“พิชัย” ติง ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด รัฐต้องหาทางแก้ไขก่อนจะแบกกันไม่ไหว จี้ เก็บค่าก๊าซหุงต้มเข้าปิโตรเคมีเพื่อนำมาลดค่าก๊าซประชาชน แนะ รื้อโครงสร้างราคาไฟฟ้า งดแจกใบอนุญาต กำหนดทิศทางให้ชัดเจน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน และรองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่จะถดถอยมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 แม้จะดูเหมือนดีแต่ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนแล้วยังต่ำมาก ทั้งนี้การประชุม APEC ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประโยชน์น้อยมาก บทบาทของผู้นำเทียบไม่ได้เลยกับบทบาทผู้นำของชาติอาเซียนอื่น นอกจากนี้ยังมีการทำร้ายผู้ประท้วงอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตาบอด และทำร้ายสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่เจริญแล้วที่การจัดประชุมแห่งชาติก็มักจะมีการประท้วงเป็นเรื่องปกติ แต่รัฐบาลที่มีคุณธรรมจะไม่มีการกระทำผู้ประท้วงแต่อย่างใด จึงอยากเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบด้วย
นอกจากนี้จากการลงพื้นที่ในเขตบางรักและเขตสาทร พบว่าประชาชนเดือดร้อนกันอย่างมากจากพิษเศรษฐกิจ มีหนี้สินจำนวนมาก แต่รายได้ไม่เพิ่มแถมลดลง ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายสูง หลายคนถึงกับขู่ว่าอยากตายเพราะสู้ต่อไปไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซหุงต้มที่พุ่งขึ้นสูงมาก ดังนั้นจึงอยากเสนอแนวในการแก้ไขราคาก๊าซหุงต้มดังนี้
ปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหด ที่กำลังจะขึ้นราคาจากหน่วยละ 4.72 บาท เป็นหน่วยละ 5.37 บาท หรือ 5.70 บาท และ อาจจะถึง 6.03 บาทได้ ทั้งที่ตอนต้นปีราคายังอยู่ที่หน่วยละ 3.70 บาทเลย ซึ่งนอกจากจะทำให้ ค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มสูงแล้ว จะทำให้ความสามารถแข่งขันของไทยลดลง เพราะค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่าค่าไฟฟ้าของประเทศคู่แข่งมาก สาเหตุหลักมาจาก ค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นสูง จากก๊าซอ่าวไทยที่มีปริมาณลดลง และ มีปัญหาการส่งมอบสัมปทานมาเพิ่มเติม และปัญหาก๊าซจากเมียนมาร์ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูง และใช้นำ้มันเตาและน้ำมันดีเซลที่มีราคาสูงเช่นกัน ทำให้ กฟผ. ขาดทุนเกือบ 2 แสนล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าความพร้อมให้กับโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแต่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเพราะมีกำลังการผลิตล้นเกินกว่า 50% ซึ่งยังมีโรงงานไฟฟ้าที่กำลังจะสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ภาระหนักมากขึ้น อีกทั้งยังจะอนุมัติใบอนุญาตไฟฟ้าเพิ่มกันอีกถึง 5,203 เมกกะวัตต์
ทางแก้เรื่องไฟฟ้าสามารถทำได้โดย การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศกัมพูชาตามที่ได้บอกไว้แล้ว นอกจากนั้นน่าจะยังสามารถเจรจาค่าความพร้อมให้ลดลงได้ นอกจากนี้รัฐควรเข้าไปไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทการส่งมอบสัมปทานในอ่าวไทยเพื่อให้ส่งมอบก๊าซได้ตามปกติ รวมถึงต้องพยายามให้ประเทศเมียนมาร์กลับสู่ปกติโดยเร็ว การส่งก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์มาไทยจะได้เป็นปกติ ไม่โดนวางระเบิด เป็นต้น
สำหรับปัญหาราคาก๊าซ LPG หรือ ก๊าซหุงต้มที่แพงนั้น รัฐสามารถที่จะเก็บเงินจากก๊าซ LPG ที่ส่งเข้าธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งในอดีตก็เคยทำมาแล้วในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย แต่ถูกยกเลิกไปหลังมีการปฏิวัติ ซึ่งควรต้องนำมาเก็บใหม่ และควรเก็บมากกว่าเดิมด้วย จะได้นำเงินมาลดราคาค่าก๊าซหุงต้มที่ประชาชนใข้อยู่ได้
การแก้ไขราคาพลังงาน ผู้นำต้องมีความรู้เรื่องพลังงานอย่างแท้จริง และ ต้องรู้โครงสร้างราคาพลังงานเพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขให้ถูกทาง และจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือตกอยู่ใต้อำนาจของบริษัทพลังงาน เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการลูบหน้าปะจมูก และจะไม่มีทางแก้ปัญหาพลังงานได้ ประชาชนจะยิ่งลำบากกันมากขึ้น
“จุฑาพร” ติง เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้น้อยเทียบกับอาเซียน ชี้ ประชุม APEC ดูแลชาวต่างชาติดี แต่กลับทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง
