พรรคเพื่อไทยหนุนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัด ย้ำเดินหน้าต่อเสี่ยงตก อยากยุติปัญหา ยันต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา พรรคเพื่อไทยนำโดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย สส.พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังองค์ประชุมล่ม ขณะที่มีการพิจารณาวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 โดยยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนารมย์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ และแก้ให้ได้มุ่งต่อความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแต่ได้แก้ ตามนโยบายที่ให้ไว้แล้วมาแสดงว่าได้แก้แล้ว จบไม่จบ ได้ไม่ได้ เรื่องนั้นไม่ใช่ เพราะเรามุ่งหวังความสำเร็จสถานการณ์จึงเกิดวันนี้ขึ้น โดยหลังจากที่พรรคพยายามได้ยื่นมาหลายรอบ แต่เมื่อยื่นแล้วก็ยังมีข้อกังขาว่าประธานสภาฯ จะบรรจุหรือไม่บรรจุวาระนั่นคือความคลุมเครือและเป็นปัญหามาตลอด และรู้ดีว่าจะเป็นปัญหาต่อไป

.

นายสุทิน กล่าวว่า เมื่อร่างดังกล่าวถูกบรรจุเข้าสู่สภาแล้วนับวันที่จะพิจารณา เราก็พยายามที่จะประสานงานทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ นั่นคือเสียงพรรคร่วมรัฐบาลและเสียงของ สว. เมื่อเราทำเต็มที่และขอความร่วมมือเต็มที่แล้วจากการประเมินเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) ประเมินแล้วพบว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านนั้นยาก ซึ่งเมื่อไม่มีโอกาสเราจะทำอย่างไร จะจำนนต่อสถานการณ์โดยเราจะเสนอและพิจารณากันไปปล่อยให้โหวตแล้วให้ตกหรือไม่ หากทำแบบนั้นคือความล้มเหลวและเราทราบดีว่าความล้มเหลวรออยู่แล้ว

.

เราจึงแสวงหาอีกวิธีหนึ่งที่พอจะมีความหวังคือขอให้ร่างได้อยู่ในสภายังไม่ตก คือเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ระหว่างที่รัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยร่างก็ยังอยู่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นคุณออกมาก็มีโอกาสสำเร็จ เราก็จะเดินหน้า แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาในทางแก้ไม่ได้ ก็จะได้ชัดเจนว่าแก้ไม่ได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยก็เกิดความเห็นที่ต่างกัน เช่น ต้องทำประชามติกี่รอบ และสมาชิกรัฐสภาก็เกิดความกังวลว่าพิจารณาและลงมติจะถูกตัดสินหรือดำเนินคดีหรือไม่ เพราะมีตัวอย่าง ต้องยอมรับว่ามีสมาชิกจำนวนไม่น้อยไม่มั่นใจในสถานะหากอยู่ประชุม 

.

ทางที่ดีคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เชื่อว่าไม่เกิน 1 เดือน และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความมาแล้ว ความหวังเรายังมี วันนี้เราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. แต่เมื่อญัตตินี้แพ้ต่อสภาเราก็ต้องพิจารณากันต่อ เราก็มองเห็นคำตอบอยู่ข้างหน้าว่าเมื่อไปก็ถูกปัดตก ฉะนั้น เราจึงปรับวิธีการต่อสู้เพื่อให้บรรลุผลของเรา

“วันนี้จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร่างนี้ไม่ตกให้อยู่นานที่สุด นั่นคือองค์ประชุมถ้าไม่ครบก็ประชุมต่อไม่ได้ ก็จะมีเวลาในการตั้งหลัก เพื่อที่จะกลับมาสู้เพื่อเป้าหมายอีกครั้ง ดีกว่าดันทุรังไปว่าพิจารณาไปแล้ว แล้วไปตายข้างหน้า แบบนี้เราไม่ทำ ฉะนั้น จึงเกิด เหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งเหตุการณ์มันเร็วมาก เราจึงคิดว่าทำยังไงให้ร่างนี้อยู่และยืดชีวิตต่อไปได้ เพื่อที่จะสู้กันต่อไป ดังนั้นเพื่อนสมาชิกบางคนบางพรรคอาจจะมองเข้าใจผิดว่ามีเจตนาอะไรแน่ เรามีเจตนาเพื่อที่จะผลักดันให้สำเร็จ เดินทางตรงไม่ได้ก็ขอเดินทางโค้ง ทางโค้งยังไม่สำเร็จขอหยุดการเดินทางไว้ก่อน ดีกว่าเดินไปตกเหว ” นายสุทิน กล่าว

.

ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่วิเคราะห์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี 2 ร่างอยู่ในขณะนี้ แนวโน้มก็คงจะไม่ผ่านมติของรัฐสภา หรือเสียงของ สว.ที่จะเห็นชอบไม่ถึง 67 เสียง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่เขาอ้างคือประธานรัฐสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้ามาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเขาพุ่งไปที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 คือนำไปสู่จะยังบรรจุไม่ได้ จนกว่าจะถามประชาชนเสียก่อน คือจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง เมื่อประเด็นวิตกกังวลเป็นเช่นนี้ ว่าจะไม่ผ่านเพราะเหตุนี้ เราจึงตั้งว่าถ้าแบบนั้นประเด็นนี้ก็ควรสอบถามกันให้ชัดเจนว่า ท้ายที่สุดการบรรจุระเบียบวาระเช่นนี้ที่นำไปสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงนำไปสู่การสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ โดยหวังว่าหากศาลรัฐธรรมนูญตอบมาในทางที่เป็นคุณ คือที่ทำถูกต้องแล้ว ก็สามารถเดินหน้าต่อได้

.

