั่วคราว พศ 2557 เป็นการรวบอำนาจการบริหารงานบุคคลไปไว้ที่ส่วนกลาง ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการคัดสรรผู้บริหารเข้าสู่ตำแหน่ง รวใถึงได้บุคลากรที่ไม่สอดคล้องการทำงานในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นกฎหมายที่เป็นผลพวงของเผด็จการที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระจายอำนาจ
- เร่งรัดการยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นเทศบาลทั้งหมด เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีเพียงแค่ 2 ระดับคือ องค์การบริหารส่วนขจังหวัด และเทศบาล เพื่อประโยชน์ต่อวามตคล่องตัวในการทำงานภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ทั้งสองเรื่องที่เรียกร้อง เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลย หากพล.อ ประยุทธ์ มีความจริงใจ และให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ เพื่อประโยชน์ในการบริการสาธารณะ และ
“กฤษฎา” ชี้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ อุตสาหกรรมยิ่งเสื่อมถอย
นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดหนองคาย และอดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามจากประเทศอุตสาหกรรมเก่า ไปเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เพราะหากเราไม่รีบพัฒนา เรากำลังจะล้าหลัง และตามไม่ทันหลายๆประเทศ โดยเฉพาะอัตตราเงินเฟ้อ และ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านกำลังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ การบริโภคและกำลังซื้อของเราในระยะยาว
จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ มีคำกล่าวว่า ที่ไหนมีถนน ที่นั่นมีเงิน วันนี้ สิ่งที่รัฐควรจะต้องเร่งทำ คือ โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเอื้ออำนวยกับเศรษฐกิจทั้งในมหภาค ไปจนถึงท้องถิ่นทุกท้องถิ่น ถนนในที่นี้ ไม่ใช่แค่ถนนคอนกรีต แต่หากเป็นทั้งการคมนาคมทางน้ำและทางรางด้วย และเหตุผลที่ต้องรีบสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลื่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้านและการเปลี่ยนแปลงของโลกก็เพราะว่า ห่วงโซ่การผลิต กำลังมีการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นจะต้องชิงความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่เราเป็นศูนย์กลางเอเชียใต้ และดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนบนความได้เปรียบนี้
อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือแม่แต่ อุตสาหกรรมอวกาศ ที่กำลังเป็นที่สนใจของมหาอำนาจหลายๆประเทศ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของไทย ในเวทีเศรษฐกิจในอนาคต และเราจำเป็นจะต้องกำหนดบทบาทของเราให้ชัดเจน ในห่วงโซ่นี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้ทันต่ออุตสาหกรรมในอนาคตให้ได้