เพื่อไทย ยันอภิปราย 152 บรรลุเป้าหมาย เหตุชี้เป้าความล้มเหลว 4 ด้านของ ‘ประยุทธ์’ ให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้ง ยิ่งอยู่ต่อยิ่งพังไปอีก 8 เรื่อง ทั้งการค้า การลงทุน การต่างประเทศ

(21 กุมภาพันธ์ 2566) พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา ‘คำถามที่ประยุทธ์ตอบไม่ได้ ทำไมถึงอยากไปต่อ’ โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในมุมของฝ่ายค้าน การอภิปรายตามมาตรา 152 เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์การทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี แม้การอภิปรายตามมาตรา 152 กำหนดไว้ให้สอบถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ แต่กระบวนการการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำเสมือนการอภิปรายแบบมีการลงมติ คนลงมติคือพี่น้องประชาชนที่จะพิจารณาว่า จะให้ลงคะแนนในการเลือกตั้งต่อไปหรือไม่

ทั้งนี้ ในการอภิปรายตามมาตรา 152 เน้นย้ำประเด็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในสมัย 4 ปีนี้และสมัยต่อเนื่องมาจาก 4 ปี จากรัฐบาล คสช. เพราะมีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันใน 4 เรื่องหลัก คือ

  1. มิติทางการเมืองการปกครอง การเมืองยุคนี้ เป็นประชาธิปไตยเงินสด หรือธนกิจการเมือง มีการใช้เงิน ใช้อำนาจเพื่อให้อยู่ในอำนาจและสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำกติกา วางกติกาให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการแจกกล้วยเพื่อให้ ส.ส. มีความเห็นร่วมกัน
  2. มิติเชิงเศรษฐกิจ ใน 8 ปีที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่ง การทำมาหากิน ค่าแรง การดำรงชีวิต ปัญหาที่ทำกิน หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน การกู้เงิน 5.7 ล้านล้านบาท ด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการบริการของรัฐ การเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงปัญหายาเสพติด
  3. มิติทางสังคม คือความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการเข้าถึงการบริการของภาครัฐ การบริหารราชการแผ่นดินที่เอาผลประโยชน์เข้ากับพวกพ้อง ประเด็นเรื่องเหมืองทองอัครา ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีคำตอบ ปัญหายาเสพติดกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหารายได้ การคอร์รัปชัน การส่งส่วย อำนาจทุนจีนสีเทา ที่กระทบไปถึงภาคเกษตร ให้ล้งต่างชาติมาชี้นำการขาย ทำให้เกษตรกรกลายเป็นลูกไล่ กินน้ำใต้ศอก
  4. อาชญากรรมทางด้านไซเบอร์บานเป็นดอกเห็ด พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบมากจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ทำลายมิติเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวอีกว่า พลเอกประยุทธ์ต้องมีคำตอบให้สังคม แต่ตอบแบบโต้วาทีและย้อนความผิดให้รัฐบาลเดิม ต้องขอบคุณทีมพลเอกประยุทธ์ที่คิดการตอบแบบนี้ ถือเป็นการทำลายพลเอกประยุทธ์โดยไม่รู้ตัว

“หลานของคุณได้งานเป็น 1 พันล้าน มันมาจากการแข่งขันที่แท้จริงหรือไม่ เรื่องพวกนี้คุณบอกว่าไม่เคยทุจริตซักบาท แต่คนรอบข้างตัวคุณมีรายได้มหาศาลจาก 3 แสนล้าน ขึ้นมา 9 แสนล้านบาท เกือบสามเท่าตัวคืออะไร พลเอกประยุทธ์และคณะไม่ใช้โอกาสนี้ตอบ และชี้แจงกับประชาชน ถือว่าช่วยไม่ได้ ซึ่งคะแนนในวันเลือกตั้งจะเป็นมติ ผมมั่นใจว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะได้คะแนนอย่างถล่มทลาย” นายแพทย์ชลน่าน กล่าว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เคยยอมรับว่าตนเองผิดพลาด หากอยู่ในอำนาจต่อ จะไม่มีทางแก้ไขได้เลย 8 เรื่อง

