พรรคเพื่อไทย นำโดยนายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค ในฐานะผู้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติแผ่นดินไหว เพื่อส่งคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

โดยมีนายพชร จันทรรวงทอง สส.นครราชสีมา นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่  นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ สส.เชียงราย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายญัตติเรื่องเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีข้อเสนอแนะหลายประการตั้งแต่เรื่องกฏหมายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่เน้นแต่การจัดซื้อที่ราคาถูกที่สุด ส่งผลให้มีการลดสเปกหรือลดคุณภาพงาน ระบบการรับเหมาก่อสร้างที่มีการเหมาช่วงจนได้ผู้รับจ้างที่ไม่มีคุณภาพและหน่วยงานภาครัฐลงไปตรวจสอบลำบาก ระบบเตือนภัยที่ยังไม่สมบูรณ์ทำให้การเตือนภัยล่าช้า ตึกและอาคารเก่าที่สร้างก่อนมีกฏหมายควบคุมอาคารให้มีระบบป้องกันแผ่นดินไหว การตรวจสอบอาคารหรือคอนโดมิเนียมในกรุงเทพที่ต้องเร่งตรวจสอบความปลอดภัยและซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงสุดได้ท้ายเสนอแนะให้ภาครัฐเร่งรัดผลสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตึกถล่มย่านจตุจักรให้รวดเร็วที่สุด เพื่อคืนความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน 

.

[ระบบ Cell Broadcast เตือนภัยต้องมีให้เร็วที่สุด]

.

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายเรื่องการเตือนภัย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและสะเทือนถึงกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการถกเถียงกันถึงแนวทางการเตือนภัยแผ่นดินไหวอย่างไร ก็พบว่า ที่ญี่ปุ่นมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า (Earthquake Early Warning: EEW)  ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเกิดรอยเลื่อนจะปล่อยคลื่นออกมา 2 ประเภทหรือคลื่นปฐมภูมิ คลื่นนี้จะมีความเร็วแต่ว่าไม่มีแรงทำลายล้าง ส่วนคลื่นที่สอง คือคลื่นทุติยภูมิเคลื่อนไหวช้ากว่าแต่ทำลายล้างสูงกว่า ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีเครื่องมือจับความเคลื่อนไหวกว่า 1,000 จุดในแนวใกล้แผ่นดินไหว เมื่อระบบจับสัญญาณได้ก็จะแจ้งไปยังคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบนี้จะบอกได้ว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ใด และจะกระทบพื้นที่ใกล้เคียงโดยระยะเวลาเท่าใด เมื่อประมวลผลเสร็จก็จะส่งไปยังระบบการเตือนภัยต่อพี่น้องประชาชน ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และ Cell Broadcast ซึ่งรัฐบาลก็พยายามให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

.

[แก้ปัญหาผู้รับเหมาช่วงไม่ได้มาตรฐาน]

.

นายพชร จันทรรวงทอง สส.นครราชสีมา อภิปรายสรุปปัญหารับเหมาก่อสร้างที่มีปัญหาหลายประการได้แก่ 

.

ประการแรก คือปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยใช้ราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ ทำให้ไม่สามารถสร้างได้ตามแบบมาตรฐานหรือล่าช้า ดังนั้น เมื่อมีการประมูลงาน รัฐไม่ควรจะดูแค่ราคาประมูลต่ำสุด แต่ควรดูเหตุผลอื่นเช่น ความมั่นคงแข็งแรงของงานประกอบด้วย 

.

ประการสอง วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุ ที่ตั้งโรงงานที่ผลิตด้วย

.

ประการสาม ปัญหากิจการร่วมค้า ซึ่งเกิดจากบริษัทเล็กไม่มีผลงาน แต่อยากได้งานจึงต้องหาบริษัทที่มีผลงานมาร่วมค้า เพื่อให้มีสิทธิประมูลงาน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รับเหมาตัวจริงจะเป็นบริษัทเล็กที่ขอร่วมทุน จึงควรต้องมีเกณฑ์เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ไม่ใช่ปล่อยให้แค่ร่วมกันรับงานได้

.

ประการสี่ การรับงานภาครัฐ  ที่ผ่านมาจะดูแค่ ประสบการณ์งานที่เคยรับ ดูทุนจดทะเบียน แต่ขาดการตรวจสอบตัวกรรมการ หรือผู้จัดการ ว่าเป็นผู้บริหารตัวจริงหรือแค่นอมินีอย่างที่เป็นข่าว

.

ประการห้า  บริษัทผู้รับเหมาควรจะต้องมีแผนกความปลอดภัย หากแผนกควรมีอิสระ มีองค์ความรู้อย่างยวดยิ่ง และหากพิจารณาเห็นว่า การก่อสร้างจุดใด โครงการไหนไม่ปลอดภัย สามารถที่จะทักท้วงได้และบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ก็ควรจะต้องรับฟังและแก้ไขปัญหา

ประการหก ผู้รับเหมารับงานพร้อมกันหลายงาน เมื่อผู้รับเหมารับงานพร้อมกันหลายงาน ทำให้มีปัญหาทั้งบุคลากร และกระแสเงินสด หลายครั้งงานล่าช้าเพราะผู้รับเหมาขาดแรงงาน หรือทิ้งงานเพราะขาดเงินทุน และ

.