น.ส.จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน และโฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ 4.5% ซึ่งทำให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ไทยขยายตัวได้ 3.1% แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังขยายตัวต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนใน 9 เดือนที่ผ่านมา เช่น มาเลเซียขยายได้ 9.36% เวียดนาม 8.8% ฟิลิปปินส์ 7.76% และอินโดนิเซีย 5.39% แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ยังขยายได้ถึง 4.2% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าไทยขยายตัวได้ต่ำ ทั้งที่ประเทศอื่นในอาเซียนเศรษฐกิจดีกันหมด
การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในเขต บางรัก สาทร ปทุมวัน พบว่า ประชาชนเดือดร้อนหนักมาก จากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจ และค่าครองชีพสูงมากในแต่ละวัน ภาระหนี้สิ้นรุมเร้า หลายท่านกล่าวทั้งน้ำตา และสิ้นหวังในการใช้ชีวิต พ่อค้าแม่ค้าโอดขาดรายได้ จากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ที่ผ่านมา เพราะหลายพื้นที่โดนสั่งห้ามขายของ ในการประชุม APEC หมดเงินงบประมาณไปจำนวนมหาศาล แต่ประชาชนไทยกลับได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น บทบาทการเป็นผู้นำอาเซียนของนายกรัฐมนตรีไม่โดดเด่น ในขณะที่ครั้งนี้ ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียที่เป็นเจ้าภาพจัด G 20 ที่บาหลี ที่ปรากฏภาพ ประธานาธิบดีไบเดน จับมือกับ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กระจายออกไปทั่วโลก ทำให้การประชุม APEC ในไทยดูด้อยกว่า โดยประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้มา และ ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียที่บอกว่าจะมาก็ไม่ได้มาเช่นกัน และยังถูกเยาะเย้ยวิจารณ์จนเป็นเรื่องตลกขบขันเป็นวงกว้างจากการสะกดป้ายต้อนรับภาษาอังกฤษผิด
นอกจากนี้ปัญหาที่แย่หนักคือ การดูแลผู้นำจากทั่วโลกอย่างดี อาหารเริ่ดหรูหลากหลาย แต่กลับใช้ความรุนแรงกับคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะต่อผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมถึงกับตาบอด ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง อีกทั้งสื่อมวลชนจำนวนมากก็ได้รับบาดเจ็บในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นลบ ตอกย้ำกับรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากเผด็จการ ทั้งที่หากไปดูประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ เวลามีการจัดประชุมนานาชาติ ก็มักจะมีการชุมนุมประท้วงแสดงความเห็นอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ รัฐบาลไม่ควรใช้ความรุนแรงถึงขนาดนี้
เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวน และสถานการณ์โควิดที่อาจกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ส่งผลให้รัฐบาลยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างใกล้ชิด การประชุมนานาชาติที่สำคัญ กว่าประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพก็แสนยาก แต่พอเป็นเจ้าภาพแล้วกลับไม่สามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ แถมยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนอีกด้วย เลยทำให้การประชุม เอเปก จึงกลายเป็น เอ – แป๊ก เพราะแป๊ก เกิดประโยชน์น้อยกว่าที่ควร ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและลงแรงเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้
“เลิศศักดิ์” จี้ แก้ปัญหาหุ้น More กระทบนักลงทุน ชี้ ปัญหาถ่ายทอดบอลโลกสะท้อนความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส เลย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า
คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น ภายใต้การบริหารของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ แก้ปัญหาเรื่องหวยให้คนจนยังไม่สำเร็จ มาเจอปัญหาเรื่องหุ้น ที่อาจจะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และกระทรวงการคลัง เรื่องของมหากาพย์หุ้น MORE ปฎิบัติการปล้นโบรกเกอร์ 4 พันล้านบาท เป็นรูปแบบของการปั่นหุ้น บริษัท มอร์ รีเทินร์น จำกัด ( มหาชน ) และอาศัยวงเงินมาร์จิ้นของโบรกเกอร์ ซื้อขายในราคาโดยผู้ซื้อเพียงรายเดียวผ่านหลายโบรกเกอร์ และสุดท้ายอาจจะจงใจเบี้ยวจ่ายค่าหุ้นซึ่งจะส่งผลให้โบรกเกอร์ได้รับควมเสียหายกว่า 4500 ล้านบาท ยังไม่นับรวมนักลงทุนรายย่อยที่ต้องเสียหายจากราคาหุ้นที่ราคาร่วงลงอย่างหนักในวันเดียว