‘ลิณธิภรณ์’ เผย ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศเตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพครอบครัวฯ เพิ่มบทนิยาม-เสริมกลไกเยียวยา มุ่งตัดวัฏจักรความรุนแรง กังวลสถิติผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กในครอบครัว 

.

สส. พรรคเพื่อไทย นำโดย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2565

.

นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ในฐานะ สส.ผู้หญิง รู้สึกเป็นกังวลกับข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด 24,228 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นความรุนแรงในครอบครัวถึง 15,707 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 64.83 ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 10 ปี ถึงไม่เกิน 20 ปี ประเภทความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือความรุนแรงทางร่างกาย จากปัจจัยกระตุ้นในทางสัมพันธภาพในครอบครัว สถานที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงมากที่สุดจึงเกิดขึ้นในบ้านของตนเอง ทั้งที่ควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด ในชีวิตที่คนคนหนึ่งจะมีได้ งานวิจัยของยูนิเซฟก็พบว่า เด็กที่เคยถูกกระทำความรุนแรงเพียงแค่ 4 ครั้งขึ้นไปเท่านั้น มักมีผลต่อการถ่ายทอดวัฏจักรความรุนแรงจากรุ่นสู่อีกรุ่น ส่งผลต่อการใช้ความรุนแรง 7 เท่า มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 30 เท่า

.

ในฐานะ สส. ที่ขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิภาพและการเติบโตเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่นายกฯ แพทองธาร แถลงนโยบายไว้ในการส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม จึงจะเตรียมเสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสวัสดิภาพครอบครัว’  โดยแก้ไขส่วนบทนิยามที่ไม่ครอบคลุมพฤติกรรมคุกคาม และเสริมสร้างกลไกเยียวยาผู้ถูกกระทำอย่างเป็นระบบ ทั้งการคุ้มครองสวัสดิภาพ การเข้ารับการบำบัด และการรับเงินชดเชยเยียวยาจากรัฐ

.

“เด็กในวันนี้ จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ใหญ่ในวันหน้า คือผู้ขับเคลื่อนสังคมของไทย จะสร้างสรรค์ให้ดีได้ หรือจมปลักกับวัฏจักรความรุนแรง อยู่ที่การปลูกฝังในสถาบันครอบครัว โดยรัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ชีวิตคนมีคุณค่ามากกว่าตัวเลข คนไทยทุกคนมีลมหายใจ ควรได้รับการคุ้มครองในฐานะมนุษย์ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” รองเลขาธิการพรรคกล่าว

.

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายเสริมว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็มีวิธีการในการช่วยกันยุติความรุนแรงในครอบครัวอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้

.

1.ตระหนักรู้และเปลี่ยนค่านิยม  เราจะต้องเริ่มต้นสร้างองค์ความรู้แก่คนในครอบครัวถึงผลกระทบของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ว่าไม่ใช่เกิดแค่กับตัวเราแต่กระทบถึงทุกคนในครอบครัว เราจะต้องเคารพความเท่าเทียม เคารพในสิทธิเนื้อตัว ร่างกาย ศักดิ์ศรี ในความเป็นมนุษย์ในครอบครัวร่วมกัน

.

2. เปิดช่องทางช่วยเหลือและแจ้งเหตุ  เราจะต้องสนับสนุนให้ผู้ที่ถูกกระทำ ลุกขึ้นมากล้าแจ้งความหรือร้องทุกข์ดำเนินคดี รวมถึงควรจะต้องมีข้อมูลเตรียมพร้อมว่า หากเกิดเหุการณ์เราจะต้องไปหาหน่วยงานใดช่วยเหลือได้ เช่นโรงพยาบาล ศูนย์พึ่งได้ หรือหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ 

.

3. ใช้กฎหมายจริงจังและมีมาตรการคุ้มครอง เนื่องจากว่าเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำแล้วฯ ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐควรใส่ใจดูแลและช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำ และควรต้องมีมาตรการปราบปรามไม่ให้ผู้กระทำผิดมาก่อเหตุซ้ำอีก

.

4. ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การช่วยเหลือดูแลทั้งร่างกาย สภาพจิตใจ ตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายแก่ผู้ถูกกระทำก็เป็นแนวทางในการดูแลแนวทางหนึ่ง หลายคนถูกกระทำเพราะเป็นคนที่ขาดที่พึ่งพิง รัฐก็ควรจัดหาที่พักพิง จัดฝึกอาชีพ ให้เขามั่นใจและสามารถยืนหยัดใช้ชีวิตได้ และต้องให้กำลังใจผู้ถูกกระทำสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องไปพึ่งพาผู้กระทำผิด

.

5.สร้างครอบครัวเข้มแข็ง เป็นหัวใจหลักสำคัญของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว โดยจะต้องเรียนรู้ดูแล รู้จักจัดการภาวะทางอารมณ์ รู้วิธีคลายความเครียด ไม่กดดัน สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในครอบครัว และหากมีครอบครัว มีลูกน้อยก็จะต้องให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กได้เติบโตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัย

.

#พรรคเพื่อไทย