“ดร.เผ่าภูมิ” ชี้ การชูโมเดล BCG คือโจทย์ที่ไทยไม่ได้เปรียบในเวที APEC

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีไทยชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระหลักในการประชุม APEC ว่า

โมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว: Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ถูกผลักดันให้เป็นวาระหลักของการประชุม APEC ซึ่งในเวทีการประชุมสำคัญระดับนี้ เป็น “โอกาสทอง” ที่เจ้าภาพสามารถผลักดันวาระการหารือเพื่อประโยชน์ต่อสมาชิกและต่อชาติของตน คำถาม คือ การใช้โอกาสทองในการผลักดันโมเดล BCG นี้ ไทยได้ประโยชน์ ได้เปรียบ และมีแต้มต่อ หรือไม่

  1. พรรรคเพื่อไทยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยโมเดลการพัฒนาคู่ขนานนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสมดุล แต่รายละเอียด รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในโมเดล BCG ของรัฐบาลนั้นล้มเหลว และยังขาดความพร้อมในการเป็นวาระหลักในการประชุมระดับ APEC
  2. โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังกลวง ล่องลอย ย้อนแย้ง และมีช่องโหว่สูง ข้อกล่าวหาเรื่องการเพิกเฉยต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ และการฟอกเขียว ของโมเดล BCG ยังถูกตั้งคำถามอย่างหนักในสังคม แต่รัฐบาลยังไร้ซึ่งคำตอบ
  3. จริงอยู่ที่ว่าไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพื้นฐานด้านการเกษตรที่สมบูรณ์ แต่ชาติที่ได้ประโยชน์สูงสุดจาก BCG คือชาติที่สามารถสร้างนวัตกรรมทางด้านการเกษตรระดับกลางถึงสูง มีเทคโนโลยีชั้นสูงในการใช้ประโยชน์ต่อยอดจากฐานด้านการเกษตร ซึ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ไทยในปัจจุบัน ทำให้ไทยไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด
  4. ไทยตกเป็นผู้ตาม ด้านเศรษฐกิจสีเขียว ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ บทบาทและจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมบนเวที COP26 ขาดความชัดเจน เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ไร้ซึ่งแผน ไร้แนวทางการปฏิบัติ และขาดรูปธรรม อีกทั้งอันดับความเสี่ยงของไทยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก สะท้อนความเป็นผู้ตามบนเวทีโลก
  5. อินโดนีเซีย เจ้าภาพการประชุม G20 ชูประเด็นการฟื้นตัวและโลกหลังโควิดแบบเชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่อุปทานที่เกื้อกูลกัน โดยครอบคลุมหลายมิติ ซึ่งแหลมคม ตอบโจทย์ ตรงสถานการณ์ แต่โมเดล BCG ที่ล่องลอยที่รัฐบาลไทยชูในการประชุม APEC ผนวกกับบทบาทของอินโดนีเซียที่แซงหน้าไทยไปไกลในเวทีโลก ทำให้เวที APEC ในประเทศไทยนั้นเงียบเหงาและถูกมองข้าม

เศรษฐกิจต้องควบคู่ไปกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โมเดลการพัฒนาคู่ขนานเป็นแนวทางที่สามารถใช้เป็นแรงผลักในการขับเคลื่อนประเทศได้ แต่การผลักเป็นวาระหลักในการประชุม APEC ไม่ใช่บทบาทที่คนไทยได้ประโยชน์สูงสุดในเวลานี้ ทำให้โอกาสทองจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมนั้นหลุดลอยไป