นายกรัฐมนตรี หารือคณะผู้บริหาร ‘สมาชิก EU-ABC และ EABC’ ขับเคลื่อน ‘นโยบายความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ยุโรป’ สร้างความเชื่อมั่นศักยภาพธุรกิจไทย เป็นประตูสู่อาเซียน

.

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.15 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (European Association for Business and Commerce: EABC) เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือ และรับทราบนโยบายของรัฐบาล โดยมี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมด้วย

.

โดยนายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายโนเอล คลีเฮน (Mr. Noel Clehane) รองประธานคณะกรรมการบริหาร EU-ABC และนางภารณี อดุลยพิเชฏฐ์ ประธาน EABC ประเทศไทย เป็นผู้นำคณะผู้แทนบริษัทยุโรปในอาเซียน ใน 5 สาขาธุรกิจ ได้แก่ สาขาการเงินและธุรกิจประกันภัย สาขาสินค้าอุปโภคบริโภค สาขาการคมนาคม โลจิสติกส์ และพลังงาน สาขาเคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ และสินค้าเกษตร และสาขาการให้คำปรึกษา เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ คณะผู้บริหารและสมาชิก EU-ABC และ EABC ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายสำคัญของรัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนยุโรป ต่อเนื่องจากการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนยุโรป และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ ทั้งนี้ การหารือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนยุโรปในอาเซียน 

.

โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืน ความเจริญรุ่งเรือง และความครอบคลุม ตลอดจนสนับสนุนการทำธุรกิจและการเติบโต เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในระยะสั้น รัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลมุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการลงทุน โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การบริหารงาน การต่อต้านการทุจริต และนโยบายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

.

[การค้า] นายกรัฐมนตรีหวังว่า ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ที่ลงนามร่วมกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 16 ของไทย และฉบับแรกของไทยกับยุโรป จะช่วยปูทางสู่การสรุปการเจรจา FTA ไทย-EU ให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความยืดหยุ่น และความมั่นคงให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน

.

[การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ] รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญ โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย พร้อมมาตรการดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติใช้ไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคต โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในด้านสีเขียว ดิจิทัล และเศรษฐกิจเพื่อการดูแลและสุขภาพ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวิจัยและนวัตกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์ บริการสาธารณูปโภค เทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดเก็บภาษี

.

[อุตสาหกรรมหลัก] รัฐบาลวางแผนส่งเสริมการลงทุนเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกในอุตสาหกรรมชั้นนำ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและเซมิคอนดักเตอร์, ยานยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่, พลังงานทดแทนและชีวภาพ และเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี

.

[การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว] รัฐบาลให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและมีความก้าวหน้าภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

.

[ศูนย์กลางการเชื่อมโยงภูมิภาค] รัฐบาลเห็นประโยชน์จากที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทย และมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการพัฒนาการเชื่อมต่อทั้งทางรถไฟ, ทะเล, อากาศ และถนน พร้อมทั้งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ทั่วประเทศ และดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยรัฐบาลได้พูดคุยกับหลาย ๆ ประเทศ และได้รับความสนใจและการสนับสนุนที่ดีเป็นอย่างมาก ซึ่งหากโครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนด้านการขนส่งจำนวนมาก

.

[การท่องเที่ยวและซอฟต์พาวเวอร์] รัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา 60 วัน สำหรับ 93 ประเทศ/ดินแดน และการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) สำหรับ 31 ประเทศ/ดินแดน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 35.5 ล้านคน ในปี 2567 รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่า พร้อมเสนอสวัสดิการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาพำนักหรือทำงานในไทย

.

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยเปิดรับต่อการดำเนินธุรกิจ ด้วยนโยบายที่ชัดเจนและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการลงทุน จึงไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะสมที่จะลงทุนในประเทศไทยเท่าเวลานี้ พร้อมเชิญชวนคณะ EU-ABC และ EABC ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนยุโรป ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันแก่ทั้งสองฝ่าย 

.

อนึ่ง สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) เป็นองค์กรหลักสำหรับกลุ่มธุรกิจจากยุโรปที่ดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการยุโรป และสำนักเลขาธิการอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนยุโรปที่ดำเนินกิจการในอาเซียน และร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎระเบียบที่จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างยุโรปกับอาเซียน โดยสมาชิก EU-ABC ประกอบด้วยบริษัทยุโรปจำนวน 78 บริษัท และสภาหอการค้ายุโรป 9 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ประเทศไทย (EABC) ที่เป็นสภาหอการค้ายุโรปประจำประเทศไทย มีสมาชิกจำนวน 156 บริษัท

#พรรคเพื่อไทย #แพทองธาร #EABC #EUABC

ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/93574