1.การต่างประเทศ หลังรัฐประหารประเทศไทยหาที่ยืนบนเวทีต่างประเทศไม่ได้ จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของนานาประเทศ ที่มองมาภูมิภาคนี้พบว่า นานาประเทศให้ความสนใจ 2 ประเด็นได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศทำได้มากน้อยเพียงใด จากกรณีที่ประเทศไทยไม่แสดงความยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศจากกรณีงดออกเสียงความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ประเด็นที่ 2 คือ กรณีที่ทั่วโลกมีมติให้เมียนมาคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว ประเทศไทยที่ควรทำได้ดีในเรื่องนี้ที่สุด กลับไม่ทำและยังทำตรงข้าม ตอนนี้ประเทศไทยกลายเป็นตัวตลกในเวทีการต่างประเทศ เราไม่สามารถร่วมมือกับต่างประเทศได้

2.รัฐบาลไทยไม่สามารถมีความตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศใหญ่ๆ ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการเป็นไปแบบมะงุมมะงาหรา ภาพพจน์ประเทศตกต่ำ ไทยเสียโอกาสส่งออกมหาศาล หากพลเอกประยุทธ์อยู่ต่อ จะทำเรื่องนี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ

3.ความล้มเหลวในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานล่าช้า พัฒนาคนให้มีทักษะเพื่อรู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ล่าช้า ไม่แก้ไขกติกาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

4.ทำลายหลักนิติธรรม ทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ ใช้อำนาจไม่ถูกต้องในการยกเลิกการดำเนินการของบริษัทต่างประเทศ การรับรองแรงงานข้ามชาติมีระบบการรีดไถเกลื่อน

5.นโยบายการคลังที่ก่อหนี้สูง

6.การทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการ องค์กรตรวจสอบถูกรับรองโดยวุฒิสภา

7.วางระบบการบริหารประเทศ โดยใช้ฝ่ายความมั่นคงครอบงำการบริหารราชการแผ่นดิน

8.ทำประเทศเสียหาย ขาดรายได้จากการประมงหลายแสนล้านบาท

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า หากพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ไม่มีทางจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้และไม่สมควรจะอยู่ต่อไป ตนหาเหตุผลไม่ได้ว่าพลเอกประยุทธ์ต้องการอยู่ต่อเพื่อทำอะไรในทางที่ดีให้กับประเทศ สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องการคือเวลาเคลียร์เรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องทุจริต และการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ พูดเองในสภาว่าคดีทุจริตมี 300-400 คดี เกิดความเสียหายกรณีปิดเหมืองทองอัตรา 40,000 ล้านบาท และยังให้เอกชนสำรวจเพิ่ม พลเอกประยุทธ์ เอาทรัพยากรของประเทศไปให้ต่างประเทศได้อย่างไร หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้องค์กรอิสระ เป็นองค์ที่อิสระจริง พลเอกประยุทธ์เสพติดอำนาจ คล้ายกับผู้นำบางประเทศที่มาจากรัฐประหารในอดีต ทีดิ้นรนเพื่ออยู่ต่อให้ได้ มีการสร้างพรรคใหม่ ไปหาเสียงยังไม่รู้เลยว่านโยบายคืออะไร อุดมการณ์คืออะไร

