‘ปิยะรัฐชย์’ ยินดีร่างกฎหมายชาติพันธุ์ผ่านสภาฯ เปิดเวทีหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ยืนยันคุ้มครองดูแลพี่น้องคนไทยอย่างเท่าเทียม
นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ… (ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์) กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ… วาระที่ 3 ด้วยเสียง 312 เสียง ไม่เห็นชอบ 84 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง จากการทำงานร่วมกันอย่างหนัก ของฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงฝ่ายบริหาร โดยได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
.
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย โดยมีหลักการ 3 ประการ ดังนี้
1) คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม
2) ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์
3) สร้างความเสมอภาค บนหลักการของการให้ “ความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม” ด้วยการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมี “ศักดิ์ศรี” ให้หลักประกันความเท่าเทียมที่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเสมอภาพเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
(1) หลักพื้นฐานแห่งสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์
(2) กลไกการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
(3) การมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในการกำหนดนโยบาย
(4) จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานกำหนดนโยบายและแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม
(5) การจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้ชุมชนชาติพันธุ์ได้ดำรงวิถีชีวิตและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะมาตรา 27 ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และสภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ชุมชนทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
นางสาวปิยะรัฐชย์ มองว่า หัวใจของมาตรา 27 ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ การเปิดเวทีให้พ่อแม่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแต่ละแห่งมีบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยมีหลักการสำคัญว่าการ จัดทำแผนแม่บทและแผนที่ฯ ดำรงไว้ซึ่งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการคุ้มครองและเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรในพื้นที่
“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมไทยยอมรับตัวตนและวิถีวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ แม้เนื้อหาสาระของตัวกฎหมายอาจมีบางประเด็นที่หลายฝ่ายยังมีความเห็นต่าง แต่เชื่อว่าหากเราใช้โอกาสของการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะเข้าใจพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และในที่สุดแล้วแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย” นางสาวปิยะรัฐชย์ กล่าวทิ้งท้าย
#พรรคเพื่อไทย #พรบชาติพันธุ์