คำแถลงพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับกฎกระทรวงเรื่อง การซื้อที่ดินของคนต่างด้าว ที่รัฐบาลผลักดัน
พรรคเพื่อไทยมีความวิตกกังวล และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงที่รัฐบาลจะออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้คนต่างด้าวถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ เนื่องจากการถือครองที่ดินของคนต่างด้าวจะมีผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยอย่างกว้างขวาง แทนที่จะคำนึงถึงการช่วยเหลือคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเองทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตที่ลูกหลานเติบโตขึ้นมาจะต้องซื้อบ้านและที่ดินในราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจากกลไกการตลาดเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เนื้อหาของกฎกระทรวงปี 2545 ในเรื่องเดียวกันนั้น มีเนื้อหาที่เข้มงวดและกำหนดเงื่อนไขที่คนต่างด้าวซื้อที่ดินได้ยากกว่า โดยพรรคมีความเห็นดังนี้
1) การออกกฎกระทรวงในปี 2545 นั้นมีบริบทที่แตกต่างกับปี 2565 เนื่องจากรัฐบาลในปี 2545 ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยนั้น เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศในปี 2544 ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น และประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามข้อตกลงที่มีกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องแก้ไขกฎหมายในบางเรื่อง และชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ แต่การจะออกกฎกระทรวงของรัฐบาลขณะนี้ เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลนี้
2) พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการลดเงื่อนไขให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินได้ง่ายขึ้นในร่างกฎกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการลดเงื่อนไขระยะเวลาการลงทุนลงจาก 5 ปีเหลือ 3 ปี และการเพิ่มประเภทและทางเลือกในการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจที่แท้จริง สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย แต่กลับเปิดโอกาสให้นักลงทุนในตลาดการเงินที่เข้ามาหาประโยชน์ระยะสั้นและถอนทุนออกไปได้โดยง่าย โดยไม่มีพันธะต่อประเทศไทย มีโอกาสได้สิทธินี้
3) พรรคเพื่อไทยขอแถลงต่อพี่น้องประชาชนว่า ทุกคนมีหน้าที่รักษาทรัพยากรที่ดินไว้ให้ลูกหลานไทยในอนาคต แต่รัฐบาลล้มเหลวในการเข้าใจ
เจตนารมณ์สำคัญนี้ และดำเนินการในทางตรงข้าม ถ้ารัฐบาลนี้เดินหน้าออกกฎกระทรวงที่มีเนื้อหาตามที่มีมติ ครม. พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าคัดค้าน และถ้าพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนไปเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องการซื้อที่ดินของคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีเงื่อนไขที่เข้มงวด ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ใช้บังคับมา มีการถือครองที่ดินตามกฎกระทรวงดังกล่าวไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งถือว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนั้นแล้ว
พรรคเพื่อไทย
29 ตุลาคม 2565