ยืนยัน! ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย 100% MOU 44 แค่กรอบเจรจา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

“นพดล” อดีต รมว.การต่างประเทศ ยืนยัน “เกาะกูด เป็นของไทย” ประชาชนไทยทุกคนไปเที่ยวเกาะกูดปกติ ส่วนประเด็น MOU 44 นั้น เป็นกรอบเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทางทะเลที่ทับซ้อน

“นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.การต่างประเทศ ยืนยันว่า “เกาะกูด เป็นของไทย” ประชาชนไทยทุกคนไปเที่ยวเกาะกูดปกติ ส่วนประเด็น MOU 44 นั้น เป็นกรอบเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทางทะเลที่ทับซ้อน และพื้นที่ที่มีการพัฒนาร่วมกันทางทะเล

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าประเด็นเรื่องพื้นที่ทะเล รวมถึงเกาะกูด จ.ตราด ซึ่งหลายข้อมูลที่เผยแพร่กันนั้น มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และยืนยันว่า “เกาะกูด เป็นของไทย” และ “ไทยไม่เสียเกาะกูด”  ประชาชนไทยทุกคนไปเที่ยวเกาะกูดตามปกติ และ MOU  44 ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูด

นอกจากนี้ ทางการกัมพูชา ก็ไม่เคยอ้างสิทธิ์ในเรื่องของเกาะกูดแต่อย่างใด  เกาะกูดยังเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ตราด  ทุกวันนี้มีเรื่องเข้าใจผิดอย่างมาก ว่า หากไปเจรจาเรื่องตามกรอบ MOU 44 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

 ที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ในเรื่องของไหล่ทวีป  ส่วนแนวทางการเจรจานั้นก็มี 2 ทาง คือ การสู้รบ และ แบบสันติวิธี แต่ทางไทยเลือกที่จะใช้วิธีการเจรจาแบบสันติวิธีในพื้นที่ที่เป็นที่ทับซ้อนทางทะเล  คนที่ลงนามก็คือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รายละเอียดของ MOU 44 ยังระบุว่า การเจรจาและเนื้อหาของ MOU 44 ไม่กระทบสิทธิและการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา สมมุติว่า หากมีการเจรจาไม่สำเร็จก็ไม่มีผลกับทั้งไทยและกัมพูชาแต่อย่างใด หรือก็คือ ต่างคนต่างไม่สามารถใช้ประโยชน์กับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการจุดกระแสคลั่งชาติ และนำเรื่องดินแดนมาทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ทุกวันนี้ก็ยังมีการกล่าวหาอยู่ว่า ตัวเองทำให้เสียดินแดนเขาพระวิหาร ทั้งที่เรื่องดังกล่าวนั้นเกิดมานาน และเป็นการพิจารณาจากศาลโลก ซึ่งตัวเองก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เริ่มแรก 

ส่วนประเด็นการบิดเบือนของคนบางกลุ่ม ในเรื่องเกาะกูด เชื่อว่ากัมพูชาจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปยื่นต่อศาลโลกเพื่อให้เกิดการตีความ 

นายนพดล ยังกล่าวว่า คณะกรรมการเจรจา หรือ JTC ต่างมีเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย และทหาร ร่วมอยู่ด้วย  ดังนั้นการเจรจาในสนธิสัญญาจะมีผู้ที่คิดแบบรอบคอบและไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน ไม่ทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ 

ไม่ว่าการเจรจาจะออกมาสำเร็จหรือไม่   ก็ไม่ใช่อำนาจของรัฐบาลตัดสินใจ เพราะเรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมสภา เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกัน