ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยมีคะแนนเห็นด้วย 303 เสียง ไม่เห็นด้วย 151 เสียง งดออกเสียง 120 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

 .

วันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาญัตติด่วน ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)  โดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยมี สส.เพื่อไทยร่วมอภิปรายประกอบด้วย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรค นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ และ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปราย

.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เริ่มต้นกล่าวว่าจากกรณีที่สมาชิกรัฐสภา ได้ประชุมเมื่อวันที่่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังมีความเห็นต่างระหว่าง สส.และ สว. ในประเด็นอำนาจของรัฐสภาในการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ  จึงทำให้ที่ประชุมรัฐสภาในวันนั้นถกเถียงถึงกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติว่า จะต้องจัดการทำประชามติก่อนรับหลักการ หรือจัดการทำประชามติก่อนลงมติในวาระที่ 3 ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาวันนั้น ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จนเกิดอุปสรรค เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีดังกล่าว พรรคเพื่อไทย จึงได้เสนอญัตติด่วน ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาว่า รัฐสภา จะสามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติประชาชนว่า ประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่

.

นายสุทิน คลังแสง กล่าวว่า ตนมีความเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีกำแพงที่ยังเดินหน้าไม่ได้คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สร้างความไม่ชัดเจน การยื่นเสนอตีความให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่เชื่อว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ถ้าจะเลือกว่าเตะถ่วงตนเลือกทางนี้ดีกว่า ดีกว่าให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป เป็นแค่การเปรียบเทียบ พรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาถ่วง แต่เราต้องผ่าทางตัน เรายอมรับโลกความเป็นจริงให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้มาให้ชัด พวกเราจะได้ไปต้องเสียเวลา 

.

“เรื่องรัฐธรรมนูญ หากโลกความจริง อำนาจประชาชนเป็นของจริงแก้เสร็จแล้ว แต่ขณะนี้ต้องยอมรับให้ศาลชี้ให้ชัด ถ้าเสี่ยงเดินแบบผ้ามัดตาอาจตกบ่อตาย ดังนั้นจึงยอมเสียเวลา และเมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ผมเชื่อว่าจะได้วิธีแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง หลายคนอ้างไอน์สไตน์ว่า คนโง่ที่ทำวิธีการเดิมๆ แล้วจะได้คำตอบใหม่ แต่พูด หรือคิดไม่หมด ตีความมแบบนั้นไม่ได้ หากไอน์สไตน์ยังมีชีวิตจะถามว่าทำวิธีเดิมๆ ในบริบทใหม่ อาจได้คำตอบใหม่ดังนั้นตนมั่นใจและภูมิใจสนับสนุนให้เสนอญัตติสู่ศาลตีความเพื่อให้หายสงสัย เมื่อมีความชัดเจนแล้วจะเดินหน้าได้” นายสุทินกล่าว

.

นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายล้วนตระหนักกันแล้วว่า รธน. 2560 มีปัญหา และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ที่เกิดจากการแต่งตั้งผู้ยกร่างโดย คสช. “กลางน้ำ” คือบรรดาสารัตถะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในบทบัญญัติส่วนต่าง ๆ และ “ปลายน้ำ” คือการจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมไว้อย่างยากลำบาก พรรคเพื่อไทยไม่ยอมอีกแล้ว ให้วัฏจักรความล้มเหลวกลับมา เราต้องการทำให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยให้คำมั่นสัญญากับประชาชน 

.

นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ไม่ว่าในที่ประชุมรัฐสภาจะเห็นต่างอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาคือ ต้องทำให้รัฐสภาทำหน้าที่ได้ตามกลไกและอำนาจหน้าที่ ความเห็นต่างในเรื่องอำนาจหน้าที่เป็นเหมือนกำแพงกั้นไม่ให้เดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไปได้ จึงต้องเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงเตะถ่วงเวลาให้ยืดเยื้อออกไป แต่เพื่อทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราไม่สะดุด เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่ “ทำได้” ไม่ใช่แค่ “ได้ทำ”

.

“หากพิจารณากันไปแล้วเกิดมีปัญหาล้มวาระร่างรัฐธรรมนูญไปเสียหมด ฝ่ายที่ดึงดันจะรับผิดชอบเวลาที่เสียไปมากกว่าเดิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความผิดหวังของประชาชนอย่างไร? เดินไปก็มีแต่ทางตัน และต้องใช้เวลาเท่าไรอีกไม่ทราบเพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดประตูบานแรก เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ทำให้ความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมดสูญเปล่า ไม่ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชนต่อรัฐสภาแห่งนี้สูญสิ้นไป” นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าว

.

นายก่อแก้ว พิกุลทอง กล่าวว่าการขอแก้ไข รธน. นั้นจะต้องขอความเห็นร่วมจากสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. เขามีข้อติดขัดข้องใจ พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำก็ต้องใช้เวลา เพื่อโน้มน้าวใจให้สมาชิกรัฐสภาได้เข้าใจและยินดีพร้อมร่วมลงคะแนน แต่อย่าลืมว่าในวาระ 1 ต้องใช้เสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง และเสียงของ สว. อย่างน้อย ⅓ หรือ 76 เสียง แน่นอนว่าเสียงจากพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคอาจรวมเสียง สส. ได้ถึงกึ่งหนึ่ง แต่จะได้เสียง สว. 76 เสียงหรือไม่ เราจะดันทุรังรีบลงคะแนนเพื่อให้ล้มเหลวไปเพื่ออะไร แต่ถ้าเราใช้เวลาอีกนิด พูดคุยกันด้วยความเข้าใจ เพื่อให้เขาได้เห็นพ้องและลงคะแนนร่วมกัน  ซึ่งก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็จะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ จึงเป็นที่มาของการยื่นญัตติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้

.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี สสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขณะนี้มีความเห็นต่างกันในรัฐสภา บางพรรคการเมืองไม่อยากร่วมสังฆกรรมกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ด้วยเหตุผลว่ามีความเสี่ยงว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ สว.หลายคนก็มีความเห็นแบบนี้ เกิดความเห็นต่างชัดเจน เราจำเป็นต้องหาข้อยุติ ไม่ได้เตะถ่วง พรรคเพื่อไทยอยากให้แก้รัฐธรรมนูญสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

.

“มาถึงวันนี้หากไม่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาชัดเจน ก็จะมีปัญหาพรรคการเมืองบางพรรค ก็จะมีบางเสียงหายไปแน่ๆ หากคำวินิจฉัยมีความชัดเจน ให้พิจารณาได้ไม่ต้องทำประชามติก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จ ผู้ที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนใจมาสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ” นายจาตุรนต์กล่าว

#พรรคเพื่อไทย #แก้รัฐธรรมนูญ