‘จาตุรนต์’  วอนรัฐสภาร่วมใจแก้ไข รธน. ออกแบบกติกาใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างประเทศเป็นประชาธิปไตย พร้อมห่วงหากแก้ไข รธน. ครั้งนี้ไม่ได้ อาจไม่ได้แก้ไปอีกนาน 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256  ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะเป็นทางสองแพร่งของสังคมไทย เพราะถ้าแก้ไข รธน. ได้ก็จะเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง สสร. เกิดการรณรงค์เลือกตั้ง ที่ต้องโปร่งใส-ยุติธรรม แต่ถ้าแก้ไข รธน. ไม่ได้ ก็อาจทำให้เราไม่สามารถแก้รธน. ไปอีกนานอาจจะ 5-10 ปี แต่อย่างไรดี อาจมี สส. เข้าชื่อขอให้ส่งญัตติดังกล่าวต่อศาล รธน. เพื่อให้วินิจฉัยตีความ และถ้าศาล รธน. วินิจฉัยอย่างไร ก็ทำไปตามนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น 

.

[รธน.ปี 60 ติดกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี]

.

นายจาตุรนต์ กล่าวว่าเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีปัญหาหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องแรกคือการที่ทำให้ประเทศได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ  ไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายของตนเองได้ เพราะติดกรอบของโครงการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ซึ่งเป็นกรอบที่ถูกสร้างขึ้นมาสมัยรัฐประหารและไม่ได้มีการยึดโยงกับประชาชน และยังผูกพันให้องค์กรต่างๆ ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้หน่วยงานและประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ซึ่งเมื่อเรามองตามภูมิรัฐศาสตร์โลกหรือภูมิภาคในวันนี้ ไทยต้องปรับตัวให้เร็วให้ทัน แต่ยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนกรอบไว้จึงทำให้เราไปกำหนดนโยบายที่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้

.

[พรรคการเมือง ถูกทำให้อ่อนแอ]

.

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีผลอย่างมากต่อพรรคการเมืองซึ่งจะโยงไปที่สภา และรัฐบาล  การที่รัฐธรรมนูญทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ มีการยุบพรรค เพิกถอนสิทธิทางการเมือง ลงโทษนักการเมืองในแบบที่เกินหรือไม่ได้สัดส่วนกับความผิดซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำ เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ ย่อมไม่สามารถเป็นเครื่องมือของประชาชนในการไปกำหนดนโยบาย หรือทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพได้ 

.

[องค์กรอิสระไม่ยึดโยงประชาชน]

.

ปัญหาใหญ่ประการสุดท้าย คือ การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มีองค์กรอิสระ มีที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ยืดโยงประชาชน อีกทั้ง บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระที่มีมากจนทำให้เกิดความไม่สมดุลเมื่อเทียบกับ 3 อำนาจอธิปไตยคือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ  ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาหลัก 3 ประการข้างต้นคือปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อทุกฝ่ายในประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

.

[ประเทศปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลง]

.

นายจาตุรนต์กล่าวว่าปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นความสำคัญอย่างมากในการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องแก้ขนานใหญ่ ไม่งั้นประเทศเราจะอยู่ในการเมืองการปกครองที่ล้าหลัง การตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นปัญหา และจะทำให้ประเทศเราปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของสังคม ก็จะเป็นประเทศที่ล้าหลังตามประเทศอื่นๆไม่ทัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้อย่างจริงจัง

.

[สสร. เป็นคนร่าง รธน.]

.

แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขในรายมาตรา คือมาตรา 256 โดยเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เป็นคนร่าง รธน.  เพราะมีคนทวงติงว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือไม่ การแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาจึงถูกตั้งคำถามโดยสังคม จึงให้มีการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร.ขึ้น 

.

[สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน]

.

จริงๆ แล้ว โดยหลักการ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และรัฐธรรมนูญให้อำนาจเป็นของรัฐสภา แต่มีปัญหาในทางวัฒนธรรมการเมืองของประเทศเรา ที่บางคนอาจติงว่าสมาชิกรัฐสภาอาจมีส่วนได้เสีย จึงให้ใช้ สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ  โดยการเลือกใช้ สสร. จึงเป็นการตัดสินใจเลือกที่ถูกแล้ว จะให้รัฐสภาเป็นคนเลือก สสร.สังคมคงไม่รับ เราควรให้ สสร.มาจากประชาชนเลยจะดีกว่า 

.

[ให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือข้อดี]

.

มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วถ้าให้มีการเลือกตั้ง สสร. จากประชาชน จะไม่เกิดการครอบงำหรือ? นายจาตุรนต์กล่าวว่า โดยตัว สสร. เองนั้น ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์อะไรทางการเมือง ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษอะไรกับใคร ก็จะช่วยลดแรงจูงใจที่จะให้พรรคการเมืองเข้าไปครอบงำ ถ้าเราชี้แจงให้ดีว่า สสร.มีความสำคัญอย่างไร ประชาชนก็จะให้ความสนใจ ซึ่งวิธีให้ประชาชนเลือกตั้งมาโดยตรงนี้ จะเป็นปัญหาน้อยกว่าวิธีอื่นๆ เช่น การให้เลือกกันเองก็จะเจอปัญหาตามไปแก้ยาก การให้สมาชิกรัฐสภาเลือกก็จะติดข้อครหา ใครคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ก็กลายเป็นกำหนดคนร่างรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด การให้ประชาชนเลือกทั้งหมดดีที่สุดแล้ว สอดคล้องกับการพัฒนาการการเมืองของประเทศ 

.

[ถ้าแก้ไข รธน.ครั้งนี้ได้ ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง]

.

นายจาตุรนต์ ฝากข้อคิดไว้ว่า บ้านเมืองเราอยู่ในจุดที่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญประเทศจะหล้าหลังไปอีกนาน ปรับตัวให้ทันโลกทันสถานการณ์ไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้มีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เหมือนเป็นทางสองแพร่งของสังคมไทย ถ้าแก้มาตรา 256 ได้ จะเกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก ตั้งแต่การเลือก สสร. จนถึงการรับฟังความเห็น มีการอภิปรายในสังคมกว้างขวาง เรายังสามารถลงประชามติได้ ส่งเสริมการทำประชามติอย่างเสรีเป็นธรรม ไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็น ไม่จำกัดการรณรงค์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำอย่างกว้างขวาง จึงเป็นหลักประกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้ความเห็นชอบ 

.

[ต้องร่วมส่งเสียงให้ สมาชิกรัฐสภาเห็นด้วย]

.

อีกทางหนึ่งคือ ถ้าแก้ไม่ได้ ในวาระที่ 1 และ 3 ไม่ได้เสียงตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือ ต้องมีเสียง สว.ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือจำนวนเสียงฝ่ายค้าน 20% ถ้าเกิดไม่ผ่านมีแนวโน้มที่เราแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อีกนานมาก 5 ปี 10 ปี หรือมากกว่านั้น ถ้าแก้คราวนี้ไม่ได้ จะต้องผ่านกระบวนการทางสังคมทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่มีความยืดเยื้อ อีกทั้งกระแสทางสังคมยังไม่ดังพอ ต้องแรงพอ ต้องเข้มแข็งพอ ที่จะทำให้สมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ 

.

[ถ้าแก้ไม่ได้ อาจแก้ไม่ได้อีกนาน]

.

นายจาตุรนต์ ชี้ถึงทางสองแพร่งระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าแก้ไม่ได้ อาจจะแก้ไม่ได้ไปอีกนาน หรือไม่ก็เดินไปสู่การยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นแล้วมันเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ของสังคม การรัฐประหารทุกครั้งสร้างความเสียหายกับบ้านเมือง 

.

[อาจมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งศาล รธน.ตีความ]

.

ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่นั้น ซึ่งถกเถียงมาหลายเดือนแล้ว และตีความต่างกันถึงขั้นว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ก่อนหน้านี้ประธานสภาฯ ไม่บรรจุ เพราะฝ่ายกฎหมายให้เหตุผลว่าต้องไปทำประชามติก่อน จนมาถึงครั้งนี้ประธานสภาฯ บรรจุแล้ว เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำประชามติเมื่อรัฐสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ขณะนี้รัฐสภายังไม่ได้แสดงความต้องการ เพราะยังไม่มีการพิจารณา ถ้าลงมติว่าจะให้แก้ไขทั้งฉบับ เข้าใจว่าจะมี สส.จำนวนหนึ่งเข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้หรือไม่ ถ้ามีการเสนอญัตตินี้เข้ามาจริง ประธานสภาฯ คงยกญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก็จะเป็นเรื่องดีให้เกิดความชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องทำประชามติในขั้นตอนใด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอย่างไร รัฐสภาก็ทำไปตามนั้น สมาชิกรัฐสภาจะได้ไม่มีความกังวลว่าทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

.

#พรรคเพื่อไทย #แก้ไขรัฐธรรมนูญ #ประชุมสภา