ก่อแก้ว พิกุลทอง : 15 ปีสลายแดง ภารกิจทวงคืนความยุติธรรมยังเดินต่อ

เปิดใจก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 1 ในแกนนำคนเสื้อแดงในสภาฯ ย้อนเวลาทบทวนความทรงจำ 3 ข้อเรียกร้องของมวลชนยังไม่บรรลุผล ตกผลึกแนวทางการต่อสู้ที่มีโอกาสเป็นไปได้จริง  ยืนยันเดินหน้าแก้กฎหมาย ป.ป.ช. เปิดโอกาสนำผู้สั่งการสังหารโหดขึ้นสู่ศาล

ย้อนมองกลับไปในความทรงจำ 15 ปีผ่านไปมา ภาพที่เด่นชัดออกมาจากความคิดของ ก่อแก้ว พิกุลทอง อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ในวันที่สวมบทบาทเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ยังคงเป็นภาพเดิม คือ การมองเห็นความโหดร้ายของสังคมไทย ความเจ็บปวดจากความสูญเสีย ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมในกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน และบาดพันหลักพันคน

“มีคนตายกลางเมืองเกือบร้อยคน แต่ไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ เป็นความโหดร้ายที่ไม่น่าเชื่อว่ายุคนี้ยังมีเกิดขึ้น”

ก่อแก้ว ชวนคุยต่อไปถึงเรื่องการดำเนินคดีต่างๆ จากเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องตลกร้ายคือ บรรดาคดีความที่ฝ่ายแกนนำ และมวลชนคนเสื้อแดงเป็นผู้ถูกดำเนินคดีกลับเดินไปด้วยความรวดเร็ว หลายคนติดคุกตารางจนพ้นโทษ และคดีความส่วนใหญ่สิ้นสุดแล้ว แต่ในด้านกลับกันคดีความที่ฝ่ายแกนนำ และญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ พยายามนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเพื่อนำตัวผู้สั่งการสลายการชุมนุมมารับโทษ กลับถูกแช่แข็งหลังการรัฐประหารปี 2557 แและถูกตัดตอนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

แม้ที่ผ่านมาจะมีการจ่ายเงินเยียวยากรณีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีความผิดไปแล้ว โดยผ่านมติ ครม. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่นั้นก็ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการทดแทนชีวิตที่สูญเสียได้ 

เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมากระบวนการในทางคดี ความพยายามเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้สั่งการสลายการชุมนุมในปี 53 นั้น เผชิญหน้ากับแรงต้าน และการใช้เทคนิคทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือสกัดกั้นไม่ให้เรื่องราวเข้าสู่ชั้นพิจารณาคดีของศาลได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการเอาคดีนี้ขึ้นสู่ศาล แต่สุดท้ายศาลตัดสินว่าคดีนี้ต้องผ่านการพิจารณาของ ป.ป.ช. ซึ่งกฎหมายระบุว่า การพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดกรณีการทุจริต หรือประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหาย ต้องไปไต่สวนโดย ป.ป.ช. และให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิด และฟ้องต่อศาลอีกทีหนึ่ง 

ก่อแก้ว อธิบายต่อว่า โดยทั่วไปคดีที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าคดีไหน เขาจะถูกไต่สวนความผิดต่อหน้าที่ คือ มาตรา 157 ประกอบกับความผิดที่เกิดขึ้น โดยในกรณีนี้ ป.ป.ช. ได้ทำการไต่สวนความผิดต่อหน้าที่ ประกอบกับความผิดที่ทำให้เกิดความตาย หรือบาดเจ็บ พ่วงกันมา ซึ่งในเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้น ทางรัฐบาลมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

เมื่อเรื่องเดินไปถึง ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณาว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้สั่งการนั้นไม่มีความผิด เพราะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้รับการคุ้มครอง ฉะนั้นคดีความผิดต่อหน้าที่จึงถูกตีตกโดย ป.ป.ช. และความผิดอื่นๆ ที่พ่วงเข้ามาด้วยจึงตกไปทั้งหมด

ต่อมา 2-3 ปี หลังจากนั้นมีการยื่นอุทธรณ์คดีอีกครั้ง แต่ ป.ป.ช. ก็พิจารณายืนตามคำวินิจฉัยเดิม จึงทำให้ญาติผู้เสียชีวิตขาดโอกาสที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล ทั้งที่หลายกรณีตอนไต่สวนสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิต ศาลอาญาก็ได้ชี้แล้วว่าเคสใดบ้างที่เสียชีวิตจากการยิงของทหาร กระทั่งในบางเคสสามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ 

ก่อแก้วย้ำว่า สิ่งนี้ เป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่ในใจคนเสื้อแดงมาโดยตลอด 

“ก่อนที่ผมจะเป็น สส. ทางพรรคเพื่อไทยเองก็พยายามหาทางแก้ปัญหานี้อยู่ แต่ในการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล นั้นเกิดประเด็นความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย จึงได้มีการถอดร่างออกมาแก้ไขก่อน และเมื่อผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็น สส. ก็ได้มีโอกาสเสนอร่างแก้ไขเข้าไปใหม่ โดยเป็นการเปิดให้ ญาติผู้เสียหาย ญาติผู้สูญเสีย สามารถฟ้องร้องเองต่อศาลอาญาได้ แม้คดีนี้จะถูก ป.ป.ช. ตีตกไปแล้ว