อย่างไรก็ตามนับเป็นโชคดีที่ กลต. ยังแก้ไขปัญหาได้ทัน มีการระงับการจ่ายเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ปปง. ได้ทำการอายัดทรัพย์ผู้ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามก็ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องหามาตรการในการกำกับดูแล เพื่อป้องการการเข้ามาหาประโยชน์ รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่อาจปฎิเสธความรับผิดชอบความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดกับเศรษฐกิจโดยรวม และพี่น้องประชาชนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย เพราะคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ที่นายกรัฐมนตรีต้องเอาใจใส่ดูแลประชาชน ประเด็นต่อเนื่องกันที่อยากจะเตือนให้ระวัง และกำกับควบคุมให้ดีคือกรณีการออกหุ้นกู้ เป็นรูปแบบของตราสารหนี้เพื่อขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และรายย่อย ที่ขณะนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายสืบเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จึงนิยมออกหุ้นกู้เพื่อการระดมทุน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้มงวดในหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติการออกหุ้นกู้ เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนที่เลือกออมเงินโดยการซื้อหุ้นกู้ต้องมาเดือดร้อน และได้รับความเสียหาย ดังที่เคยเกิดเหตุการที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าของกืจการไม่รับผิดชอบใดๆ มีผู้เสียหายหลายหมื่นคน
อีกประเด็นสำคัญที่ยังต้องพูดถึง แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าได้แก้ปัญหาให้ประชาชนที่คาดหวังจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ประเทศการ์ต้าได้สำเร็จแล้ว โดยนำเงินของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในกองทุน กทปส ของกสทช. 600 ล้านบาท และยืมเงินจากกองทุนกีฬาชาติเพื่อสำรองจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด 33 ล้านเหรียญ หรือ 1200 ล้านบาท และอีก 200 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่าย รวมเป็นเงนกว่า 1400 ล้านบาท รัฐบาลไม่อาจที่จะอ้างความสำเร็จหรือความดีความชอบใดๆจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ได้เลย หากแต่ต้องออกมาขอโทษประชาชนจากความผิดพลาดในการบริหารงานด้านการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในวงการกีฬาของประเทศเช่น ประธานกองทุนกีฬาชาติ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ขาดการเอาใจใส่ดูแล ไม่มีการบูรณาการหน่วยงานกีฬาที่เกียวของเช่น กระทรววงท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ในการวางแผนการทำงาน ปล่อยให้ปัญหาบานปลายจนกระทบกับประชาชนและการกีฬา เช่นปัญหาเรื่องวาด้า ที่ประเทศไทยถูกแบนในการแข่งขันกีฬานานาชาติ ทั้งที่มีเวลาในการแก้ปัญหาล่วงหน้าเป็นปี
แม้กระทั่งเรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยได้คิวเป็นเจ้าภาพในปี 2568 จนถึงวันนี้ยังไม่ระบุจังหวัดที่จะเป็นเจ้าภาพ ขาดการเตรียมพร้อมที่ดี สุดท้ายก็จะลงเอยเหมือนกรณีวาด้า รวมถึงการถ่สยทอดสดฟุตบอลยูโร หรือฟุบอลโลก ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยมักจะอ้างว่าเป็นเรื่องของธุรกิจเอกชน หน่วยงานของรัฐไม่เกี่ยว ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น โดยการขจัดกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนในการถ่ายทอดสด เช่นกรณีกฎ MUST HAVE กสทช และท้ายที่สุดเรื่องการนำเงินกองทุนกีฬาชาติมาสำรองใช้ก่อน จากนั้นค่อยไปหาสปอนเซอร์มาสนับสนุน หากมีผลขาดทุนจะเอาเงินจากไหนไปคืนกองทุน รวมถึงปัญหาหาการจัดสรรคู่ถ่ายทอดสดให้เอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาสนับสนุน โดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชนที่เป็นเจ้าของร่วมกันของเงิน 600 ล้านบาทที่เอามาจากกสทช
“สรัสนันท์” ชี้ การประชุมเอเปค ไม่คุ้มกับที่ลงทุน ไทยได้ประโยชน์น้อยมาก
