รู้เขา- เข้าใจทรัมป์ : เดินหมากอย่างระวัง ในวันที่ทรัมป์คิดเปลี่ยนโลก 

การขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกขึ้นกำแพงภาษีในอัตราสูงถึง 36% 

รัฐบาลไทยได้ดำเนินการโดยมีแผนยุทธศาสตร์ในการรับมือต่อมาตรการทางภาษี บนฐานการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของอเมริกาในเวทีการค้าโลก และเน้นการเจรจาแบบมีลำดับขั้นตอนเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ และการเดินทางเพื่อพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างแรงสนับสนุนจากภายในของสหรัฐอเมริกาเองเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประเทศไทย

.

เพื่อตอบคำถามที่เกิดขึ้นในสังคม ในการสัมภาษณ์รายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย’ ออกอากาศในวันที่ 7 เมษายน 2568 ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ตอบประเด็นสงสัย พร้อมเปิดแนวทางการรับมือและเจรจากับสหรัฐฯ โดยเริ่มจากการแนวคิดการ ‘รู้เขา’ คือการพยายามเข้าใจทรัมป์เพื่อนำไปสู่การเจรจา ความเข้าใจในกระบวนการเจรจา และเปิดกลยุทธ์ของไทยในการเป็นพื้นที่แปรรูป รับสินค้าเกษตรของอเมริกาที่ไม่กระทบต่อสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เช่น ภาษีนำเข้าหรือการสานต่อความร่วมมือเพื่อยืนยันความเป็นมิตรประเทศและการเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยและสหรัฐฯ ต่อไป

.

.

รู้เขา- ระเบียบโลกใหม่ของทรัมป์

.

ประเด็นแรกที่  ดร. ศุภวุฒิ ชี้ให้เห็นคือ ประเทศที่เร่งรีบเข้าเจรจากับสหรัฐฯ ไม่มีประเทศใดที่ประสบความสำเร็จ โดยระบุว่าไทยเองก็มีความคิดในการปกป้องผลประโยชน์ให้เป็นเหมือนสภาวะ ‘ก่อนทรัมป์’ และชี้ว่าทุกประเทศที่เข้าดำเนินการ เช่นการเดินทางเข้าเจรจาในระดับนายกรัฐมนตรี เช่น แคนาดา อินเดีย และญี่ปุ่น แต่ไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จ และอยู่ในรายชื่อการขึ้นภาษีทั้งหมด รวมถึงสหราชอาณาจักรที่ขาดดุลการค้า ยังถูกขึ้นภาษีในอัตรา 10%

.

ในมุมมองของคณะที่ปรึกษารวมถึง ดร. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ มองเห็นว่าประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ ต้องการเปลี่ยนโลกและเปลี่ยนจุดยืนอเมริกา ซึ่งสะท้อนผ่านรายชื่อการจัดเก็บภาษีกับทุกประเทศจำนวน 180 ประเทศ ไม่มีข้อยกเว้น

.

ความเข้าใจสำคัญคือ ความเข้าใจการทำงานภายใต้การบริหารของทรัมป์ ที่ ดร. ศุภวุฒิ อธิบายว่าความชัดเจนต่างๆ ขึ้นอยู่กับทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดี จำเป็นต้องรอความชัดเจนจากประธานาธิบดีทรัมป์ก่อน รวมถึงการเร่งเจรจาอาจเป็นการยอมเสียผลประโยชน์ไปโดยไม่มีการแลกเปลี่ยน ข้อสำคัญคือการหาแนวทางว่า ในสถานะใหม่นี้ ไทยเราจะอยู่กับเขาอย่างไร จะมียุทธศาสตร์อย่างไร

.

โดยข้อเสนอของไทย สัมพันธ์กับการวิเคราะห์จุดยืนและความต้องการของสหรัฐ

.

คณะทำงานคาดการณ์ว่า สหรัฐภายใต้การนำของโดนัลล์ ทรัมป์ ต้องการจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลมุมมอง 3 ประการคือ

.

  1. มองการเกินดุลการค้าเช่นของประเทศไทยว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ
  2. ต้องการนำรายได้จากการเก็บภาษีไปใช้ในนโยบายด้านภาษีภายในของสหรัฐ
  3. ต้องการดึงการผลิตกลับไปที่สหรัฐอเมริกา

.

อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีโดนัลทรัมป์ ไม่มีเจตนาในการลดภาษี โดยทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า การลดภาษีจะ ‘ทำได้เมื่อประเทศหนึ่งๆ มอบข้อเสนอที่ ‘มหัศจรรย์ (phenomenal)’ ‘ ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถมอบข้อเสนอพิเศษใดๆ ได้

.

.

รู้เรา- ดันไทยเป็นพื้นที่แปรรูป

.

การปรับตัว และนำเสนอจุดยืนใหม่เพื่อรับมือและยืนยันความเป็นคู่ค้าและมิตรที่ดีจึงคิดขึ้นจาก ความเข้าใจจากเงื่อนไข 3 ประการ ไทยจึงเสนอแนวทางการทำงาน 

.

ในการดำเนินการ มีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ทำการศึกษาตลาดและเงื่อนไขต่างๆ จึงมองเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการแปรรูปวัถุดิบทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อส่งขายออกทั่วโลก 

.

กลยุทธ์ดังกล่าวนอกจากมองว่า สหรัฐอเมริกามีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรชั้นแนวหน้าของโลก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งประเทศจีนเองพึ่งพาการนำเข้าผลิตผลทางการเกษตรจากสหรัฐด้วยแล้ว ยังมองเห็นภูมิศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐที่เกษตรกรเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคริพับลิกัน และเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีเอง

.

ความสำคัญในท่าทีของประเทศไทย คือการดำเนินการตามทางสายกลาง คือไม่ได้เร่งรีบหรือตอบโต้ แต่คือการหาหนทางอยู่ร่วมกับอเมริกาในยุคทรัมป์ใหม่

.

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดพื้นที่และบทบาทใหม่ของประเทศไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ประเทศไทยยังคงยืนยันในการรักษาผลประโยชน์และปกป้องระบบเศรษฐกิจของไทย เช่นผลระทบจากการน้ำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อเกษตรกรไทย 

.

ดร. ศุภวุฒิ ชี้ให้เห็นว่า วัตถุดิบจากสหรัฐได้แก่ ถั่วเหลือง หรือ ข้าวโพด เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่เกษตรกรไทยผลิตได้ไม่เพียงต่อความต้องการ เช่น ข้าวโพดที่มีความต้องการราว 10 ล้านตันต่อปี แต่เกษตรกรไทยผลิตได้ราว 5 ล้านตัน และการดึงศักยภาพการผลิตและการแปรรูปของผู้ประกอบการไทย สามารถขยายการแปรรูปและเพิ่มความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มเติมได้

.

ในกรณีเช่น สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมูเนื้อไก่ที่สร้างความกังวล ดร. ศุภวุฒิ เน้นย้ำว่า สินค้ากลุ่มดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน จะต้องรอในขั้นเจรจาเพื่อหาข้อยุติ แต่ ดร. ศุภวุฒิ ได้ยกตัวอย่างชิ้นส่วนเครื่องในหมูหรือไก่ที่อาจสร้างความร่วมมือในการผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเงื่อนไขและรายละเอียดจะอาศัยการเจรจาในรายละเอียดจากการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่

.

ทั้งนี้แนวทางการรับมือและกลยุทธ์การรับมือมาตรการภาษี รัฐบาลไทยได้มีการทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วน มีการพูดคุยกันในเชิงลึก นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์

.

.

รู้กระบวนการ- การเจรจาในหลายระดับ

.

ด้วยความเข้าใจด้านการเจรจา นอกจากการไม่เร่งเจรจา ดร. ศุภวุฒิ ยังชี้ให้เห็นกระบวนการเจรจาด้านการค้าต่อสหรัฐ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์การทำงานในสถานทูตไทยในวอชิงตัน อธิบายว่าการเจรจาเกิดขึ้นในสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative หรือ USTR) การเจรจามักเป็นระดับเจ้าหน้าที่คือระดับอธิบดีก่อน ภายใต้กรอบ Trade Policy Staff Committee (TPSC) กล่าวคือ การเจรจาต้องทำในระดับเจ้าหน้าที่ก่อน

.

การเจรจาดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เข้าเจรจาการค้ามาโดยตลอดเป็นระยะกว่าเวลา 30 ปี ดังนั้นปลัดกระทรวงพาณิชย์จึงเป็นประธานคณะทำงานในการเจรจาในกรณีรับมือการขึ้นภาษีในครั้งนี้ และกระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ เป็นการหาความตกลงซึ่งมีรายละเอียดและมีประเด็นเจรจาหลายประเด็น เมื่อการเจรจายุติหรือพบข้อสะดุด จึงค่อยแต่งตั้งระดับรัฐมนตรีเข้าเจรจาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

.

นอกจากการเข้าเจรจาตามกระบวนการเจรจาการค้า จากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า ประเทศไทยได้เตรียมการรับมือด้วยการต้ังคณะทำงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ในการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาคเอกชนและตัวแทนในภาคส่วนอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาเอง

การเดินทางของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นการเดินทางเพื่อประสานหารือกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแรงผลักดันและอำนาจต่อรอง ด้วยการสร้างความเป็นพันธมิตรของประเทศไทยในพื้นที่ภายในอเมริกาเอง เช่น การเข้าพูดคุยกับเกษตรกร หรือการมองเห็นภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐ เช่น กรณีกลุ่มวุฒิสมาชิกจาก 4 มลรัฐที่ส่งสัญญาณขัดแย้งต่อประธานาธิบดี ที่ทั้ง 4 มลรัฐเป็นรัฐที่ผลิตสินค้าเกษตรรัฐสำคัญ

.

การเจรจากับภาคส่วนต่างๆ จะช่วงสร้างแนวร่วมภายในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มมลรัฐที่มีความสำคัญด้านการเกษตร สร้างแรงสนับสนุนภายใน เพื่อเสนอจุดร่วมในการที่ไทยจะเป็น ‘ผู้แปรรูปคุณภาพดี เพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยใช้ทรัพยากรที่ดีที่สุดของอเมริกา’ 

.

.

รู้ความต้องการ- หาดุลยภาพ รักษาไมตรีซึ่งกันและกัน

.

ในประเด็นสัมภาษณ์ มีประเด็นว่าท่าทีของโดนัล ทรัมป์ จะมี ‘ปาฏิหาริย์’ คือผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือแรงกดดันภายในอเมริกาเองที่เกิดจากการขึ้นภาษี เช่นท่าทีของตลาดหุ้นที่ร่วงลงเป็นประวัติการณ์ ท่าทีของประเทศไทยในการหาดุลยภาพใหม่ระหว่างการค้าไทยสหรัฐ เช่นการปรับลดมาตราการทางภาษี การสานต่อการลงทุนที่ไทยและสหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกันเช่นก๊าซธรรมชาติ การนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลดการส่งออกที่ไม่ถูกต้องเช่นการสวมสิทธิเพื่อประโยชน์ทางภาษี ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ดุลยภาพทางการค้าของไทยและสหรัฐ สมดุลมากขึ้น

.

การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ดร. ศุภวุฒิ ระบุว่ารัฐบาลเตรียมการรับมือในหลายวิธีการ อาทิ การตั้งกองทุนเพื่อการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับธุรกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก และสนับสนุนในการหาตลาดใหม่นอกเหนือจากอเมริกา โดยกลุ่มธุรกิจ รัฐบาลจะมุ่งเน้นความช่วยเหลือไปที่กิจการของประเทศไทยและเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก

.

ดร. ศุภวุฒิ เน้นย้ำว่า ‘เราต้องยอมรับว่าเราเกินดุลการค้ากับสหรัฐกว่า 40,000 ล้านเหรียญต่อไปไม่ได้ โลกเก่าเดิม หรือสิ่งที่เราหวังจะกลับไปเป็นแบบเดิมเป็นไปไม่ได้’ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าแนวทางทั้งหมดของประเทศไทยในการวางดุลยภาพใหม่ เป็นการเปิดโอกาสให้กับการดำเนินนโยบายด้านภาษีของทรัมป์ที่อาจลดความแข็งกร้าวลง