สส.พรรคเพื่อไทย นำโดยนายวันนิวัติ สมบูรณ์ สส.ขอนแก่น นายนพพล เหลืองทองนารา สส.พิษณุโลก นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ และนายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การบริหารจัดการและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลและน้ำประปาทั้งระบบ
ซึ่งคณะกรรมาธิการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณาเสร็จแล้ว ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่ารายงานฉบับดังกล่าวได้ศึกษาภาพรวมของปัญหาน้ำในประเทศตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ การผลิตน้ำประปา ตั้งแต่แหล่งที่มาของน้ำ กระบวนการผลิต การจ่ายน้ำ หลักเกณฑ์มาตรฐานน้ำประปา อีกทั้ง สส.ยังได้ร่วมตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ สิ่งปนเปื้อนที่จะมากับน้ำจนอาจเกิดอันตรายรวมทั้งเสนอแนะให้ใช้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นได้เข้าไปช่วยตรวจสอบมาตรฐานของน้ำประปาในชุมชนเป็นระยะๆ เพื่อช่วยให้ระบบน้ำประปาในชุมชนมีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น
.
นายวันนิวัติ สมบูรณ์ กล่าวชื่นชมรายงานการจัดทำการศึกษาเรื่องน้ำบาดาลและน้ำประปาทั้งระบบว่ามีความสมบูรณ์ในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมกันนี้ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ ได้นำไปพิจารณาใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องสารปนเปื้อนในน้ำประปาที่อาจพบได้ เช่น เชื้ออิโคไล ซึ่งปกติพบได้ในลำไส้คนหรือสัตว์ ซึ่งจะได้รับเชื้อเหล่านี้จากอาหารหรือน้ำดื่มที่บริโภคไป ซึ่งปกติจะมีปริมาณไม่มากและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ถ้าเกิดมีการปนเปื้อนของเชื้อนี้ในปริมาณสูงอาจทำให้เจ็บป่วยระบบทางเดินอาหาร บางรายอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการระบาดจนส่งผลให้ต้องมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจำนวนมากจนเพิ่มปัญหาให้กับระบบสาธารณสุข ดังนั้น ควรจะมีมาตรการตรวจสอบความสะอาดของน้ำประปาอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากสารปนเปื้อนใดๆ โดยไม่จำเป็น
.
นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าในไทยนั้น ระบบน้ำประปาในเขตเมืองและในเขตชนบท ยังมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันอยู่ ทั้งในเรื่องการเข้าถึง เรื่องคุณภาพ พื้นที่การให้บริการ ซึ่งสวนทางกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนที่ควรจะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ผมจึงไม่อยากให้รายงานดีๆ ฉบับนี้จบอยู่ในแค่สภาแห่งนี้ จึงขอให้เสนอผลการศึกษานี้ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำข้อเสนอดีๆ จากในรายงานนี้ไปใช้แก้ไขปัญหาระบบประปาและพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น
.
นายนพพล เหลืองทองนารา กล่าวว่าปกติการประปาก็มีการตรวจสอบคุณภาพ การกำหนดราคาและการให้บริการ ซึ่งเดิมที ก็มีหน่วยงานตรวจสอบภายใน แต่ประชาชนก็อาจตั้งข้อสังเกตว่า ผลการตรวจสอบคุณภาพของประปานั้นมีคุณภาพจริงหรือไม่เพราะน้ำประปาที่เราเห็นมักมีคุณภาพไม่ดี มีสิ่งปลอมปน
.
เท่าที่จำได้ แต่ก่อนในชนบท เราเคยเห็นกรมอนามัยไปช่วยตรวจดูคุณภาพน้ำตามแหล่งชุมชนจึงไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังมีหน้าที่นี้อยู่หรือไม่ ทำให้ผมคิดถึงพี่น้อง อสม. ก็มีกระจายอยู่ทั่วประเทศก็น่าจะสามารถช่วยเราตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ โดยอาจจะจัดกระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน มีขั้นตอนชัดเจนหรืออาจมีอุปกรณ์ชุดตรวจที่มีมาตรฐานชัดเจน และให้ อสม. นำไปใช้ตรวจคุณภาพน้ำในชุมชนของตนเองได้
.
