นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้ถามของนายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง สส.อยุธยา พรรคประชาชน เรื่อง ปัญหาท่าเทียบเรือและคลังสินค้าแม่น้ำป่าสัก ในพื้นที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยนางมนพร เจริญศรี ได้เริ่มต้นกล่าวว่าปัญหาท่าเทียบเรือที่แม่น้ำป่าสักนี้ เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับหลายกระทรวง ทั้งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกรมควบคุมมลพิษฯ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
.
นางมนพร กล่าวว่าภายหลังได้รับทราบกระทู้ ตนเองได้เดินทางลงพื้นที่ ไปดูปัญหาในพื้นที่จริง เพื่อดูท่าเทียบเรือตามที่ท่าน สส.ได้ถาม คำถามแรกที่ถามว่าท่านถามว่า การก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั้นไปเป็นตามกฎหมายหรือไม่ ต้องตอบว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังสินค้าดังกล่าวไม่เป็นข้อห้าม ตามข้อกำหนดของผังเมืองรวมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2560
.
โดยปกติแล้ว การก่อสร้างท่าเรือ จะต้องดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างต่อ “เจ้าท่า” ตามกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย ขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร และจะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment (EIA)) หากเป็นไปตามกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งจะมีการควบคุมการปลูกสร้างโดยท้องถิ่น กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
.
สำหรับประเด็นปัญหาด้านการกัดเซาะตลิ่งและลำน้ำอันเกิดจากการเดินเรือนั้น กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
.
1) ระยะเร่งด่วน ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ในจุดวิกฤต ที่มีปัญหาตลิ่งพังรุนแรงและร่องน้ำตื้นเขิน รวมความยาวทั้งหมด 8,481 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2562
.
2) ระยะต่อมา อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเป็นการขุดลอกเพื่อบำรุงรักษาแม่น้ำป่าสักและพัฒนาทางเรือเดินในแม่น้ำป่าสัก โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 22,118 เมตร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างเขื่อนไปแล้วประมาณ 1,845 เมตร และจะดำเนินการในส่วนที่เหลือในปีงบประมาณ 2568
.
ส่วนประเด็นเรื่องการดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางนั้นก็สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด
ปี 2566 ซึ่งขณะนี้มีท่าเทียบเรือจำนวน 24 โครงการ ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเสนอ สผ. โดยได้รับความเห็นชอบจาก สผ. แล้ว จำนวน 21 โครงการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาและให้ปรับปรุงแก้ไข 3 โครงการ ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องใช้ระยะเวลาในจัดทำ
.
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ร่วมกับจังหวัด ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการควบคุมตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ ดำเนินการสุ่มตรวจวัดฝุ่นละอองและเสียง ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ รวมทั้งได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการ ให้เคร่งครัดในการดำเนินการตามมาตรการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
.
ส่วนเรื่องการควบคุมมลพิษในพื้นที่เขตอำเภอนครหลวงนั้น ในการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประชุมเมื่อ 16 มีนาคม 2560 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษในเขตพื้นที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาและหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ติดตามสถานการณ์มลพิษในพื้นที่และรายงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบเป็นระยะต่อไป
.
“อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ จะดําเนินการติดตามตรวจสอบมลพิษจากสถานประกอบกิจการ และคุณภาพอากาศและเสียงในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น จะพิจารณาข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อทบทวนแนวทาง/มาตรการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป” รมช.มนพร กล่าว
.
#พรรคเพื่อไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง
