นายนพพล เหลืองทองนารา สส.พิษณุโลก เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ฤดูการผลิตปี 2567/2568 อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตตกต่ำ และอภิปรายร่วมกับ สส.เพื่อไทย ประกอบด้วย นายรวี เล็กอุทัย สส.อุตรดิตถ์ นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์  นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย และนางฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา ร่วมอภิปรายญัตติดังกล่าวเพื่อรวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวนาโดยด่วน

.

นายนพพล เหลืองทองนารา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยที่มาของความจำเป็นในการเสนอญัตติด่วนในครั้งนี้เกิดจาก

.

-ราคาข้าวเปลือกตกต่ำไปทั่วประเทศ

.

-ราคาปัจจัยด้านการผลิตสูงขึ้น เช่นราคาปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิง ยาฆ่าแมลง ค่าเช่านา เป็นต้น

.

-ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชาวนาในการเพาะปลูกข้าว เช่น การกำจัดตอซังข้าว การไม่เผาตอข้าว

.

-ค่าใช้จ่ายของพื้นที่นาใกล้เคียงเขตชลประทาน เช่นค่าใช้จ่ายน้ำมัน เพื่อการสูบน้ำเข้าเขตชลประทาน

.

-การครบกำหนดชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ของชาวนาในช่วงสิ้นเดือน 

.

ซึ่งแน่นอนว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเองก็มีความต้องการที่อยากให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้

.

– เรื่องของราคา ขอให้รัฐบาลมีมาตรการพยุงราคาข้าวให้ได้ราคาไม่น้อยกว่า 10,000 บาท/ตัน ในความชื้นไม่เกิน 25%

.

-ขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เช่น ราคาปุ๋ยยูเรีย ราคากระสอบละไม่ควรเกินกระสอบละ 600 บาท และราคาน้ำมันดีเซลไม่ควรเกินลิตรละ 20 บาท เป็นต้น

.

-มาตรการที่มีผลต่อการเพาะปลูก เช่น การเผาฟางข้าว โดยรัฐบาลควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการกำจัดเศษวัสดุการเกษตรไร่ละ 300 บาท

.

-ให้รัฐบาลช่วยเจรจา งดดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคาร ธกส. ในปี 2568 โดยให้ชาวนาชำระแค่เงินต้นแทน 

.

ในสถานการณ์ข้าวโลกในขณะนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะตกต่ำ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว หลังจากมีข่าวว่าอินเดียจะระบายข้าวเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

และในปกติแล้ว การปลูกข้าวนาปรัง ชาวนาไม่เคยเรียกร้องขอความช่วยเหลือแบบนี้มาก่อน

.

วันนี้จึงเป็นโอกาสที่เพื่อนสมาชิกจากทุกพรรคการเมือง จะได้ร่วมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และขอย้ำไปยังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่กำลังประชุมอยู่ในขณะนี้ว่าขอให้เร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนด้วย และพี่น้องเขากำลังรอฟังคำตอบอยู่อย่างใกล้ชิด

.

นายรวี เล็กอุทัย สส.อุตรดิตถ์ กล่าวว่าราคาข้าวที่ตกต่ำขนาดนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องกระทบกระทบวิถีชีวิตของชาวนาและครอบครัวทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้พบว่าประมาณการข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาด คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 6.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 1.08 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงมีนาคมและเมษายน

.

ซึ่งแน่นอนว่า กลไกตลาดเสรีที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ประเทศไทยเองจะไม่สามารถกำหนดราคาข้าวได้ด้วยตัวเอง และเมื่อมีอินเดียเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในสนามการค้าข้าวที่ได้เปรียบทั้งเชิงปริมาณและราคา  ตลาดข้าวไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและการควบคุมต้นทุนการผลิต

.

ซึ่งขอเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยควรมีสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยสถาบันเกษตรกรตั้งเป้าดูแลชาวนาได้ราว 4.61 ล้านครัวเรือน ต้องเปิดตลาดการค้าใหม่ หาลูกค้าใหม่ หาผู้รับซื้อข้าวไทยรายใหม่ช่วยขยายตลาด และแน่นอนว่าเราจะต้องกำชับรัฐบาลให้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ใช้งบประมาณช่วยชาวนาได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

.

นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงต้นทุนในการผลิตข้าวในแต่ละปีโดยสอบถามโดยตรงกับชาวนาที่ทำนาจริง ได้ความว่า การทำนานั้นมีค่าใช้จ่ายในแต่ละขั้นตอน ขั้นตอนแรก การเกวียนดิน การไถดินสำหรับหว่านข้าว มีค่าใช้จ่าย 250-500 บาท/ไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ขณะนี้อยู่ที่ 450-700 บาทต่อไร่ ค่าปุ๋ย ซึ่งฤดูกาลหนึ่งจะหว่านปุ๋ย 2-5 รอบ อยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อกระสอบต่อไร่ ยังไม่รวมยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ยาบำรุงอีก 200-300 บาท/ไร่ น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับสูบน้ำจากแหล่งน้ำ 750 บาทต่อไร่ ตลอดจนค่าเก็บเกี่ยว 500-750 บาทต่อไร่ ซึ่งรวมต้นทุนแล้วรวมๆ ตันละ 3,500-4,500 บาทต่อไร่ แต่ราคาขายตันหนึ่งได้แค่ 6,500 -7,000 บาทต่อไร่ ซึ่งข้าวไร่หนึ่งจะได้ข้าว 600-800 กิโลกรัมนั้นหมายความว่า ถ้าขายราคาตันละ 6,500 บาทราคา 800 กิโลกรัมจะได้เงินแค่ไร่ละ 4,450  บาท คือ ขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มขาย

.

นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องระบบชลประทาน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวนามีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ เมื่อในพื้นที่มีแหล่งน้ำน้อย เช่น น้ำในแม่น้ำยมไม่พอ  ชาวนาเกินกว่าครึ่งต้องไปสูบน้ำบาดาล ชาวนาต้องลงขันขุดน้ำบาดาล ติดเครื่องสูบน้ำ และต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการขุดน้ำบาดาล การติดเครื่องสูบน้ำและการใช้น้ำมันเพื่อจะดึงน้ำจากจุดขุดบ่อไปยังไร่นาของตัวเองก็ทำให้มีต้นทุน รัฐบาลจึงต้องเพิ่มแหล่งเก็บน้ำและกระจายน้ำให้เกษตรกรให้มากขึ้น

.

นางฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา ขอเสนอให้รัฐบาลออกนโยบายสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการประกาศรับซื้อข้าวราคา 10,000 บาทต่อตัน ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดสุดโต่ง เพราะแม้แต่ประเทศอินเดีย ก็เคยประกาศงดการส่งออกข้าวไว้ชั่วคราวเพื่อสำรองข้าวไว้ในประเทศเพื่อใช้ในประเทศตัวเอง ตอนนั้นทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นทันทีถึง 12,000 บาทต่อตัน ส่วนประเทศจีนก็มีนโยบายสำรองข้าวเพื่อควบคุมราคาและป้องกันการขาดแคลน รวมถึงสหภาพยุโรปก็มีแนวทางสำรองธัญพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวทางการสำรองข้าวมีข้อดีคือช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในตลาด และไม่ใช่การแทรกแซงข้าวในตลาด

.

#พรรคเพื่อไทย #ราคาข้าวตกต่ำ #ประชุมสภา