‘พรรคเพื่อไทย’ ระดมสมอง ‘แกนนำพรรค – สก.’ ลุย ‘ปรับกรุง ปรุงใหม่ เพื่อ กทม. แบบไหนที่ใช่คุณ’ รับฟังปัญหา-ปรับแก้ไข หวังยกระดับชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2568 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดการเสวนาและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Policy Workshop) ภายใต้ชื่อ “ปรับกรุง ปรุงใหม่ เพื่อ กทม. แบบไหนที่ใช่คุณ” ซึ่งพรรคเพื่อไทยจัดขึ้น ณ โรงแรม เอสซี ปาร์ค กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังปัญหาการดำเนินงานและปัญหาในพื้นที่จาก ส.ก. พรรคเพื่อไทย พร้อมร่วมวิเคราะห์ และระดมแนวทางแก้ไขที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของประชาชนในทุกมิติ โดมี ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมกิจกรรมในฐานะวิทยากรพิเศษ พร้อมประธานโซน กทม. นำโดย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย , นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคเพื่อไทย และ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม  รวมไปถึง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีต สส. กทม. ,  นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต สส. กทม. , นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต สส. กทม.  , นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และ นายสากล ม่วงศิริ อดีต สส. กทม. เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปเชิงนโยบาย ภายใต้แนวคิด “เจาะปม – ระดมไอเดีย – เจียระไนความคิด – เพื่อชาวกรุง” ในช่วงเช้าและกิจกรรม “Policy Workshop” ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน ก่อนจะสรุปแนวทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์และตรงจุด พร้อมให้ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน การกระจายทรัพยากรและการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

โดย ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะวิทยากรพิเศษ กล่าวให้โอวาทกับผู้ร่วมงาน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกระตุ้นให้ทุกคน ‘ปรับตัว’ ให้ทันกับความท้าทายของเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างนโยบายกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของประชาชน พร้อมทั้งยังสนับสนุนการนำทฤษฎี 3E (Education Engineering Enforcement) เพื่อใช้แก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสนับสนุนให้นโยบายรถ Feeder เอื้ออำนวยประชาชนในการใช้ขนส่งสาธารณะประสบความสำเร็จอีกด้วย

.

ขณะที่ นายสรวงศ์  เทียนทอง ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการ ‘Re-Unite’ ของครอบครัวผู้ทำงานเพื่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร มาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาแต่ละเขต รวมถึงอุปสรรคที่ทีม ส.ก. พบเจอในภาคสนาม เพื่อเชื่อมโยงนโยบายของพรรคกับการปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมอยากให้ทุกท่านเปิดใจและแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ เพื่อปรับวิธีการทำงานให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงได้อย่างแท้จริง

.

“พรรคเพื่อไทยพร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและนำข้อวิพากษ์วิจารณ์มาปรับปรุงการทำงาน พร้อมเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนทุ่มเทในการทำเวิร์กชอป เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดแผนแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว

.

สำหรับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Policy Workshop) ภายใต้ชื่อ “ปรับกรุง ปรุงใหม่ เพื่อ กทม. แบบไหนที่ใช่คุณ” นั้นได้มีการนำเสนอผลงานและข้อเสนอจากประธานโซน กทม. ทั้ง 4  โซน จากการลงพื้นที่จริง พร้อมถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชน อาทิ การกระจายอุปกรณ์แพทย์และยาอย่างทั่วถึง การส่งเสริมกิจกรรมสันทนาการเพื่อคนทุกวัย ตลอดจนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในด้านสุขภาพและการคมนาคม โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับประชาชน และการประเมินผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เกิดการปรับแผนการทำงานได้ทันท่วงทีและสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

.

โดยโครงการที่เริ่มดำเนินไปแล้ว อาทิ การปรับปรุงลานกีฬาชุมชน ซึ่งเปลี่ยนลานเก่าและพื้นที่ว่างในชุมชนให้เป็นลานกีฬาและพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมสร้างสรรค์ในย่านต่างๆ การขยายระบบ Telemedicine เพื่อใช้เทคโนโลยีทางไกลในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์เบื้องต้น อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เดินทางลำบากหรืออยู่ห่างไกลโรงพยาบาล ตู้ห่วงใย (Health Station) ที่ติดตั้งจุดบริการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานในชุมชนเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลหลักและให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ จุด Standby รถพยาบาลฉุกเฉินซึ่งช่วยให้การช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น โดยเพิ่มจุดสแตนบายตามจุดเสี่ยงและถนนสายสำคัญ รวมถึงการปรับปรุงทางเท้าและขุดลอกคูคลอง เพื่อแก้ปัญหาทางเท้าชำรุดและการระบายน้ำ รองรับฤดูฝน ลดความเสี่ยงน้ำท่วมขังและอุบัติเหตุในพื้นที่

.

นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ สะท้อนปัญหาซึ่งได้รับฟังจาก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่ได้รับฟังมาจากคนกรุงเทพฯ ปัญหาอันดับหนึ่งที่หลายพื้นที่มีความกังวลใจเหมือนกันคือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งเรื่องการฉกชิงวิ่งราว ปัญหายาเสพติด หรือปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่ต้องคิดก็คือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่ปลอดภัย โดยอาจจะต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV มีระบบ ai ที่ทันสมัย

.

รองลงมาเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคุณภาพชีวิต ซึ่งสิ่งที่คนกรุงเทพทุกคนประสบคือ ปัญหาฝุ่นพิษ pm2.5 นอกจากนี้ยังปัญหาในด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ คือการใช้สิทธิในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งในบางจุดยังพบปัญหาประชาชนรอคิวนาน เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ สก. ต้องร่วมกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหากับกระทรวงสาธารณสุข

.

สุดท้ายสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ กรุงเทพเป็นเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็ต้องการพื้นที่ในการพักผ่อนหย่อนใจ แต่กลับพบว่าปัญหาคือ พื้นที่สาธารณะยังอยู่อย่างจำกัด ความต้องการของคนกรุงเทพวันนี้คือ การมีพื้นที่สาธารณะที่มากขึ้น ทั้งพื้นที่สวนสาธารณะที่จะทำหน้าที่เป็นปอดให้กับกรุงเทพ และพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆที่จะทำให้คนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ขณะนี้เรามีพื้นที่รกร้างของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ สิ่งนี้ก็ควรมีการประสานงานพูดคุยกันเพื่อจัดสรรเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และทำให้คนกรุงเทพจับต้องได้จริง

.

“อยากเพิ่มลานกิจกรรมให้มากขึ้น พร้อมกับการจัดกิจกรรม เช่น ตลาดวัฒนธรรม ถนนคนเดินใต้ทางด่วน โชว์ผลงานของศิลปินแห่งชาติ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตชีวามากขึ้น หรืออาจจะเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้ประชาชนมากขึ้น” พลภูมิกล่าว

ด้าน พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งรับฟังเสียงสะท้อนจาก สก. ในเขตฝั่งธนบุรี พบว่าปัญหาพี่น้องประชาชนของกรุงเทพประสบพบเจอมากที่สุดคือ ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะถนนพระรามที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และถนนสุขสวัสดิ์ ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ทั้งนี้มีความมั่นใจว่า โครงการบนถนนพระรามที่ 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จให้ได้ภายในปีนี้

.

ปัญหาความหนาแน่นบนท้องถนน ก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นให้บริการในช่วงเดือนกันยายน รวมถึงมีระบบฟีดเดอร์รถโดยสาร 10 บาท ตลอดสาย ต่อมาปัญหาด้านเศรษฐกิจ พบว่าในพื้นที่มีโรงงานย้ายออกไป ทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก เรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องคุยกับรัฐบาลว่าจะมีการดำเนินมาตรการใดที่จะกระตุ้นการลงทุนหรือการเข้ามาก่อตั้งโรงงานในเขตพื้นที่ฝั่งธนเพื่อจะทำให้พื้นดังกล่าวกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

.

“ได้มีการอัพเกรดศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลขนาดย่อมเป็นบางเขตแล้ว แต่ถ้ามี Telemedicine (ระบบแพทย์ทางไกล) ด้วย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งไม่ต้องเสียรายได้จากการหยุดงานในวันนั้น” นายพงศ์กวินกล่าว

.

ด้าน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กล่าวว่า มีการระดมความคิดเห็น ปัญหาต่างๆ พบว่ามีปัญหาน้ำท่วมที่เป็นพื้นที่รับน้ำในฝั่งกรุงเทพตะวันออก ส่วนความปลอดภัยในการอยู่อาศัย นำกล้องวงจรปิด AI มาติดตั้งเพิ่ม ต่อมาการเพิ่มรถฟีดเดอร์ เพื่อป้อนเข้าสู่รถไฟฟ้าเส้นเลือดหลัก

.

อีกทั้งกรุงเทพฯ ตะวันออกมีคลอจำนวนมาก จึงอยากให้มีการเดินเรือในคลอง เช่นคลองประเวศ ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมดูวิถีชีวิตริมคลอง

.

“สิ่งใดที่ กทม.ยังติดขัดอุปสรรคต่างๆ รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ เช่น การนำที่ดินราชพัสดุของส่วนราชการต่างๆ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ”  ธีรรัตน์กล่าว

.

ด้าน นายดนุพร ปุณณกันต์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมในการเลือกตั้งปีหน้า สำหรับตัวเมืองชั้นใน เป็นแหล่งศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งพบปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะแก้ปัญหาได้ และจะช่วยลดต้นทุนในการเดินทางของพี่น้องประชาชน และตอบโจทย์กับการเป็นระบบขนส่งมวลชน 

.

“สก.ของพรรคพร้อมลงพื้นที่ถามความต้องการของคนกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมการทำนโยบายไว้หาเสียงเลือกตั้งในสมัยหน้า โดยพวกเราทั้ง 4 คน จะนำมาประมวลเป็นนโยบายขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ต่อไป”  โฆษกพรรคกล่าว

.

#พรรคเพื่อไทย #ปรับกรุงปรุงใหม่ #กทม