นายกฯ คุยภาคเอกชนไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด หนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร เพาะเลี้ยงกุ้งได้ต่อเนื่อง ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการที่สนับสนุนภูมิปัญญาเกษตรกร พร้อมเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับสภาพยุโรปและประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพื่อสินค้าของประเทศไทย
วันนี้ ( 17 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 15.15 น. ณ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พูดคุยประเด็นกระบวนการผลิตและส่งออกอาหารทะเล โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย และส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังประเด็นกระบวนการผลิตและการส่งออกอาหารทะเล จากประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกกุ้งแช่แข็งชั้นนำของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยมีฐานการผลิตหลักในจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนขยายกิจการมายังจังหวัดสงขลา ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมอาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารทะเลแปรรูป นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบผู้รับจ้างผลิต (OEM) และผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง โดยตลาดหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ทั้งนี้ บริษัท ฯ กล่าวถึงปัญหาที่ทำให้ผลผลิตอาหารทะเลลดลง มี 3 สาเหตุ คือ 1.การขาดสายพันธุ์ จึงเสนอให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในภาคใต้และภาคตะวันออก 2. โรคระบาด ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณให้กับกรมประมงเพื่อแก้ไขปัญหา และ 3.ขาดการเข้าถึงสินเชื่อให้กับเกษตรกร ที่จะประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเน้นการอบรมเทคนิคจัดการคุณภาพน้ำ พัฒนาเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยง และการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งที่ทนต่อสภาพอากาศ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนระบบประกันภัยและกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่า บริษัทมีโครงการหรือกิจกรรมที่ร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะหากยังไม่มี รัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากบริษัทดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 40 ปี ย่อมมีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สามารถถ่ายทอดให้กับชุมชนได้
“หากมีแนวทางในการทำโครงการเพื่อสังคม (CSR) หรือโครงการที่สนับสนุนภูมิปัญญาของเกษตรกร อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาการประกอบอาชีพ รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนแนวทางเหล่านี้เช่นกัน ส่วนการเจรจาในข้อตกลงทางการค้าที่รัฐบาลไทยได้เริ่มทำกับสหภาพยุโรปหลายประเทศแล้วนั้น มารับฟังธุรกิจประมงของไทย ก็จะเร่งพูดคุยและประสานทั้งในสหภาพยุโรปและในทวีปอื่นๆเพื่อสนับสนุนสินค้าของไทยให้ ค้าขายได้ง่ายขึ้น” นายกรัฐมนตรี ย้ำ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนเมืองเก่าสงขลาและพูดคุยประเด็นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสงขลา ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ต่อไป
#พรรคเพื่อไทย #ประมงไทย #แพทองธารชินวัตร
บทความที่เกี่ยวข้อง

นายนพพล เหลืองทองนารา สส.พิษณุโลก เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ฤดูการผลิตปี 2567/2568 อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตตกต่ำ และอภิปรายร่วมกับ สส.เพื่อไทย ประกอบด้วย นายรวี เล็กอุทัย สส.อุตรดิตถ์ นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย และนางฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา ร่วมอภิปรายญัตติดังกล่าวเพื่อรวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาโดยด่วน
อ่านต่อ
มติคณะอนุกรรมการ นบข. กำหนด 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
อ่านต่อ