ประการเจ็ด ผู้รับเหมาไปมีผู้รับเหมาช่วง ซึ่งหลายครั้งมีการรับเหมาช่วงไปถึง 3-4-5 ช่วง ซึ่งผู้รับเหมาช่วงที่ 4-5 แทบจะตัดแบ่งกำไรกันไม่เหลือ และเมื่อขาดทุนสิ่งที่เขาไปทำคือการลดสเปกลดคุณภาพ 

.

ประการสุดท้าย มาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งบริษัทประกันภัยบางแห่งอาจหาช่องทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่ชดใช้ รัฐจึงควรมีมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ไม่ใช่เมื่อมีเหตุรุนแรงครั้งหนึ่งก็ต้องประชุมหามาตรการเยียวยากันสักครั้ง จึงควรมีมาตรฐานเยียวยาให้ชัดเจนกับบริษัทประกันภัยอย่างชัดเจนและเยียวยาอย่างรวดเร็ว

.

[การต่อเติมอาคารไม่ได้มาตรฐาน]

.

นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ อภิปรายว่าหลังเหตุแผ่นดินไหว โรงพยาบาลในภาคเหนือหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลแพร่ และโรงพยาบาลที่ลำปางมีแค่รอยร้าวเล็กน้อย จึงทำให้คิดต่อว่า ตึกอาคารของโรงพยาบาลเหล่านี้ได้ออกแบบสำหรับรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือไม่ ยิ่งระยะหลังโรงพยาบาลมักต่อเติมอาคารทางเชื่อมยื่นออกไป ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้  นอกจากนี้ โรงพยาบาลส่วนมากในต่างจังหวัดมักจะมีทางเดินบันไดที่แคบ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็มีปัญหาว่า ไม่สามารถอพยพเตียงคนไข้ลงจากตึกได้ นี่ก็เป็นข้อสังเกตที่ทำให้เราได้คิด พิจารณา และสุดท้ายสิ่งที่อยากฝากหน่วยงานภาครัฐช่วยดูคือ ได้มีการเตรียมฝึกซ้อมเตรียมอพยพหนีไฟ หนีแผ่นดินไหวหรือไม่ในโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงที

.

[ตรวจสอบอาคารเก่าต้องปลอดภัย]

.

นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายเสนอแนะให้มีระบบการตรวจสอบเชิงรุก ต่ออาคารเก่าที่สร้างก่อนการประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการต้านทานแผ่นดินไหว โดยการจัดทำคู่มือฉบับประชาชนและฝึกอบรมช่างท้องถิ่นเกี่ยวกับวิธีการประเมิน เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในระยะชุมชน คู่ขนานไปกับบริการตรวจสอบโครงสร้างเคลื่อนที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงหลังเกิดเหตุแต่มากไปกว่านั้น คือการกวดขัดการอนุมัติแบบก่อสร้างอาคาร เพิ่มเติมจากกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 โดยขอเสนอให้เพิ่มการตรวจสอบแบบก่อสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมต้านทานแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ แยกคำนวณเป็นสัดส่วนชัดเจน และกวดขันการตรวจสอบการก่อสร้างในทุกขั้นตอนสำคัญเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร

.

[ระบบจัดซื้อที่เอาแต่ของถูก ได้ของไม่มีคุณภาพ]

.

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ สส.เชียงราย อภิปรายถึงกฏหมายที่เป็นปัญหาของภาครัฐที่ทำให้เกิดปัญหาคือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2560 และระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 โดยกฏหมายสองฉบับนี้ระบุวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งทำให้ราชการต้องเลือกที่ถูกไว้ก่อน ซึ่งของดีราคาถูกมันมีจริงหรือครับ เมื่อเราได้ของถูกที่ไม่ใช่ของดีพอมีปัญหาก็โทษกัน หลายหน่วยงานเกิดปัญหาเช่นนี้

.

ส่วนเมื่อเราเกิดเหตุร้ายแล้วเราก็ไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้รวดเร็ว เพราะติดขัดกฏหมาย รวมถึงระบบมาตรฐานการผลิตสินค้า ที่มักจะมีของปลอมของเลียนแบบ ไม่ได้มาตรฐานเช่น เหล็กที่เป็นข่าว มาตรฐานการควบคุมงาน ทั้งหมดนี้คือมาตรฐานที่เราจะต้องเปิดคุยและแก้ไขกันด้วยความจริง

.

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึงโมเดลการแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวในหลายประเทศมีความเด่นน่าสนใจเช่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีพิบัติภัยเขาจะมีกระเป๋ายังชีพ ซึ่งเราสามารถปรับใช้ได้ ถัดมาเป็นประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเด่นในเรื่องระบบการกู้ภัยแบบบูรณาการและกองทุนฟื้นฟูเยียวยา ที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ประเทศชิลีมีความเด่นเรื่องเทคโนโลยีและวิศวกรรมในการก่อสร้างต้องรองรับแผ่นดินไหว โดยมีเทคโนโลยีป้องกันระบบสั่นไหวของอาคาร จากนั้นใกล้เข้ามาคือไต้หวันที่มีความโดดเด่นในเรื่องการให้การอบรมการศึกษารวมถึงพิพิธภัณฑ์ รวมถึงมีแผนการซ้อมภัยพิบัติที่ดี รวมถึงที่สุดท้ายคือ โมเดลด้านเอไอวิจัย และนวัตกรรมจากสหรัฐอเมริกา ที่เขาสามารถจับสัญญาณแผ่นดินไหวในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งทั้งหมดคือแนวคิดที่ไทยเราควรนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

.

#พรรคเพื่อไทย #แผ่นดินไหว