เปิดเสวนาฯ ‘เสียงสะท้อนผู้บริโภค’  ลดภาระค่าใช้จ่ายคนรุ่นใหม่ มั่นใจ ‘ตั๋วร่วม-20บาท’ สำเร็จในรัฐบาลนี้

วันที่ 14 มีนาคม 2568 ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา เรื่อง “เสียงสะท้อนผู้บริโภคกับการขนส่งสาธารณะและบัตรโดยสารร่วม” เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล และได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค, นายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางรัก พรรคเพื่อไทย และนายเอนกชัย เรืองรัตนากร Senior Stategist พรรคเพื่อไทย

นายชนินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนค่าเดินทางในขนส่งสาธารณะสูงมาก ทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ หรือหากกลุ่มที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก็จะเลือกที่จะผ่อนรถยนต์ส่วนตัวของตัวเองแทน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น ปัญหารถติด มลพิษทางอากาศ และอีกมากมาย ซึ่งในประเทศที่ขนส่งสาธารณะเข้าถึงได้โดยประชาชนทั่วไป จะมุ่งหวังให้ค่าใช้จ่ายทางการเดินทางไม่เกิน 10% ของรายได้เท่านั้น

ทั้งนี้ ปัญหาของขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ (1) ปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายสูง (2) ปัญหาเรื่องความไม่สะดวกสบายของการเชื่อมต่อระหว่างระบบ และ (3) ปัญหาเรื่องการบูรณาการข้อมูลของรัฐ ที่ขาดฐานข้อมูลกลางในการออกมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุด เพราะระบบรับ-ส่ง-จัดเก็บข้อมูล ไม่ได้เชื่อมต่อกัน

นอกจากนี้ ชนินทร์ยังกล่าวว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีนโยบายหลักในการลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ให้คนทำงานสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้น ผ่านหลากหลายนโยบายเพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายตั๋วร่วม, รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือบ้านเพื่อคนไทย ที่จะต้องทำให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ เพื่อช่วยให้ผู้เริ่มเข้าสู่วัยทำงานมีภาระในการครองชีพที่ลดลง มีเงินเหลือเงินเก็บสำหรับตั้งตัวในอนาคตที่มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการกระจายตัวของเมืองออกไปรอบนอก ลดการแออัดกระจุกตัวของคนและรถในพื้นที่กลางเมืองด้วย

ทั้งนี้ วิพุธ กล่าวเสริมในช่วงเสวนาว่า ปัจจุบัน กทม.รับหน้าที่กำกับดูแลขนส่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) รถไฟฟ้า 2) รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) และ 3) BMA Feeder ซึ่งได้เตรียมการยกระดับในหลายๆด้านเพื่อเตรียมพร้อมรองรับนโยบายตั๋วร่วม  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการขนส่งมวลชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเพิ่มขึ้น สามารถเดินทางสัญจรในขนส่งมวลชนประเภทต่างๆได้อย่างหลากหลายเพิ่มขึ้น และหากนโยบายตั๋วร่วมสำเร็จ จะช่วยให้เกิดการบูรณาการกันของระบบตั๋วโดยสารขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในการชำระค่าโดยสาร และรับบริการโดยใช้บัตรใบเดียว รวมถึงภาครัฐที่จะสามารถเก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูลการใช้งานขนส่งทั้งระบบเพื่อการวางแผนพัฒนาต่อไปได้เพิ่มเติม มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับพี่น้องในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างแน่นอน