นอกจากนี้ ในรายงานนี้มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจคือเรื่อง การสูญเสียน้ำที่มีอยู่ในรายงานว่ามีสูงถึงร้อยละ 30 จึงอยากให้มีการตรวจสอบว่า การสูญเสียน้ำดังกล่าวมีสาเหตุอะไร และจะมีมาตรการใดในการลดหรือแก้ไขปัญหาการสูญเสียน้ำให้มากที่สุด หากเราลดการสูญเสียน้ำ ก็คือลดต้นทุนน้ำของภาครัฐและอาจส่งผลให้ราคาน้ำประปาลดลงและมีคุณภาพมากขึ้นได้
.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด กล่าวว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยเรามีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการมีน้ำบาดาล ซึ่งเรายังได้นำมาใช้อีกจำนวนมาก จึงเป็นเหตุว่าทำไมเราควรให้ความสำคัญกับน้ำบาดาลเพราะ ประเทศในฝั่งยุโรปนั้น เขาเชื่อว่าน้ำบาดาลเป็นน้ำที่สะอาดที่สุด แม้กระทั่งในไทยเอง บริษัทน้ำดื่มหลายแห่งยังใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติในการผลิตน้ำดื่ม แต่แน่นอนว่า น้ำบาดาลไม่ได้มีทุกที่ แต่ถ้าเราขุดเจอ เราก็จะสามารถนำมาใช้ในหมู่บ้านชุมชนได้ แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง เพียงพอแก่การอุปโภคบริโภค เพียงแต่การขุดน้ำบาดาลนั้น ต้องใช้เงินทุนสูง ใช้ความเชี่ยวชาญ และในปีหนึ่ง ภาครัฐไปขุดเจาะทำน้ำบาดาลได้เพียงไม่กี่พันแห่งต่อปีจึงไม่เพียงพอ จึงทำให้น้ำบาดาลจึงเป็นน้ำทางเลือก
.
ขณะที่น้ำประปานั้น เป็นน้ำทางหลักที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะมีแหล่งน้ำจากน้ำผิวดินเป็นแหล่งสำคัญ ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องสิ่งปฏิกูล สารเคมี สารปนเปื้อนจึงต้องใช้สารเคมีในการบำบัดทำความสะอาดเช่น คลอลีนหรือสารส้ม หรือแม้แต่ใช้เทคโนโลยีรังสียูวี หรือระบบ RO ในการฆ่าเชื้อโรค
.
แม้น้ำบาดาลจะต้องอาศัยการขุดเจาะ ใช้เวลาและความเชี่ยวชาญ จึงขอฝากให้ภาครัฐช่วยหางบประมาณสนับสนุนเพื่อให้ท้องถิ่่นได้ทำน้ำบาดาล ให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคให้พี่น้องประชาชน
.
นายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อภิปรายว่าการได้อ่านรายงานฉบับนี้แล้วทำให้นึกถึงแผนพัฒนาน้ำ 20 ปี ที่มีหลักปฏิบัติไว้ว่าจะต้องมีน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้กับครัวเรือนและชุมชนครบทุกหมู่บ้าน แต่พอมาดูการสำรวจของกรมอนามัยกลับพบว่าทั้งน้ำจากผิวดินและน้ำประปากลับไม่ได้มาตรฐานกว่าครึ่ง น้ำประปานครหลวงกับส่วนภูมิภาคยังมีคุณภาพมากกว่าน้ำประปาหมู่บ้าน นี่จึงเป็นปัญหาการดูแล ซึ่งเรื่องนี้ต่อเนื่องกับทั้งระบบจ่ายน้ำ แรงดันน้ำต่ำ มีการรั่วไหลของน้ำ ซึ่งอาจมีปัญหาโดยตรงจากระบบเอง จากอุปกรณ์ที่ใช้เพราะในบางชุมชนบ้างใช้ท่อเหล็ก บ้างใช้ท่อพีวีซี ซึ่งจากการวิจัยก็พบว่ามีมาตรฐานต่ำ ดังนั้น ควรจะมีการตั้งมาตรฐานของระบบประปาหมู่บ้านว่าควรจะมีเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านชุมชนได้นำไปใช้เป็นมาตรฐานแนวทางเพื่อให้ระบบน้ำประปาทั้งในเมืองและในหมู่บ้านได้มีมาตรฐานดีขึ้น
.
#พรรคเพื่อไทย #ประชุมสภา