นักวิจัยไทย พัฒนาจุลินทรีย์ย่อยสลาย “ตอซังข้าว” โดยไม่ต้องเผาจนได้รับการยอมรับ ช่วยลดมลพิษจากการเผา มั่นใจช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้มาก 

นักวิจัยไทย พัฒนาจุลินทรีย์ย่อยสลาย “ตอซังข้าว” โดยไม่ต้องเผาจนได้รับการยอมรับ ช่วยลดมลพิษจากการเผา มั่นใจช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้มาก  เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center  โทร. 0 2577 9000

.

ด้วยนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ศึกษาและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว ในชื่อ “BioD I วว.”  และการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงฯ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นแนวทางให้เกษตรกรไทยนำไปใช้กับพื้นที่นาข้าวของตน ภายหลังการเก็บเกี่ยว ช่วยลดการเผาตอซังข้าวหรือฟางข้าว  ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน

.

สำหรับประสิทธิภาพของกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ตอซังข้าวนิ่ม ไถกลบได้ง่าย และไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ

.

เบื้องต้น มีการนำร่องทดลองใช้งานเบื้องต้นแล้ว มากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2567 ที่ผ่านมา และสามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ ตามความสะดวกในการใช้งานของเกษตรกรแต่ละราย อาทิ การใช้โดรนในการฉีดพ่น ใช้ถังฉีดพ่น หรือละลายน้ำและขังน้ำไว้เพียง 7 วัน ก็จะสามารถทำให้ตอซังข้าวและฟางข้าวนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่ติดล้อรถ อีกทั้ง ยังส่งผลให้ลักษณะของน้ำในแปลงนาที่หมักด้วยจุลินทรีย์ชนิดนี้ จะมีสีฟางข้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยรวมจะใช้เวลาน้อยกว่าการขังน้ำโดยไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเริ่มการทำนาได้เร็วขึ้นจากเดิม 

.

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้คำแนะนำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชน พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย  เพื่อการสนับสนุนให้ภาคการเกษตรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center  โทร. 0 2577 9000

.

รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคเกษตร การพัฒนาและวิจัยการใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพฯ เพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตร ถือเป็นการส่งเสริมการใช้ซังข้าวอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นความสำเร็จของนักวิจัยไทยในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ วว. คาดการณ์ว่าการใช้กลุ่มจุลินทรีย์ฯ จะทำให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และปรับเปลี่ยนกลุ่มเกษตรกรที่เคยเผาตอซังข้าวก่อนไถกลบให้มาทดลองใช้กลุ่มจุลินทรีย์ฯ ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน

.

#พรรคเพื่อไทย #PM25