นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้ถามของนายกรุณพล เทียนสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน เรื่อง แผนงานการปรับปรุงสถานีรถไฟในกรุงเทพมหานครและการให้บริการขบวนรถไฟ ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design)

โดยได้เผยแผนพัฒนาสถานีวงเวียนใหญ่และสถานีธนบุรี เป็นสถานีรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย เพื่อยกระดับขึ้นเป็น โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน – ศาลายา  ที่จะเชื่อมรถไฟเข้าไปถึงโรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้แพทย์ พยาบาล ประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลได้เดินทางได้สะดวกขึ้น

.

นางมนพร เจริญศรี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีโครงการในการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณโดยรอบในสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี และสถานีรถไฟธนบุรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ดังนี้

.

สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณโดยรอบสถานี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะก่อสร้างเป็นรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมที่จะลงนามจ้างที่ปรึกษาทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียดในเดือน เม.ย. 68 

.

ทั้งนี้ ในการออกแบบ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่มตามหลักการออกแบบที่เป็นมิตร เป็นธรรม เป็นสากล ยึดหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะปรับปรุงให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

.

สถานีรถไฟธนบุรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณโดยรอบสถานี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะพัฒนาสถานีธนบุรี (ปัจจุบัน) เป็นสถานีศิริราช (สายสีแดง) ภายใต้โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน – ศาลายา  

.

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอเรื่องขอปรับกรอบวงเงินโครงการฯ ให้คณะรัฐมนตรี ภายในเดือน เมษายน 2568 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในเดือน มกราคม 2569 โดยจะปรับปรุงให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม อีกทั้งสถานียังเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลศิริราชรองรับผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล

.

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดของการปรับปรุง เพื่อให้ทั้งสองสถานี เป็นไปตามหลักการอารยสถาปัตย์ (Universal Design) คือ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ช่วยส่งเสริมให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการตลอดจนคนที่ใช้รถเข็น และครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมถึงสตรีมีครรภ์ และนักท่องเที่ยวหรือคนที่ต้องลากกระเป๋าสัมภาระ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ หรือบริการพื้นฐานต่างๆ ในสังคมได้ โดยสะดวก และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นตึกอาคาร สถานที่ แหล่งท่องเที่ยว วัด ศาสนสถาน ฟุตบาททางเดินเท้า ระบบขนส่งมวลชน  ประกอบด้วย

.

1. ความเสมอภาคในการใช้งาน (Equitable use)

2. ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Flexibility)

3. ความเรียบง่ายใช้งานง่าย (Simplicity)

4. ข้อมูลมีมากพอสำหรับการใช้งาน (Perceptible information)

5. ความปลอดภัย ป้องกันความผิดพลาด (Safety)

6. การใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ (Low physical effort)

7. มีพื้นที่ในการใช้งานที่เหมาะสม (Size and space for approach and use)

.

นอกจากนี้ ยังมีส่วนอาคารสำหรับผู้พิการ ทุพลภาพ โดยจะจัดทางลาด ให้มีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

.

(1) พื้นผิวทางลาดต้องเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น

(2) พื้นผิวของจุดต่อเนื่องระหว่างพื้นกับทางลาดต้องเรียบไม่สะดุด

(3) มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร

(4) มีพื้นที่หน้าทางลาดเป็นที่ว่างยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร

(5) มีความลาดชันไม่เกิน 1 ต่อ 12 และมีความยาวช่วงละไม่เกิน 6 เมตร 

(6) ทางลาดด้านที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงจากพื้นผิวของทางลาดไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และต้องมีราวจับ และราวกันตก รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องดับเพลิงให้เพียงพอด้วย

.

#พรรคเพื่อไทย