‘ปลอดประสพ’ แนะ 6 ทางออกแก้น้ำท่วมอีสานใต้ ยกโมเดลเนเธอร์แลนด์ป้องน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำ ฝาก ‘ประยุทธ์’ ไม่ต้องปลอบ ปชช. แต่ต้องมีคำตอบแก้น้ำท่วม
พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา “ลุ่มเจ้าพระยา ชี มูล ท่วมขนานใหญ่ เพื่อไทยแก้ได้” ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลต้องตระหนักว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายคลอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงกระทบพี่น้องประชาชน 10 ล้านคน ขณะนี้หลายพื้นที่ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เงินที่ใช้จับจ่าย ซึ่งความช่วยเหลือที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ทันการณ์ ไม่แมนยำ และไม่เพียงพอ น้ำท่วมครั้งนี้ได้เห็นความอับจนในการหาหนทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จนประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง สิ่งที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นปัญหา 3 ด้านที่ทำให้น้ำท่วมหนักในตอนนี้ ได้แก่
1.การแจ้งเตือนภัยไม่ชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ทันเวลา แต่ขอชื่นชมการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งเตือนพายุและพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังขาดการให้ข้อมูลว่าน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน น้ำท่วมสูงเท่าไหร่ ลดลงเมื่อไหร่
2.เมื่อน้ำท่วมต้องอพยพพี่น้องประชาชน แต่การอพยพไปยังแหล่งพักพิงที่รัฐบาลดำเนินการเป็นไปแบบลุกลน ไม่คาดการณ์ให้แม่นยำ โดยเฉพาะอุบลราชธานีและพระนครศรีอยุธยา ที่ต้องอพยพย้ายที่นอนหลายครั้ง
3.รัฐบาลล้มเหลวในการเลือกยุทธวิธีในการบริหารจัดการสภาวะวิกฤต บุคคลในระดับการบริหารมีความเป็นทหารมากเกินไป เลือกใช้วิธี ‘ควบคุมทางไหลของน้ำ’ (Flood control) ทั้งที่ไม่มีเครื่องมือ เช่น เขื่อน ฝาย คู คลอง เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ ประกอบกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงกว่าภาคกลาง ทั้งที่ต้องใช้วิธีการ ‘บรรเทาอุทกภัย’ (Flood mitigation) บรรเทาผลกระทบที่เกิดจากน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่แล้ว
ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะดำเนินการตามแนวทางดังนี้ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชน
1.เปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการสถานการณ์ ให้เป็นแนวทางยืดหยุ่น (Reselent approach) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการควรเป็นไปในรูปแบบการที่ต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนให้ได้
2.ยึดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature base solution) ควรทบทวนผังเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำมากและหลากแรง เช่น จ. ภูเก็ตน้ำท่วมทั้งที่เป็นเกาะ เพราะมีการก่อสร้างห้องแถวติดถนนบนเชิงเขา ถนนจึงกลายเป็นลำน้ำ ส่วนคลองที่ผ่ากลางจังหวัดภูเก็ต ไม่เคยดูแลรักษาหรือขุดลอกจึงเกิดน้ำท่วม เช่นเดียวกับที่ อ.เมือง เชียงใหม่ ควรทบทวนผังเมืองด้วย
3.ทบทวนการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สิ่งก่อสร้างใหม่ ที่ต้องมั่นคงยั่งยืนรองรับน้ำท่วมสูงขนาดใหญ่ และปริมาณฝนตกมากขึ้น
4.จากนี้ไปด้วยสภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำปริมาณมาก สิ่งก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างไปแล้ว ต้องปกป้องให้ได้ โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยอาจสร้างคันกั้นน้ำในบริเวณที่ลุ่มต่ำ (Polder Model) ซึ่งใช้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำ และต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สามารถป้องกันบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้ โดยสำหรับประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้กับ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีได้
5.หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะค้นคว้าหาพื้นที่บริเวณแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อสร้างฝายขนาดใหญ่ (Diversion damn) เพื่อควบคุมน้ำ ทำหน้าที่คล้ายเขื่อนชัยนาท เขื่อนพระรามหก จะช่วยชะลอน้ำและใช้ในระบบชลประทานได้
6.หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะปรับแต่งหรือจัดสร้างแก้มลิงในพื้นที่ราบต่ำ บริเวณริมแม่น้ำชีและริมแม่น้ำมูล และอาจทำเขื่อนความสูงไม่เกิน 3 เมตร หรือสูงไม่เกินระดับสูงสุดของแม่น้ำ มีประตูน้ำเข้า และประตูระบายน้ำออก ไว้ใช้ในการรับน้ำ
