ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับประเด็นที่มีผู้อภิปรายได้กล่าวว่า รัฐบาลนั้นไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง 

ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมแห่งนี้ เป็นการแถลงนโยบายที่มีลักษณะเด่นอันหนึ่ง ที่ไม่เคยพบเห็นรัฐบาลใดแถลงนโยบายเช่นนี้มาก่อน คือ ได้มีการวิเคราะห์ให้เห็นว่าสังคมไทยมีปัญหาที่เป็นความท้าทาย อยู่ 8 ประการ 

.

ประการที่ 7 ได้ระบุไว้ว่า ‘ปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมายาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้’

สิ่งที่เขียนไว้ในเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความจำเป็นที่เราจะร่วมมือกันในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

.

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดหมวดว่าด้วยการปฏิรูปไว้ท้ายของรัฐธรรมนูญ ทั้งการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเขียนในรัฐธรรมนูญด้วยว่า ให้ตรากฎหมายว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศและให้เริ่มทำภายใน 1 ปี แต่แม้จะเขียนไว้เช่นนั้น การปฏิรูปการเมืองไม่เกิดขึ้น กลับไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จากเหตุที่ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอีกด้วย ท้ายที่สุด กฎหมายพรรคการเมืองที่ออกมา ไม่ได้แสดงถึงมิติการปฏิรูปการเมือง มีแต่การกำจัด ควบคุม ยุบพรรคการเมือง และจำกัดอำนาจให้อยู่กับร่องกับรอย หมายความว่า ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นปฏิปักษ์โดยตัวของมันเองต่อการพัฒนาการเมือง ทำให้การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

.

นายชูศักดิ์ได้กล่าวถึงประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเผยว่าเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ได้กราบเรียนต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่ารัฐบาลมีความพยายามจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปัญหาอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2564 อันมีสาระสำคัญ เรื่องการจำนวนครั้งในการทำประชามติ 

.

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญ 60 เกิดขึ้นมาจากประชามติ ถ้าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไปถามประชาชนก่อนว่าจะประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงเกิดเป็นการตีความ 2 นัยยะ ที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าควรทำประชามติ 3 ครั้ง อีกฝ่ายมองว่าควรทำประชามติแค่ 2 ครั้ง และท้ายที่สุด เกิดการยื่นญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในขณะนั้นประธานสภาสั่งไม่บรรจุลงวาระ แปลได้ว่าสภาในขณะนั้นเห็นควรว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง 

.

ในรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญต่อไป เกิดเป็นการตัดสินใจว่าจะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง และต้องมีการแก้กฎหมายประชามติ แต่ประธานสภาในขณะนั้นไม่บรรจุระเบียบวาระ และนำเรื่องนี้เข้าสู่ครม. เป็นมติครม. เห็นชอบให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และแก้กฎหมายประชามติ ซึ่งทราบกันดีว่าประสบปัญหา ขณะนี้รอเวลา 180 วัน ต่อมาเมื่อมีการสั่งให้บรรจุระเบียบวาระ โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลเสนอกฎหมายประกบได้หรือไม่ ควบคู่กับไปกับร่างของพรรคการเมือง แต่รัฐบาลเดินหน้าไปเรื่องประชามติสามครั้ง 

เลยเสนอว่าให้เป็นการเสนอตามดุลยพินิจของแต่ละพรรค และเพื่อไทยก็ตัดสินใจเสนอร่างเพื่อพิจารณาด้วยกัน

.

“เรามีมติรัฐสภาไปแล้ว ให้สอบถามศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาดว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง หากเป็นไปได้ให้ทำ  2 ครั้ง ญัตติรัฐสภาจะเดินหน้าต่อ และประกบกับ 180 วันของกฎหมายประชามติพอดี ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เรามีความจริงใจที่อยากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีผลสำเร็จเกิดขึ้นให้ได้” นายชูศักดิ์ กล่าว

#พรรคเพื่อไทย

#อภิปรายไม่ไว้วางใจ

#รัฐธรรมนูญ