ชวนอ่าน! ข้อถกเถียง สส. อะไร ‘ขัด-ไม่ขัด’ หลังสภาคว่ำร่าง ‘พ.ร.บ.บริหารบุคคลท้องถิ่น’

ชวนอ่าน! ข้อถกเถียงของ สส. เพื่อไทย หลากหลายมุมมองในการแสดงความเห็น อะไร ‘ขัด-ไม่ขัดหลักการ’ หลังสภาคว่ำร่าง ‘พ.ร.บ.บริหารบุคคลท้องถิ่น’

จากกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ …) พ.ศ. .. แล้วมีประเด็นถกเถียงเรื่องของการร่างกฎหมายว่า หลักการของกฎหมายที่เสนอนั้น “ขัดต่อหลักการ” หรือ “เกินไปกว่าหลักการ” จากร่างกฎหมายที่เสนอในชั้นรับหลักการ (วาระ 1 ) นั้น 

พรรคเพื่อไทย ขอนำความเห็นส่วนหนึ่งจากคำอภิปรายของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ ที่ต่างมีความเห็นที่หลากหลาย ร่วมกันเสนอแนวคิดรวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและทำความเข้าใจในกระบวนการนิติบัญญัติ

[ร่าง กม. แต่ขัดหลักการ แก้ไขอย่างไร]

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างพระราชบัญญัตินี้  หลังจาก กมธ. ได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้เสร็จและเสนอกลับเข้ามายังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมนี้ได้แสดงความเห็นทักท้วงว่า ร่างฯนี้ “ขัดหลักการของร่างหลักที่รับไป” เพราะใช้ร่างของนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ในการพิจารณา 

นายแพทย์ชลน่าน เสนอทางออกว่า การแก้ไขหลักการที่ขัดกับร่างหลักนั้น ทำได้  ซึ่งหลังจากนั้น กมธ. ได้นำกลับไปปรับปรุงมาเสนอสภาใหม่  

[แก้ไขหลักการ กม.ได้ ต้องให้สภาเห็นชอบ]

โดยปกติแล้ว หาก กมธ. แก้ไขหลักการของกฎหมายนั้นถือเป็นการขัดข้อบังคับ แต่ถ้าทำมาด้วยความมีเหตุผลเกิดประโยชน์สูงสุด และนำมาเสนอให้สภาฯ “ให้ความเห็นชอบ” ทำได้  

วิธีการที่จะทำให้ “สภาเห็นชอบ” คือ การใส่ข้อสังเกตระบุไว้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลักการใด ด้วยเหตุผลอะไร เพื่อให้สภาฯ เห็นชอบข้อสังเกต ซึ่งการเห็นชอบตัวบท  ต้องเห็นชอบกับข้อสังเกต  ก็สามารถดำเนินการต่อได้ 

[ถ้อยคำ กม. ต้องชัดเจน]

สิ่งที่สภา ต้องให้ความสำคัญคือ เรื่องกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมที่ถูกเสนอมาในสภา มักจะเขียนหลักการและนำถ้อยคำในหลักการไปเขียนในตัวบท เช่นกฏหมายฉบับนี้ ที่มักใช้คำว่า 

“สอบคัดเลือก” “สอบแข่งขัน” หรือ “คัดเลือก” หรือ “แข่งขัน” เป็นต้น 

เมื่อนำคำดังกล่าวมาใช้ แล้วตัดคำว่า “สอบ” ออกไป จึงเป็นการแก้หลักการ 

จุดนี้ ต้องแก้ไขตั้งแต่ขั้นรับหลักการ คือ  ‘ไม่รับ’  เพื่อไม่ให้การรับหลักการดังกล่าว มัดมือมัดเท้าให้ สส.ต้องยอมรับ

[ต้องระวังเรื่อง หลักการ กม.ขัดกันตั้งแต่ชั้นรับหลักการ]

การประชุมสภาสมัยนี้ ที่ประชุมมักพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอมาแล้ว ทั้งฉบับคณะรัฐมนตรี ฉบับพรรคการเมือง ฉบับ สส. ฉบับฝ่ายค้าน และขอให้รับหลักการไปทั้งหมด ทั้งที่กฎหมายบางฉบับ มีหลักการขัดกันเราก็รับ  เช่น ร่างกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ …) พ.ศ. 

