นพดล แนะรัฐบาลอย่าถามแต่ให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพเอเปคที่ดี แต่ควรบอกว่าคนไทยจะได้อะไรบ้างจากการเป็นเจ้าภาพ

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิคหรือเอเปค ซึ่งถือเป็นเกียรติของประเทศ ซึ่งในปี 2546 ไทยก็เคยเป็นเจ้าภาพในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำ ซึ่งความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพนั้นอาจดูได้จากการมีผู้นำมาประชุมมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอด ไม่ใช่ระดับรัฐมนตรี นอกจากนั้นต้องดูว่าเนื้อหาสาระของการประชุม ไทยได้ผลักดันประเด็นที่สำคัญอะไรสำเร็จบ้าง โดยตนมีข้อสังเกตว่า 1) การประชุมเอเปคปี 2546 เกิดขึ้นหลังการระบาดโรคซาร์ ในปีนี้ เกิดขึ้นหลังระบาดโควิด แต่ครั้งนี้ ผู้นำหลายประเทศไม่ได้เดินทางมา ในขณะที่ในปี 2546 ผู้นำมาเกือบครบ สถานะประเทศไทยในเวทีโลกขณะนั้นโดดเด่น ในการประชุมเอเปคนี้ พลเอกประยุทธ์คงไม่ได้จับมือกับประธานาธิบดีไบเดนที่กรุงเทพฯเนื่องจากท่านมาประชุมที่ประเทศกัมพูชา และบินไปประชุมต่อที่ประเทศอินโดนีเซีย และกลับประเทศของตน ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาว่า 8 ปีที่ผ่านมาประเมินตนเองอย่างไร 2) ความสามารถของผู้นำรัฐบาลของประเทศเจ้าภาพจะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จของการประชุม เพราะต้องเป็นประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันข้อมติร่วมหรือผลักดันวาระของไทย ขอเสนอว่าหลังประชุมเสร็จ รัฐบาลควรให้นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญประเมินหาตัวชี้วัดความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพ เพื่อการประเมินที่ถูกต้อง


“รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเผยแพร่เมนูรายการอาหารผู้นำที่มาร่วมประชุมเอเปค ออกประกาศจุดห้ามชุมนุมในบางจุด และเด็กนักเรียนต้องเสียสละหยุดเรียน 2 วัน ตนเชื่อว่าคนไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพที่ดี  แต่อยากให้รัฐบาลบอกให้ชัด เป็นรูปธรรมว่าคนไทยจะได้อะไรบ้างในทางการค้า การลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า จะอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยคนไทยจำนวนมากมีความหวังว่าหลังการประชุมเอเปคจะได้มีโอกาสเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อเลือก ส.ส.และพรรคการเมืองนำไปสู่การเป็นรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอย่างมีประสิทธิผลต่อไป”