นายกฯ ชู ‘ซอฟต์พาวเวอร์ ’เครื่องยนต์ใหม่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจพุ่งทะยานในทศวรรษหน้า
นายกฯ ชู ‘ซอฟต์พาวเวอร์ ’เครื่องยนต์ใหม่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจพุ่งทะยานในทศวรรษหน้า
วันที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ณ งาน DailyNews Talk 2024 : Soft Power โอกาสประเทศไทย ณ โรงแรม แกรนด์ไฮแอทเอราวัณ ที่ห้องแกรนด์บอลรูม 2 – 3 พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปอย่างไรให้มีพลัง” ในงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Dailynews Talk 2024) “Soft Power: โอกาสประเทศไทย”
โดยนายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวในวันนี้ ประเทศไทย ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งการจะยกระดับให้เป็นประเทศรายได้สูง คงไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยปัจจัยเรื่องความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพของการศึกษา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศไทยให้พุ่งทะยานภายในทศวรรษหน้า และจะเป็นนโยบายที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้หลายสิบล้านคน ทั้งนี้ ประเทศไทย เราร่ำรวยด้วยทุนวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ ขายได้ พัฒนาได้ ทำให้ชาวต่างชาติหลงใหลได้ไม่ยากอยู่แล้ว และดิฉันเชื่อมั่นว่า คนไทยเก่ง มีศักยภาพ มีทักษะสร้างสรรค์ที่รอโอกาสในการพัฒนา
“สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนกับรัฐบาล เราคือหุ้นส่วนประเทศไทยร่วมกันค่ะหุ้นส่วนประเทศไทยจะช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรือง เป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูง และคนไทยทุกคนไม่ยากจนอีกต่อไปเมื่อพี่น้องประชาชนพัฒนาศักยภาพทักษะของตัวเอง ยกระดับรายได้และฐานะให้ร่ำรวยรัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย ภาษีที่เก็บได้จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองขึ้นไปอีกมาทำงานร่วมกันเพื่อประเทศที่เรารักของเราทุกคนกัน”
นายกรัฐมนตรี กล่าว
“รัฐบาลอยากเห็นการพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ เราอยากยกระดับช่างศิลป์ทุกคน ทุกท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ใช้ทักษะสร้างสรรค์แบบนี้ไปให้ถึงระดับโลก”
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเป้าหมายของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ไว้ว่า ต้องการทำให้คนไทยสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทุกสาขาได้ยกระดับสินค้าและบริการจากวัฒนธรรมไทย ให้มีคุณภาพมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น มีเสน่ห์มากขึ้น และยังยกตัวอย่างช่างศิลป์อย่าง Korakot แบรนด์ปฏิมากรรมไม้ไผ่จากภูมิปัญญาไทย ที่เป็นทำให้เห็นถึงความสำเร็จของช่างศิลป์ระดับโลกที่เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอยากพาช่างศิลป์ไทยให้ไปถึง เพื่อรองรับกับตลาดโลกที่เติบโตอย่างไม่จำกัด
“เทคโนโลยีการถนอมอาหารคือโอกาสใหม่ของอาหารไทย นึกภาพ ถ้าเรามีโรงสีข้าวในชุมชนได้ เราก็สามารถมีนวัตกรรมถนอมอาหารแบบเครื่องรีทอร์ทในชุมชน ชุมชนไหนที่มีเมนูเด็ด สามารถเพิ่มมูลค่าเมนูเด็ดของชุมชนให้สามารถส่งออกได้ทั่วโลกมากมาย”
นายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อว่า วงการอาหาร เราต้องเปลี่ยนประเทศไทย จากเกษตรกรรมที่ส่งออกพืชผล สู่อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ นอกจากจะผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ให้มีร้านอาหารไทยที่มีรสชาติแท้ และใส่ความคิดสร้างสรรค์ในทุกจานไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว ยังจะส่งออกอาหารไทยพร้อมทานที่มีรสชาติอร่อย โดยใช้เทคโนโลยีถนอมอาหาร พร้อมเติมนวัตกรรม Food Lab ที่ช่วยเสริมสร้างราคาและคุณค่าให้กับจานอาหารไทยให้ออกสู่ทุกมุมโลก
“ประเทศไทยยังมีโอกาส ในอุตสาหกรรม Wellness เรามีครบวงจร เรื่องอาหารสุขภาพ สมุนไพรไทย เรามีภูมิปัญญาซึ่งเป็นมรดกโลก อย่างการนวดไทย มีมวยไทยสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและยังโด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงความแข็งแกร่งทางการแพทย์ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในอุตสาหกรรม Wellness”
สำหรับอุตสาหกรรม Wellness ประเทศไทยนั้นมีครบวงจรทั้งสมุนไพรพื้นถิ่น อาหารสุขภาพ กีฬามวยไทยที่ดังไปทั่วโลก จนไปถึงระบบสาธารณสุขที่ติดอันดับโลก ทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวสาย Wellness ในปัจจุบัน โดยโอกาสนี้ทำให้ไทยมีโอกาสในวงการ Wellness ที่มีการเติบโตสูงและยังสามารถพัฒนาไปพร้อมกันเพื่อรองรับการเติบโตได้อีกด้วย