เดิมในชั้นรับหลักการวาระ 1 มาจากร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่เสนอมาพร้อมกัน หลักการขัดกันชัดเจน แต่สภาฯ รับทั้งหมด 

ความแตกต่างของแต่ละร่าง  พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ …) พ.ศ. 

1.ร่างของนายครูมานิตย์  ให้คณะกรรมการ อบจ. มีหน้าที่จัดสอบแข่งขัน การคัดเลือก เป็นหน้าที่ กรรมการ จังหวัด 

2.ของ สส.อีกท่าน ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. เอาอำนาจคืนท้องถิ่นคือ อบต. เทศบาล ซึ่งคนละหน่วยงาน  มีหน้าที่อำนาจแตกต่างกัน ซึ่งสภาฯ รับหลักการนี้มาตั้งแต่ชั้นแรก และพยายามนำมาแก้ไขจนเป็นร่างสุดท้ายนี้ 

[การนำหลักการของทุกร่างมารวมกัน ไม่ขัดหลักการ]

เมื่อร่างกฏหมายของ กมธ.ที่เสนอมาเกินหลักการจากร่างหลัก  หาก “นำเอาหลักการของทุกร่างมารวมจะไม่ขัดหลักการ” แต่ในการจัดทำในชั้น กมธ. ต้องเขียนให้ชัดเจน  โดย กมธ.ต้องบอกว่า ใช้ร่างนี้เป็นร่างหลัก มีหลักการอย่างไร  

แต่เมื่อพิจารณาแล้วกมธ.เห็นว่าควรเพิ่มหลักการตามร่างอื่นๆ ที่เสนอเข้ามาด้วย และบันทึกไว้เป็นข้อสังเกตให้ชัดเจนพร้อมบันทึกเหตุผลให้ชัดว่าหลักการนี้ มีที่มาอย่างไร จากร่างฉบับใด  ด้วยเหตุผลใด  จะง่ายต่อการพิจารณา 

[ดูให้ชัด ไม่ชอบเนื้อหาหรือขัดหลักการ]

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ  ยกตัวอย่างว่า ตอนที่เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่หมดความจำเป็น  โดยใช้ร่างหลักของ ครม.ที่จะยกเลิก 23 ฉบับ แต่ได้นำร่างของพรรคภูมิใจไทยที่จะยกเลิก 70 กว่าฉบับมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้การยกเลิกคำสั่ง คสช.มีความหลากหลาย 

ดังนั้นจึงเห็นว่าสภาฯจะต้องคุยให้ชัด ๆ ก่อนตัดสินใจว่าไม่เห็นด้วยหรือจะคว่ำร่างนี้ ว่าร่าง พ.ร.บ.ทำมาโดยขัดหลักการหรือไม่ หรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของร่างฯที่ไม่ขัดหลักการกันแน่

[เสนอทุกฝ่าย หารือหลักการให้ชัด]

“ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นหลังจากที่ กมธ.ทำมา 8-9 เดือน เป็นความหวังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ถ้าวันนี้สภาฯ คว่ำไปจะเป็นเรื่องที่เสียหายมาก เพราะฉะนั้นขอให้สภาหารือเรื่องนี้ให้ชัดเจนเรื่องหลักการ เพราะสภารับมาหลายร่างฯ ก็อาจเอาหลักการหลายฉบับมาพิจารณารวมกันได้ 

เมื่อพิจารณาจนสะเด็ดน้ำและคิดว่าไม่ขัดหลักการแต่ติดใจเรื่องเนื้อหาสาระ ขอให้คณะกรรมาธิการไปหารือกันอีกรอบหนึ่ง ขอให้ยอมเสียเวลา เพื่อให้ผ่านกฎหมายนี้ไปได้ในเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นายจาตุรนต์ กล่าว

ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มีมติเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ …) พ.ศ. .. ของคณะกรรมาธิการฯ  โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 410 เสียง เห็นด้วย 4 เสียง ไม่เห็นด้วย 403 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และ ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง