“พิชัย” หนุน กกร. ระงับขึ้นค่าไฟฟ้า และเห็นด้วยกับ 5 ข้อเสนอ จี้ ต้องหยุดให้ใบอนุญาตไฟฟ้าเพิ่ม รวมถึง 5,203 เมกกะวัตต์ แนะ ผู้นำต้องเข้าใจปัญหาพลังงานที่กระทบทุกด้าน อย่าคิดแค่เอื้อนายทุน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน และรองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารไทย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้า พร้อมขอเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ เพื่อชี้แจง และจะแถลงข่าวในวันนี้ โดยให้เหตุผลเหมือนกับที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยแถลงคัดค้านไว้นานแล้ว และ นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร กทม. เขต บางรัก สาทร ปทุมวัน โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจ ได้แถลงตอกย้ำเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อมากขึ้น สร้างความลำบากให้กับประชาชน อีกทั้งยังทำให้ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยลดลง เพราะราคาไฟฟ้าของประเทศเวียดนามหน่วยละ 2.88 บาทเท่านั้น และความสามารถแข่งขันของไทยหล่นลงมาตลอด ทั้งนี้ กกร. ได้มี 5 ข้อเสนอ ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยและเป็นเหตุเป็นผลดังนี้
- การตรึงราคาค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรผลักภาระการตรึงราคาไฟฟ้าของครัวเรือนไปภาคส่วนอื่น เช่นภาคธุรกิจ ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ต้องยอมรับก่อนว่าปัญหาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลในหลายด้าน ทั้งการส่งมอบสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทย การให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไปมากถึงกว่า 50% ทั้งที่ตามหลักการต้องผลิตเกินแค่ 15% เท่านั้น ทำให้ต้องเสียค่าความพร้อมเป็นจำนวนเงินสูงมาก
- ขยายเงินกู้ให้กับ กฟผ. เป็น 2 ปี เพื่อให้ กฟผ. แบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน โดยหยุดการส่งเงินกำไรเข้าคลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำ อีกทั้งมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะมีราคาลดลง หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาสัมปทานในอ่าวไทยได้ และราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงเท่ากับก่อนที่จะสงครามรัสเซียยูเครนแล้ว และราคาก๊าซธรรมชาติน่าจะลดลงหลังจากหมดช่วงฤดูหนาวในยุโรปและสหรัฐ ซึ่งจะให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าลดลงด้วย อีกทั้งถ้ารัฐบาลจะเจรจาต่อรองจ่ายค่าความพร้อมลดลงสำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตส่วนเกินและไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแต่ต้องจ่ายถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาท ก็จะลดค่า FT ลงมาได้
- ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ขอให้ปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถพิจารณาหาทางช่วยเหลือได้
- ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วงไฟฟ้ามีราคาถูก หรือออฟพีคมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระจายการใช้ไฟฟ้า ไม่ให้มีการใช้ไฟฟ้ามากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมากเกินไป อีกทั้งส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้า ซึ่งเป็นทิศทางพลังงานของโลก ซึ่งควรสนับสนุน
- เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.ด้านพลังงาน) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำงานร่วมกันโดยเอกชนจะควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องพลังงาน เพราะราคาพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชนเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ต้องมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกันกับภาคเอกชน เพื่อนำประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่ขึ้นราคาแบบมหาโหดต้นปีอยู่ที่หน่วยละ 3.70 บาท ปลายปีจะพุ่งถึงถึง 5.69 บาท หรือปรับขึ้นถึง 53% ซึ่งภาคธุรกิจคงรับกันไม่ไหว เพราะปรับตัวไม่ทัน
นอกจาก 5 ข้อเสนอของ กกร. แล้ว คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ยังอยากเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการให้ใบอนุญาตไฟฟ้าจำนวน 5.203 เมกกะวัตต์ไว้ก่อน แม้ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนที่เป็นทิศทางของโลก ทั้งนี้เพราะปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการสูงกว่า 50% บางครั้งสูงถึง 57% ซึ่งทำให้เสียค่าความพร้อมสูงมากและยังมีโรงงานไฟฟ้าที่ได้ใบอนุญาตที่จะสร้างเสร็จเพิ่มอีก การให้ใบอนุญาตไฟฟ้าเพิ่มจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าล้นกว่าเดิม นอกจากนี้จากข้อมูลที่ได้รับ มีข้อสงสัยว่าจะมีการการเอื้อประโยชน์ผู้ผลิตรายใหญ่ทำให้เป็นการล็อกสเป็กให้นายทุนบางรายเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้ที่ผลิตเกินมาก็มาจากการเอื้อประโยชน์นายทุนพลังงานอยู่แล้ว เหมือนที่เคยบอกไว้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าล้นเกินมาก ราคาไฟฟ้ามีราคาพุ่งสูง ประชาชนเดือดร้อนกันมาก แต่มหาเศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของไทยกลับมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อีกทั้งมหาเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ก็มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าเช่นกันแถมเป็นคนจากประเทศลาว และใน 10 อับดับมหาเศรษฐีหุ้นของไทย มีมหาเศรษฐีพลังงานถึง 3 คน แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องเป็นการบริหารด้านพลังงานที่ผิดพลาด ที่ปัญหาพลังงานมีมากมายแต่กลับมีผลลัพธ์ที่มีมหาเศรษฐีมากเช่นนี้ ผู้นำน่าจะตามนายทุนพลังงานไม่ทันและอาจจะตกเป็นเบี้ยล่างของนายทุนพลังงานก็เป็นได้
และเรื่องสุดท้ายที่ต้องขอตอกย้ำคือการเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับก๊าซในราคาถูก สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงได้มาก ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซในอ่าวไทยและก๊าซจากเมียนมาร์จะอยู่เพียงหน่วยละ 2-3 บาทเท่านั้นและไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานเพราะมีแหล่งพลังงานเอง อีกทั้งยังจะได้รายได้จากค่าภาคหลวงปีละหลายแสนล้านบาทไปอีกเป็นสิบๆ ปี เพื่อนำเงินมาทำสวัสดิการให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุอีกด้วย นอกจากนี้ก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนนี้จะสามารถนำเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจปิโตรเคมีที่ประเทศไทยมีธุรกิจปิโตรเคมีนี้เป็นมูลค่ามหาศาลอีกด้วย ซึ่งจะทำรายได้หมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจไทยปีละเป็นล้านๆ บาทได้เลย จึงขอให้เร่งดำเนินการในทันที เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยทั้งประเทศ และช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้
ดังนั้น เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำของประเทศจะต้องมีความรู้เรื่องพลังงาน และต้องรู้ถึงความสำคัญของพลังงานต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน จะตามใจนายทุนพลังงานอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมากเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน