“เผ่าภูมิ” ยัน เงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ ดัน GDP ทั้งปี 2567 ได้ดี สร้างโมเมนตัมถึงไตรมาสแรกของปี 2568 แน่นอน วอนฝ่ายค้านคุยกันด้วยตัวเลข ไม่ใช้ความรู้สึก ไม่มีอคติ แง้ม ก.คลังเตรียมคลอดมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ บสย.เป็นเจ้าภาพ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดของนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.พรรคประชาชน
คำถามที่ 1 จีดีพีที่ประกาศล่าสุด เติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่เคยประกาศว่าจีดีพีจะเติบโตปีละ 5% ถือว่ารัฐบาลสอบตกหรือไม่ และโครงการ #ดิจิทัลวอลเล็ต หรือ #เงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายหรือไม่
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพี ปี 2567 เติบโตที่ 2.5% และนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าและน้อยกว่าอาเซียน วิธีการมองแบบนี้ เป็นการ ‘มองเศรษฐกิจที่บางมาก’ เพราะการมองตัวเลขเศรษฐกิจ ใช้เวลากับตัวเลขจีดีพีเพียง 10% อีก 90% ใช้เวลาในการดูรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องขยับขยายจุดไหน และอะไรที่เพียงพอแล้ว โดยพบว่า แรงเหวี่ยง (Momentum) ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เรามองในรายไตรมาส
ไตรมาสที่ 1/2567 จีดีพีเติบโตที่ 1.7%
ไตรมาสที่ 2/2567 จีดีพีเติบโตที่ 2.3%
ไตรมาสที่ 3/2567 จีดีพีเติบโตที่ 3.0%
ไตรมาสที่ 4/2567 จีดีพีเติบโตที่ 3.2%
จะเห็นได้ว่าทิศทางทางเศรษฐกิจผงกหัวขึ้นทั้งปี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 จนถึงไตรมาสที่ 4/2567 ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงทิศทางและโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
ขณะที่จีดีพีทั้งปี 2567 เติบโตที่ 2.5% หากมองย้อนกลับไปในช่วงต้นที่มีการคาดการณ์ หลายสำนักประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจ ปรามาสว่ารัฐบาลจะทำจีดีพีได้เพียง 2.1% หรือ 2.2% ในที่สุดเราปิดจีดีีปี 2567 ที่ 2.5% ส่วนต่างเพิ่มขึ้นที่ 0.2 – 0.4% เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งหมดคือสิ่งที่รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจ จึงอยากให้มองที่โมเมนตัมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่จีดีพีไตรมาส 4/2567 เติบโตที่ 3.2% ตัวเลขนี้เติบโตสูงที่สุดในรอบ 9 ไตรมาสย้อนหลังของไทย หรือ 2 ปีกว่า ที่เราสามารถทำได้ การลงทุนภาครัฐไตรมาสนี้เติบโตเกือบ 40% สูงที่สุดในรอบ 36 ไตรมาส หรือเกือบ 9 ปี การส่งออกสินค้าและบริการ โต 11.5% สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส ภาคการบริการ โต 4.7% สูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส ภาคการก่อสร้าง โต 18.3% สูงสุดในรอบ 36 ไตรมาส หรือ 9ปี ภาคอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 1.8% เติบโตสูงที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส
ในไตรมาส 4/2567 นี้ ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มหักเงินเฟ้อและตัวเลขนำเข้า (Real VAT) เติบโต 11% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นี่คือสิ่งที่ตัวเลขบอก โดยไม่คุยถึงเรื่องความรู้สึก เพราะเศรษฐศาสตร์คือตัวเลข ซึ่งบ่งบอกถึงทิศทางบริหารเศรษฐกิจของประเทศว่าเราอยู่ในทิศทางไหน
ขณะที่ในปี 2568 รัฐบาลคาดการณ์ว่าแรงเหวี่ยงหรือโมเมนตัมทางเศรษฐกิจจะต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 4/2567) โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2568 จะออกมาดี จากหลายมาตรการ เช่น Easy E-Recieve รวมถึงการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอื่นๆ
ส่วนคำถามเกี่ยวกับเรื่องการกระจายเม็ดเงินในโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ เฟสที่ 1ในกลุ่มเปราะบาง ในปีที่ผ่านมาพบว่า ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไรนั้น เราคุยกันที่ตัวเลขอีกครั้ง พบว่า เป็นการกระจายเม็ดเงินที่ถูกฝาถูกตัว
1.คำนวณจากข้อมูลประชากร ( Demographic ) และแผนที่ประเทศไทย จังหวัดไหน มีความยากจนสูง และเงิน 10,000 อยู่ที่จังหวัดใด พบว่า เงินลงไปในจังหวัดที่มีสัดส่วนความยากจนสูง เป็นลำดับแรกๆ เม็ดเงินลงไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นว่าเม็ดเงินกระจายลงไปในกลุ่มที่มีความจำเป็นมากที่สุด
2. เงินกระจายลงไปในทุกตำบล สามารถกล่าวได้ว่าไม่มีตำบลใดในประเทศไทยไม่ได้รับเม็ดเงินนี้
3. จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า เม็ดเงิน 68% ลงสู่ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าชุมชน ร้านค้าในตลาด หาบเร่แผงลอย ไม่ได้ลงไปสู่ทุนขนาดใหญ่ทั้งหมด อย่างที่เคยกล่าวกัน
4.ประชาชนส่วนใหญ่ 82% ใช้จ่ายหมดภายใน 3 เดือน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็ว รุนแรง และทันท่วงที
5. ในไตรมาสที่ 4 /2567 ที่มีโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ เฟสที่ 1
5.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจาก 56.5 เป็น 56.9
5.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พุ่งจาก 49.6 ไป 53.0
5.3 ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมพุ่งจาก 88.0 ไปสู่ 90.2
5.4 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจภูมิภาค พุ่งจาก 69.6 สู่ 71.9
5.5 Real VAT ไตรมาส 4/2567 เพิ่มขึ้น 11% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส
“หากเราไม่มีอคติ คุยกันที่ตัวเลข ผมคิดว่าคำตอบเราเป็นคำตอบเดียวกัน โครงการนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจปิดปี 2567 ได้ดี และมีโมเมนตัมที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 – 4/2567 ส่งต่อไปถึงไตรมาสที่ 1 /2568”
นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวอีกว่า โครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ สามาถลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยดัชนีจีนี ดูสามารถลดลงได้ 0.01 หากเปรียบเทียบกับการไม่ทำเลย 3 ปี ดัชนีจีนี จะลดลงตามธรรมชาติ ดังนั้น โครงการนี้สามารถร่นระยะเวลาความเหลื่อมล้ำลง 2-3 ปี
หากไม่เชื่อในตัวเลขนี้สามารถดูตัวเลขรายงานล่าสุดของธนาคารโลก ให้ตัวเลขลดความเหลื่อมล้ำสูงกว่าที่กระทรวงการคลังให้ เราคาดการณ์ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้ 0.01 ธนาคารโลกให้ 0.15 นั่นหมายความว่าโครงการนี้ร่นระยะเวลาลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่า 2-3 ปี
โดยสรุปคือ คุยกันด้วยตัวเลข คุยกันด้วยหลักฐาน คุยกันด้วยข้อเท็จจริง
คำถามที่ 2 เรื่องภาคการผลิตที่พบว่ามีการนำเข้าสินค้ามากกว่าการส่งออก ยืนยันว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันเพื่อรับมือ และเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากการปรับเปลี่ยนนโยบายมหภาคของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งอยู่ในกระบวนการการทำงาน ทั้งนี้ ภาคการผลิตหากดูให้ลึก สิ่งที่สำคัญในภาคการผลิตที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญสูงมาก ซึ่งรัฐบาลกำลังทุ่มเทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมดในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยกเว้นภาคการผลิตซึ่งเจาะไปที่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และเจาะไปที่อุตสาหกรรมรถกระบะ ซึ่งรัฐบาลกำลังทำงานอย่างขมักเขม้น และกำลังจะมีการประกาศมาตรการออกมาในไม่ช้า
ส่วนสินเชื่อธนาคาร เป็นประเด็นที่สำคัญและเราเห็นตรงกัน การกระจายเม็ดเงินทางสินเชื่อสามารถส่งให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินทุน เกิดการผลิตเกิดการจ้างงาน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและข้อจำกัดคือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีการเร่งรัดการปล่อยสินเชื่ออย่างเต็มที่และน่าพึงพอใจ เม็ดเงินลงไปสู่รากหญ้า และ SME
แต่ส่วนที่เป็นปัญหาหนักกว่านั้นคือสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องดูแลเรื่องผลกำไร และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น แม้เราอยากให้เขาปล่อยสินเชื่อ แต่เราไม่สามารถบีบคอให้เขาปล่อยสินเชื่อได้ สิ่งที่รัฐบาลทำและเป็นกลไก คือ การลดความเสี่ยงของผู้กู้ ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ เพื่อเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงของประชาชน เพื่อซื้อประกันความเสี่ยงราคาต่ำโดยรัฐบาล ประชาชนสามารถซื้อและนำประกันความเสี่ยงนี้ ขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ หากผู้กู้สินเชื่อรายนี้ผิดนัดชำระ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติจะเป็นคนรับความเสี่ยงแทนสถาบันการเงิน ทั้งหมดคือกลไกที่อยู่ใน Pipeline โดย พ.ร.บ.สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ โดยร่าง พ.ร.บ.เสร็จแล้ วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้วเช่นกัน
ส่วนที่นายวรพจน์ระบุว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อนั้น ไม่เป็นความจริง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่างธนาคารออมสินเพิ่งปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท และมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ PGS อีก 50,000 ล้านบาท รวมถึงมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ที่มีมาตรการลดค่าธรรมเนียมและมาตรการด้านสินเชื่อ เช่น สินเชื่อ ซ่อม สร้าง แต่ง มีวงเงินสูงและยังใช้วงเงินไม่หมด และโครงการแฮปปี้ไลฟ์ มาตรการสินเชื่อบ้านสำหรับพี่น้องประชาชน มาตรการต่างๆเหล่านี้บ่งบอกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสินเชื่อและสภาพคล่องในตลาดซึ่งมีความสำคัญสูง ทั้งหมดคือการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการผลิตและสินเชื่อ
คำถามที่ 3 เมื่อไหร่รัฐบาลจะกล้าทำเรื่องยากสำหรับประเทศไทย การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเหตุใดจึงไม่ใช้งบประมาณ เรื่องที่ทำไปแล้วได้รับการพิสูจน์แล้วยังจะทำต่อ เรื่องที่ต้องทำยังไม่มีอะไรใหม่
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า รัฐบาลไม่ใช้งบประมาณนำไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะรัฐบาลใช้กลไกที่ฉลาดกว่างบประมาณ โดยให้ สคร.ปรับ ลดสัดส่วนการใช้กำไรในการประเมินธนาคารออมสิน จากนั้นธนาคารออมสิน จึงเต็มใจที่จะออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยตัดกำไรของตัวเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว นี่คือกลไกที่เราแก้ที่ต้นตอ เพื่อทำให้เกิดการใช้กำไรของธนาคารนำมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ส่วนคำถามที่ว่า บสย. ปัจจุบันไม่ได้ทำอะไรหรือ เหตุใดต้องรอสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ นายเผ่าภูมิตอบว่า บสย.ทำอยู่หลายสิ่ง เช่น PGS ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธนาคารพาณิชย์ เหตุที่ยังใช้ไม่หมด เพราะเราตั้งวงเงินไว้สูง จะได้ไม่ต้องขอเรื่อยๆ ในการรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากนี้ บสย. กำลังจะดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ อยู่ระหว่างดูขั้นตอนของข้อกฎหมาย เพื่อช่วยให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อให้รถกระบะได้ง่ายยิ่งขึ้น
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำเรื่องยาก ไม่ทำเรื่องโครงสร้าง นายเผ่าภูมิ ระบุว่า อยากให้ท่านไปดูเรื่องของ พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (พ.ร.บ.Financial Hub) คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญของประเทศ เป็นเรื่องยากและเป็นการเขียนกฎหมายฉบับใหม่รวม 96 มาตรา คือการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้รัฐบาลยังทำหลายสิ่งที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เช่น เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ยืนยัน รัฐบาลดูทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
#พรรคเพื่อไทย #financialhub #เผ่าภูมิโรจนสกุล