น.ส. สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการประชุมเอเปคโดยประเทศไทยครั้งนี้เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับครั้งก่อนที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมครั้งนี้พลเอกประยุทธ์ ทุ่มงบประมาณไปกว่า 3280 ล้านบาท แต่ไม่ได้อะไรกลับมาอย่างเป็นรูปธรรมแม้แต่อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปของสาระการประชุม หรือ การประชาสัมพันธ์โปรโมทประเทศอย่างคุ้มค่า โอกาสการสื่อสารความประเทศไทยที่น่าสนใจ ที่จะต่อยอดการท่องเที่ยวได้ทำได้ไม่ดี เป็นการประชุมที่แพงแต่ไม่ได้เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีภาพความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมชุมโดยเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเกินกว่าเหตุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสมากมาย
บทสรุปของการประชุมเอเปค2022ครั้งนี้ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ประเทศไทยได้ชูประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio- Circular Green economy) – เป็น “Bangkok Goals” หรือ “เป้าหมายกรุงเทพ” ซึ่งสาระล้วนทับซ้อนกับพันธกิจของ COP27 สาระไม่ต่างอะไรจากการประชุมอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโลกร้อนมากนัก ที่สำคัญประเทศไทยที่ชูเรื่องนี้มาเป็นเป้าหมายสำคัญ กลับยังไม่มีแผนใดๆตอบรับกับ โมเดล BCG เลย เมื่อดูวิธีการการจัดทำงบประมาณของปี 66 หน่วยงานรับงบประมาณ ข้าราชการต่างๆ ยังไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ซึ่งแผนงานการจัดงบก็เป็นไปในรูปแบบเดิมๆ
ประเทศไทยโดย พลเอกประยุทธ์ ในฐานะเจ้าภาพมีความพยายามที่จะหยิบแนวคิดเดิมๆ คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ การตกลงการค้าเสรีในเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ FTAAP ซึ่งตามหลักความเป็นจริง แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละเขตเศรษฐกิจมีการตกลงทวีภาคีอยู่แล้ว ไม่ก็พหุภาคีระดับภูมิภาคนั้น ฉะนั้นความตั้งใจจะลุล่วงข้อตกลงนี้ถือว่าไม่น่าสนใจ ดูดีเฉยๆ แต่หากว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ฉะนั้นสาระสำคัญของการประชุมเอเปค2022นี้ ถือว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ “สวยแต่รูป จูบไม่หอม” สื่อต่างชาติพูดถึงเอเปค2022 น้อยมาก เมื่อเทียบกับประชุม G20 ที่ประเทศอินนีเซีย หรือ การประชุม ASEAN ที่กัมพูชา ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
เขตเศรษฐกิจเอเปคถือว่ามีความสำคัญกับประเทศไทยมาก เพราะการค้าของไทยกว่า 70% ของประเทศไทยอยู่ในเขตเศรษฐกิจนี้ เราหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ไทยจะได้กลับอะไรมาเพิ่มเติม สามารถยกเรื่องต่างๆมาเจรจาได้ แต่เราเสียโอกาสครั้งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่เห็นผลรับอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ นอกจากเป็นเจ้าภาพนั่งร้านจัดงานประชุมเพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้หยิบฉวยโอกาสครั้งนี้ต่อยอดให้การท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพไม่สามารถเพิ่มมูลค่าการโปรโมทประเทศสู่สาธารณชนชาวโลกได้ การท่องเที่ยวไม่ได้รับอานิสงค์จากการประชุมครั้งนี้อย่างเต็มที่ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยที่มีมูลค่ามหาสาร ถ้าเปรียบเทียบกับการที่ประเทศเราเป็นเจ้าภาพภายใต้รัฐบาล ท่านนายกทักษิณ ชินวัตร ที่หยิบยกเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยถ่ายทอดผ่านการประชุมสุดยอดผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นนำผ้าไหมไทยมาตัดเย็บให้ผู้นำได้สวมใส่และร่วมถ่ายภาพหมู่ หรือการจัดขบวนพระยุหยาตราทางชลมารค ที่หาดูไม่ได้จากที่ไหน ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก หรือการพาคณะผู้นำประเทศไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ภาพเหล่านี้ ประเมินมูลค่าเพิ่มที่สร้างให้ประเทศไม่ได้เลย แต่สิ่งเล่านี้เราหาไม่ได้จากการเป็นเจ้าภาพในปีนี้เลย
นอกจากภาพการประชุม หรือการให้การรับรองผู้นำต่างๆนี้แล้ว สิ่งที่ได้ถูกเผยแพร่ออกไปและเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติเป็นอย่างมากคือ ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นจาก คฝ.ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมชุมที่เกินกว่าเหตุ ถึงขั้นใช้กระสุนยางทำร้ายประชาชนได้รับบาดเจ็บอย่างหนักหลายราย รวมไปถึงผู้สื่อข่าว ภาพเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวของประชาชน ดีแต่สร้างภาพกับต่างชาติ ในขณะเดียวกันปฎิบัติกับประชาชนประเทศตัวเองเยี่ยงมนุษย์ที่ไร้ค่าไร้ศักดิ์ศรี รัฐบาลภายใต้พลเอกประยุทธ์ไม่เคยให้เกียรติ หรือ สิทธิเสรีภาพกับประชาชน ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในทุกๆกรณีทั้งที่เป็นสิทธิของประชาชน