ฉะนั้น คิดว่าหากเราพิจารณากันต่อ ทุกคนก็ทราบดีกันอยู่แล้วว่านำไปสู่ญัตติตกไป และเมื่อตกไปก็ถือว่าน่าเสียดายคือเราทำใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ และเมื่อเริ่มต้นใหม่ปัญหาก็คาราคาซังเหมือนเดิม ก็จะวนเวียนมาสู่ปัญหานี้อีก ฉะนั้น ที่เราทำเจตนาคือต้องการให้ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในรัฐสภา และคิดหาทางกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ 

“ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาเตะถ่วง เรามีเจตนาเต็มที่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นนโยบายที่เราเสนอมาตลอด และมีความพยายามจะทำอย่างนี้มาตลอด ปัญหาอุปสรรคใหญ่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่ตีความไม่เหมือนกัน เราอยากให้ปัญหานี้ยุติเสียที เราจึงสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วมีความชัดเจน เราจะได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้” นายชูศักดิ์กล่าว

.

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราอยากเคลียร์ปัญหานี้ให้ได้ ซึ่งพบว่าปัญหานั้นไม่ใช่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพราะกระบวนการและวิธีการไม่ถูกต้อง ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรถาม เพื่อเคลียร์ปัญหาให้ชัดเจน

.

ด้านนายสุทิน คลังแสง กล่าวเพิ่มเติมต่อว่า ตนคิดว่าไม่ลำบาก ถึงวันนี้ประชาชนจะมองออกว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มีอยู่ 3 กลุ่ม 

.

กลุ่มแรกคือพรรคภูมิใจไทยและ สว. ส่วนหนึ่ง ที่ไม่แก้ กลุ่มที่ 2 คืออยากแก้แสดงตัวว่าจะแก้ แต่มีข้อแม้ว่าแก้จริงหรือไม่พยายามที่จะดันต่อไปทั้งที่รู้ว่าถูกตีจะตก สังคมจะรู้ว่าแก้เพื่อหวังผลสำเร็จหรือไม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทย เดินเกมเต็มที่แต่เจออุปสรรคเราจึงต้องชะลอเพื่อที่จะหาทางสู้ใหม่ ประชาชนคงมองออกว่าใครคือกลุ่มที่แก้โดยหวังผล หรือกลุ่มที่สักแต่ว่าจะได้แก้แล้ว แต่ของแก้ได้แล้ว เราอยากพูดคำนี้มากกว่า ไม่ใช่แก้แล้ว ยิ่งเดินไปก็ยิ่งจะช้ำ แล้วคนที่รู้ว่าเดินต่อก็จะตก เดินไปทำไม กับของเราที่รู้ว่าจะตกเราไม่เดินต่อ แต่เราก็ชะลอ เพื่อที่จะตั้งหลักแล้วเดินใหม่ ประชาชนน่าจะมองออก

.

ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วนใครทำจะทำให้ตกนั้น นายสุทิน กล่าวว่า ในสภาก็พอจะมองออก คนที่พยายามจะเดินหน้าอภิปรายแล้วได้โหวต คนนั้นคือคนที่ตนคิดว่าเดินหน้าแล้วจะตกแล้ว แล้วจะเดินทำไม

.

ด้าน นางมนพร เจริญศรี สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โพสต์ข้อความบนแอปพลิเคชัน Facebook โดยระบุว่า 

.

สภาล่ม.!!!สาเหตุที่ดิฉันและ สมาชิกพรรคเพื่อไทยลงชื่อร่วมกับ ส.ว และ ส.ส พรรคอื่น เนื่องจาก เป็นมติของที่ประชุม สส.ในพรรคเพื่อไทย ว่าก่อนการพิจารณาร่างแก้ไข รธน..นั้นควรจะมีการส่งให้ศาล รธน..พิจารณา และ ให้ความเห็นในเรื่องการทำประชามติ ว่าควรจะทำกี่ครัั้ง และมีขั้นตอนใดบ้าง..?

.

2.ในขณะที่รอศาล รธน.นั้น ญัตตินี้ยังคงค้างในวาระการประชุมของรัฐสภา

.

3.เมื่อรัฐสภาโหวตว่าไม่ควรส่งศาลการจะทำให้วาระนี้ยังคงอยู่ นั่นก็คือการไม่แสดงตนในที่ประชุม

.

4.ถ้ามีการเข้าสู่ระเบียบวาระ แล้วมีการอภิปราย ลงมติ ในที่สุดก็จะไม่ผ่าน เพราะ สว.ส่วนใหญ่ไม่ต้องการแก้ รธน.และต้องใช้เสียง สว.ถึง 67 เสียง

.

#พรรคเพื่อไทย #ประชุมสภา #แก้ไขรัฐธรรมนูญ