คลัง ชงแก้ พ.ร.ก.ฉ้อโกงฯ เอาผิด ‘ดิไอคอน’ – คดีหลอกลวงลงทุน
ชงแก้ พ.ร.ก.กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงฯ จากกรณี ‘ดิไอคอน’ ให้สามารถเอาผิดแม่ข่ายระดับกลาง-ล่าง เพิ่มโทษให้เหมาะสมกับความเสียหาย หากผู้ต้องหาหนีอายุความไม่หมด คาดจะแก้กม.เสร็จภายใน 2-3 เดือนและประกาศใช้เร็วที่สุด
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบกระทู้ถามด้วยวาจานาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. ในที่ประชุมวุฒิสภา เรื่องการแก้ไขปัญหาขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่ที่กระทบต่อเศรษฐกิจว่า กำลังเร่งแก้ไข พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 สาระสำคัญคือให้กฎหมายสามารถเอาผิดแม่ข่ายระดับกลาง-ล่าง, เพิ่มโทษให้เหมาะสมกับความเสียหายมหาศาล, หากผู้ต้องหาหนีอายุความไม่หมด, ผู้เสียหายฟ้องล้มละลายได้ โดยจะเร่งแก้ให้เสร็จใน 2-3 เดือนและประกาศใช้ทันที
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจอย่างยิ่งและมีข้อสั่งการใน ครม. และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการ เช่น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปดูแลเรื่องคดีความ กระทรวงยุติธรรม ให้ไปดูแลในขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อย สคบ.ให้ไปดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงการคลัง ให้ไปดูเรื่องการปรับแก้ขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำเป็น หากเราติดตามข่าวสารนี้จะพบว่า ฝ่ายปฏิบัติ เช่น สตช. มีการปฏิบ้ติการอย่างรวดเร็ว จับกุมผู้เกี่ยวข้อง อายัดทรัพย์ไปจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ สตช. กำลังดูแลอยู่ทั้งอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ บัญชีเงินทอง รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นข่าว ทั้งหมดหน่วยงานเกี่ยวข้องจะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ในเรื่องการดำเนินการ ได้มีการเร่งรัดให้ลุล่วงโดยเร็ว แต่ต้องเรียนให้ทราบว่า เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545, พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งเก่ามาก, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้โภค พ.ศ.2522, กฎหมายอาญา, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ. ป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกฏหมายเหล่านี้ก็อาจมีความล้าสมัย ไม่ทันกาล และก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายหลายฉบับที่ยกร่าง เช่น พ.ร.ก.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ออกมาบังคับใช้อย่างเร่งด่วนสมัยแชร์แม่ชม้อย ไม่มีผู้ดูแลชัดเจน ก็เอาไปให้ผู้ดูแลตามกฎหมายคือรัฐมนตรี ทำให้กฎหมายนี้ไปอยู่ในมือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่เป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย ไม่ได้เป็นหน่วยงานเชิงปฏิบัติ กลไกดำเนินการก็ต้องรอให้มีผู้มาร้องกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก่อนจึงนำข้อมูลที่ได้ไปร้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง
จึงมีการหารือว่า ถึงเวลาต้องแก้ไข โดยเบื้องต้นต้องแก้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ หลายประเด็นให้ทันสมัย และตรวจร่างโดยสำนักงานกฤษฎีกา เข้าสู่ ครม. ประกาศใช้ และให้สภาอนุมัติ โดยประเด็นแก้ไขเบื้องต้นมีดังนี้
- กฎหมายปัจจุบันยังมีช่องโหว่เอาผิดแม่ข่ายไม่ได้ จะแก้ไขให้สามารถเอาผิดแม่ข่ายระดับกลาง และระดับล่างได้
- การเพิ่มโทษให้ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะโทษเดิมบางจุดไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหาย เช่น โทษปรับหลักแสนบาท แต่ความเสียหายจริง ณ ปัจจุบัน 1,600 ล้านบาทแล้ว
- อายุความ กฎหมายปัจจุบัน หากผู้ถูกกล่าวโทษหลบหนีจนขาดอายุความ คดีความเป็นอันขาดด้วย จะแก้ไขให้อายุความหยุดลงกรณีผู้ต้องหาหลบหนี จะช่วยป้องกันการหลบหนีคดีความจะได้ไม่ขาด จะได้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
- เปลี่ยนผู้รักษาการตามกฎหมาย จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย ก็ควรแก้เป็นกระทรวงยุติธรรม หรือดีเอสไอ เป็นต้น เพื่อให้กฎหมายอยู่ในมือผู้ถือกฎหมายและเป็นวันสต๊อปเซอร์วิส
- การฟ้องล้มละลาย ปกติกระทรวงการคลังต้องส่งผ่านไปยังอัยการ ก็อาจปรับเปลี่ยนให้ สตช. หรือ ผู้เสียหายสามารถฟ้องล้มละลายได้
- กฎหมายต้องมีความยืดหยุ่น เพราะรูปแบบการฉ้อโกงมีความหลากหลายซับซ้อน และเราเชื่อว่าไม่หยุดแค่นี้ ปีนี้ ปีหน้า สิบปีข้างหน้าคงเปลี่ยนไปเรื่อย ดังนั้นกฏหมายจะต้องยืดหยุ่น รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงการฉ้อโกงในประเภทต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายจุลพันธ์ คาดว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เสนอให้รัฐสภาอนุมัติ เพื่อใช้ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการฉ้อโกงต่อไปในอนาคต