“ไล่ดูแต่ละเรื่องที่ทำไว้มีแต่ติดลบ โตช้า ความเสียหายเต็มไปหมด และยังขอเวลาอยู่อีก 2 ปี บอกว่าจะพลิกโฉมประเทศ ก็เท่ากับว่ายอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยคนเดิม ซึ่งก็ขัดกัน เมื่อก่อนคงกล่าวว่า คนลงจากหลังเสือไม่ได้ แต่ตอนนี้เป็นวัวอยู่บนหลังเสือ เป็นวัวสันหลังหวะที่อยู่บนหลังเสือ” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 ที่ฝ่ายค้านได้เปิดเผยปัญหาต่างๆที่รัฐบาลที่สร้างขึ้นตลอด 8 ปี แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบไม่ตรงกับที่ฝ่ายค้านอภิปราย ทั้งเรื่อง การทุจริตคอรัปชั่นที่กระจาย เรื่องทุนจีนสีเทา ที่มีการพูดถึงว่าในสมัยพลเอกประยุทธ์ได้เปลี่ยนจากตำรวจที่มีสีกากีให้กลายเป็นสีเทาแล้ว รวมถึงความพัวพันในธุรกิจของเครือญาติพลเอกประยุทธ์กับทุนจีนสีเทานี้ พฤติกรรมของตำรวจภายใต้การกำกับดูแล และ บังคับบัญชาโดยพลเอกประยุทธ์ และความล้มเหลวในการบริหารประเทศในทุกด้าน

โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่พลเอกประยุทธ์ยอมรับเองว่าไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ โดยล่าสุด สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โดยขยายตัวได้เพียง 1.4% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2565 ทั้งปี ขยายได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าที่คาดประมาณอย่างมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากการส่งออกที่ติดลบถึง 10.5% ในไตรมาสที่ 4 นี้ที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้แล้ว และสภาพัฒน์ยังเตือนว่าการส่งออกในปี 2566 นี้จะติดลบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และสภาพัฒน์ยังลดการคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียง 3.2% หรืออาจจะต่ำกว่านึ้ก็เป็นได้ อีกทั้งคนไทยยังมีรายได้ต่อหัวต่อคนลดลงในรูปดอลล่าร์ โดยตลอด 8 ปีมานี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์มาตลอด และ ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก ดังนั้นที่อ้างว่าเศรษฐกิจดีจนมีคนชมเชยนั้นจึงไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 ที่ขยายได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนมาก โดยเศรษฐกิจมาเลเซียที่เป็นประเทศรายได้สูงแล้วยังขยายได้ถึง 8.7% เวียดนามขยายได้ 8.0% ฟิลิปปินส์ 7.8% อินโดนิเซีย 5.3% แม้กระทั่งสิงคโปร์ยังขยายได้ 3.8% ซึ่งเท่ากับไทยขยายตัวได้ต่ำที่สุด และเป็นแบบนี้มาตลอด 8 ปีแล้วไม่ใช่เพียงปีนี้

ทั้งนี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงที่พรรคเพื่อไทยเตือนเริ่มเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปัญหาหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดโดยเฉพาะหนึ้เสียในภาคธนาคาร เศรษฐกิจโลกที่ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้นที่เพิ่มภาระประชาชนทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอึดจากเดือนมกราคมที่ยังพุ่งต่ออีก 5.02% หลังปีที่แล้วเงินเฟ้อพุ่งไป 6.08% และ ปัญหาราคาพลังงานที่ราคาในตลาดโลกลดแล้ว แต่ไทยกลับไม่ยอมลด แถมก๊าซหุงต้มยังจะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างความลำบากอย่างมาก

ปัญหาเหล่านี้พลเอกประยุทธ์ตอบไม่ได้ แต่ทำไมจึงอยากจะไปต่อ ซึ่งหากปล่อยให้รัฐบาลนี้บริหารต่อไป เศรษฐกิจไทยจะทรุดลงไปอีก จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนการบริหารและต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทั้งหมดเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งเรื่องราคาพลังงานที่จะต้องลดลง การสร้างรายได้ใหม่ การงทุนและสร้างธุรกิจ สมัยใหม่ เป็นต้น การปรับเปลี่ยนประเทศในหลายๆด้านไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ก้าวหน้าทันประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนที่จะสายเกินไป