“ความเป็นห่วงของพวกท่านที่ไปเยี่ยมพี่น้องประชาชน ไปปลอบให้พวกเขาอดทน ตอนนี้ประชาชนไม่ได้ต้องการกำลังใจ แต่ต้องการอยากทราบว่าพวกเขาจะอยู่รอดไหม วันหน้า เขาและลูกหลานจะอยู่อย่างไร เวลาท่านไป ไม่ต้องไปทุบหลังปลอบเขา ให้บอกว่าท่านจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดน้ำท่วมขึ้นอีก” ดร.ปลอดประสพกล่าว
นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อ.วารินชำราบ มีภูมิศาสตร์เป็นจุดรับน้ำธรรมชาติ มีน้ำจากแม่น้ำชีบรรจบกับแม่น้ำมูลในจังหวัด โดยระดับในแม่น้ำมูลวันนี้ (19 ต.ค.65) อยู่ที่ระดับ 11.51 เมตร ไม่ต้องถามว่าน้ำท่วมจะอยู่อย่างไร มันเลยคำถามนั้นมาแล้ว แต่ต้องถามว่า เมื่อน้ำลดลงแล้วจะอยู่อย่างไรมากกว่า เพราะเมื่อหลังน้ำลด คนยังอยู่แต่บ้านเรือน ของใช้อุปกรณ์ทำมาหากินที่ยังผ่อนจ่ายอยู่จมน้ำเสียหาย ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซ่อมแซมหรือซื้อใหม่ ตลอดระยะเวลาน้ำท่วมนั้นต้องตกงาน
ความโชคร้ายของภาคอีสานปีนี้คือเมื่อเดือนเมษายนยังไม่เข้าฤดูฝน ข้าวเพิ่งลง ต้นเพิ่งงอก แต่พายุนำพาน้ำฝน ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรจมน้ำเสียหาย เมื่อน้ำลด กลับมาปลูกข้าวอีกรอบ ยังไม่ทันโต น้ำท่วมจมรอบที่ 2 ประชาชนเดือดร้อนจากการหารายได้ ทำกินไม่เพียงพอยังต้องมาเจอกับอุทกภัยซ้ำอีก
ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาด ส.ส.จะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในสถานการณ์เฉพาะหน้า ก่อนที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะตามไปภายหลัง แต่ด้วยระเบียบ กกต.180 วัน มัดมือเท้า ส.ส.ไว้ทำให้ไม่สามารถไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในตอนนี้ได้ จึงอยากเรียน กกต.ว่า การผ่อนปรนระเบียบ 180 วันให้ช่วยพี่น้องได้นั้น ไม่ได้เป็นการช่วย ส.ส.ให้ได้คะแนนเสียง แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก พวกเขาต้องการน้ำสะอาด อาหาร เครื่องนุ่งห่มกันหนาวในยามที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ คนอีสานไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขอแค่น้ำสะอาดไว้ดื่มกิน ขอน้ำไว้ทำการเกษตรในฤดูร้อนซึ่งมีน้ำน้อย เมื่อฤดูฝน มีน้ำมา ขอให้บริหารจัดการน้ำให้ระบายลงไปเร็วที่สุดโดยไม่ท่วมขัง แต่วันนี้เรายังย่ำอยู่กับที่ พูดเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งทุกปี เพราะรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ
“ที่นายกรัฐมนตรีขับรถผ่านมาแล้วก็บอกว่า สู้สู้นะ อยู่ให้ได้นะ เดี๋ยวก็จะผ่านไป เราไม่ต้องการ แต่เราต้องการว่า รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือประชาชนบ้าง จะเยียวยาช่วยเหลืออย่างไร ถ้าพรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาล เราก็อุ่นใจว่าจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในระยะยาว วารินชำราบจะไม่จมน้ำ ในระยะสั้นก็จะมีการขุดลอกคูคลอง แต่นี่ไม่มีการขุดลอกคูคลองเลย พอน้ำมา คลองระบายน้ำตื้นเขินทำให้ทั้งเมืองจมน้ำหมด” นางสาวกิตติ์ธัญญา กล่าว
นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรี มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลางจังหวัด แบ่งนนทบุรีออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก แม่น้ำเจ้าพระยามีหน้าที่ระบายน้ำ หากน้ำมามาก เช่นขณะนี้มีการระบายน้ำประมาณ 2,900 ลบ.ม./วินาที ยังอยู่ในศักยภาพที่สามารถผันน้ำลงแม่น้ำท่าจีนหรือระบายลงคลองระพีพัฒน์ได้ แต่หากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที น้ำจะเริ่มเข้าท่วมจังหวัด โดยเฉพาะจุดนอกคันกั้นน้ำรอมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการกั้นกระสอบทราย 2 ชั้น เพื่อสูบน้ำออก แต่ขณะนี้ในบางพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ หากประชาชนต้องสูบน้ำออกจากบ้านเรือน ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเครื่องสูบน้ำจำนวนมาก ขณะนี้จ่ายค่าน้ำมันไม่ไหว บางรายจึงมีความจำเป็นต้องยอมให้บ้านจมน้ำ ขณะที่บางพื้นที่อย่างฝั่งไทรม้ามีแนวถนนเป็นเขื่อนกั้นน้ำ มีถนนพิบูลสงคราม ที่ ดร.ปลอดประสพ ทำไว้ช่วยกั้นน้ำได้ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับในอนาคต รัฐบาลหน้าต้องคิดหาแนวทางว่าแม่น้ำเจ้าพระยา มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อาจหาแนวทางที่ไม่พึ่งหวังใช้เพียงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว เพราะคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเข้าพระยามีระดับเพียงแค่ 2.7 เมตร รับน้ำที่ระบายมาได้ไม่เกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เหมือนเช่นปี 2554 ที่ระบายน้ำมาถึงเกือบ 4,000 ลบ.ม./วินาที ทั้งนนทบุรีและกรุงเทพจะจมน้ำ