นี่คือการเปิดโอกาสให้ญาติผู้สูญเสีย ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล และผู้สั่งการก็ต้องไปพิสูจน์ตัวเองว่า ที่สั่งการมานั้นมันถูกต้องหรือไม่ หรือต้องรับผิดชอบอย่างไร และคาดว่าเมื่อมีการเปิดประชุมสมัยหน้า พรรคเพื่อไทยจะรีบผลักดันเรื่องนี้เพื่อให้สู่การพิจารณาของสภาฯ”

ก่อแก้ว เชื่อว่า หากศาลตัดสินว่าผิด คนออกคำสั่งก็ต้องติดคุก และต้องชดใช้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ใช่ลอยนอลเหมือนในอดีต ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2554 ได้มีความพยายามนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยขอให้มีการไต่สวนสาเหตุการตาย ได้สาเหตุการตายมาประมาณ 10 คดีที่มีการชี้ชัดเจนว่า ความตายนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่มีส่วนหนึ่งที่ศาลไม่สามารถชี้ได้ว่าใครทำให้เสียชีวิต และอีกหลายสิบกรณีที่รอนำเข้าสู่การไต่สวนของศาล แต่เมื่อปี 2557 ก็มีการยึดอำนาจเกิดขึ้น กระบวนการนี้จึงถูกแช่แข็งไว้ บางคดีถูกชี้ว่าไม่สามารถชี้สาเหตุการตาย หรือเรียกง่ายๆ ว่า ถูกตัดตอนออกไป ซึ่งเรื่องนี้ทราบว่ามีความพยายามรวบรวมคดีต่างๆ ที่ถูกแช่แข็ง และกระจัดกระจายออกไปให้กลับมาอยู่ในที่เดียวกันแล้ว และเชื่อว่าหากร่างแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ก็จะสามารถเริ่มต้นกระบวนการใหม่ได้อีกครั้ง 

-ความเป็นแดง ข้อเรียกร้องที่ยังไม่บรรลุผล และการตกผลึกแนวทางการต่อสู้-

ก่อแก้ว กล่าวต่อไปถึง ขบวนการของคนเสื้อแดงว่า เกิดขึ้นมาจากความต้องการปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยข้อเรียกร้องใหญ่คือ ความต้องการเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแบบสากล และต้องการเห็นความยุติธรรมมาตรฐานเดียว ซึ่งเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ความต้องการนี้ยังไม่บรรลุผล แต่ใช่ว่าเรื่องทั้งหมดจะหยุดเดิน และสูญเปล่าไปกับกาลเวลา 

เขาชี้ว่าในช่วง 15 ปีที่่ผ่านมา ต้องแบ่งมุมมองเป็นสองส่วนคือ มุมมองต่อขบวนการเสื้อแดง กับมุมมองต่อพรรคเพื่อไทย ในส่วนของเสื้อแดง ซึ่งมีการบ่มเพาะจากการต่อสู้ในวันนั้น เชื่อว่า ทุกคนยังมีจิตวิญญาณการต่อสู้ที่เต็มเปี่ยม ยังมีความปรารถนาแรงกล้า ยังมีความต้องการต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เขาเคยต่อสู้มา แต่พละกำลังวันนี้ถดถอยด้วยวัย ด้วยกำลังทรัพย์ คนที่เรียกร้องในวันนั้น ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงวัยที่เรียกว่าอายุมากแล้ว 40 กว่าปีขึ้นไป สุขภาพถดถอยลง กำลังทรัพย์เองก็น้อยลง เพราะเศรษฐกิจเองถดถอยมาหลายปี และโตช้ากว่าที่มันควรจะเป็น รายได้ลดลง หนี้สินเยอะขึ้น ทำให้การทุ่มเทในการต่อสู้ไม่เข้มข้นเท่าในอดีต แต่จุดยืน จิตวิญญาณยังเต็มเปี่ยม

“​ส่วนของพรรคเพื่อไทยก็เรียนรู้ และปรับตัว เพื่อจะทำให้เรามาเป็นแกนนำรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศได้ โดยที่เราสามารถบรรลุเป้าหมายของพรรคได้ บรรลุเป้าหมายเพื่อสังคม และประเทศนี้ได้ สิ่งที่เพื่อไทยเดินอยู่ทุกวันนี้บางอย่างเราก็เจ็บปวด บางอย่างมันก็ไม่ได้อย่างที่เราวาดหวังต้องการ บางอย่างก็มีอุปสรรค แต่อย่างน้อยมีความเป็นจริงมากกว่า มากกว่าที่จะเดินแบบเมื่อก่อนที่เรากล้าที่จะเสนออะไรแหลมๆ และต่อสู้กับมัน วันนี้เราได้รับบทเรียนมาเยอะ เราก็ต้องปรับ เพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บปวดสูญเสียอีก เพื่อให้เกิดโอกาสที่จะทำเรื่องต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น”

เขายกตัวอย่างถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราก็พยายามเดินในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น และได้รับการยอมรับจากคนทั้งประเทศ แต่ถึงเราจะพยายามอย่างเต็มที่มันก็มีปัญหา และอุปสรรคจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่อาจจะมีแนวทางไม่ตรงกับเรา แต่การที่เราเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็มีโอกาสที่พอจะทำให้เราขอความร่วมมือ เจรจา เพื่อที่จะทำให้เรื่องนี้มันมีความก้าวหน้ามากขึ้น ถึงมันจะไม่ได้รวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่อย่างน้อยมันยังเดิน มันยังมีโอกาส มีความเป็นได้ ไม่ใช่เป็นการเดินหน้าแบบตรงๆ แต่สุดท้ายแล้วทำได้เพียงแค่พูด และญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตกไป

#พรรคเพื่อไทย #คนเสื้อแดง